นายกฯ เสนอตั้งสภาปฏิรูปประเทศ ผ่าทางตันวิกฤติการเมือง
logo ข่าวอัพเดท

นายกฯ เสนอตั้งสภาปฏิรูปประเทศ ผ่าทางตันวิกฤติการเมือง

2,908 ครั้ง
|
25 ธ.ค. 2556
นายกรัฐมนตรี แถลง เสนอตั้งสภาปฏิรูปประเทศ  ตั้งกรรมการ 11 คน ศึกษาหาทางออกทุกด้านควบคู่การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57
 
หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ นายกฯ ได้แถลงการณ์เสนอตั้งสภาปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะเป็นสภาที่ให้ความเห็นและแนวทางปฏิรูปประเทศแก่รัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาหลังเลือกตั้ง โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงเรื่อง สภาปฏิรูปประเทศ ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ โดยมีเนื้อหาว่า จากที่มีหลายเวทีเสนอให้จัดตั้งองค์กรที่จะมาดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วสามารถทำคู่ขนานไปกับกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงขอเสนอรูปแบบองค์กรที่จะจัดตั้ง เรียกว่า "สภาปฏิรูปประเทศ" ยืนยันว่าจะไม่ใช่เวทีของรัฐบาล แต่รัฐเป็นเพียงผู้จัดตั้ง โดยใช้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้รับทราบเพื่อให้เรื่องนี้สามารถเดินหน้าได้ทันที 
 
สภาปฏิรูปจะเริ่มจากการสรรหาตัวแทนประชาชนจากสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 2,000 คน แล้วจึงให้ตัวแทนอาชีพจำนวน 2,000 คนดังกล่าว เลือกผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศจำนวน 499 คน ซึ่งคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสมัคร การสรรหา การคัดเลือก และการแต่งตั้งตัวแทนวิชาชีพ ตลอดจนการเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศในขั้นตอนต่างๆ จะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบดังนี้
 
1. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้แทนซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ
 
2. หัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าซึ่งที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงเลือกจำนวน 2 คน เป็นกรรมการ
 
3. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ
 
4. อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกจำนวน 1 คน เป็นกรรมการ
 
5. ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
 
6. ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
 
7. ประธานสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
 
8. ประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน ซึ่งกรรมการที่กล่าวถึงเบื้องต้นเป็นผู้เสนอชื่อคณะกรรมการชุดนี้จะมีกรรมการรวมทั้งสิ้น 11 คน 
 
สำหรับหน้าที่ของสภาปฏิรูปประเทศ คือ
 
1.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งอาจรวมถึงการจัดเตรียมร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
 
2.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
 
3.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารภาครัฐ
 
4.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการจัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือการยกเลิกกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งต่าง ๆ เพื่อให้การเลือกตั้งในทุกระดับ การสรรหา และแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ การใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม
 
5.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงการราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจำเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้มีประสิทธิภาพ.
 
6.ศึกษาและจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงการกระจายอำนาจ การสร้างความรู้ความเข้าใจกฎหมาย การเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนและท้องถิ่น โครงสร้างการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในทุกระดับ การปรับปรุงระบบและวิธีการงบประมาณ และการบริหารงานบุคคลภาครัฐ 
 
ทั้งนี้ เมื่อสภาปฏิรูปประเทศได้ดำเนินการในข้อใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี และให้สภาปฏิรูปประเทศเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพื่อที่จะได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการตามเจตนารมณ์ต่อไป โดยกรอบเวลาการดำเนินการขึ้นอยู่กับสภาปฏิรูปประเทศเป็นผู้กำหนดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และจะมีการกำหนดไว้ด้วยว่าเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้ง ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้การปฏิบัติงานตามคำสั่งนี้ดำเนินต่อไปอย่างสืบเนื่องตามเจตนารมณ์และแนวทางที่ทุกฝ่ายให้ความเห็นชอบแล้ว ทั้งหมดเป็นรูปแบบที่เสนอเพื่อให้ได้มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงหารือ จากทุกฝ่าย ซึ่งรัฐบาลจะได้รวบรวมนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงแก้ไขและออกเป็นคำสั่งก่อนสิ้นปีนี้
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง