นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่นิ่งนอนใจ เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม ระบุ จำเป็นทยอยปล่อยน้ำ แต่จะให้เดือดร้อนประชาชนน้อยที่สุด ห่วงประชาชนประกอบอาชีพช่วงน้ำท่วม พร้อมขอทุกคนอย่าประมาท
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้เตรียมแผนรับมือตั้งแต่ปีที่ผ่านมาซึ่งได้มีการเปรียบเทียบกับข้อมูลน้ำท่วมปี 2554 และทำแผนบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ปี 2557,2558 และ 2559 มาโดยตลอด จากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและมีฝนตกมากและยาวนานในหลายพื้นที่ รวมถึงน้ำในเขื่อนหลักหลายแห่งที่มีอยู่เกือบเต็มทั้งหมด แต่จะไม่กระทบกับปัญหาภัยแล้งครั้งหน้า ขณะที่การบริหารจัดการน้ำนั้น ขึ้นอยู่กับการกักเก็บน้ำ การทำแก้มลิง เช่นใน 12 พื้นที่ภาคกลางที่เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้ทันกับฤดูน้ำหลากและกลายเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ ซึ่งขณะนี้ยังเหลือพื้นที่บางส่วนที่สามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนหนึ่ง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอาจมีท่วมบ้างในบางพื้นที่ เพราะมีความจำเป็นต้องทยอยปล่อยน้ำ แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งเกษตรกร ที่อยู่อาศัย รวมถึงการประกอบการใดๆ โดยจะเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันส่วนตัวยังแนะนำในส่วนของประกันภัยพิบัติ ประกันนาข้าวเพื่อให้ประชาชนได้รับเงินเพิ่มเมื่อได้รับความเสียหายจากปัญหาดังกล่าว ส่วนการระบายน้ำนั้น ส่วนตัวได้สั่งให้มีการเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าว แม้จะไม่สามารถระบายน้ำได้มากนัก เพราะมีน้ำสะสมเป็นจำนวนมาก แต่ยืนยันว่าปริมาณน้ำที่สะสมอยู่ขณะนี้ยังน้อยกว่าปี 2554
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า วันนี้อยากให้ทุกคนติดตามข่าวสารเพราะได้สั่งให้มีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีคนไม่พอใจบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่อยากให้สื่อช่วยกันเฝ้าระวังด้วย ขณะเดียวกันส่วนตัวเป็นห่วงประชาชนที่ประกอบอาชีพในช่วงน้ำท่วมเพราะได้รับรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตและขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวดังกล่าว จึงขอทุกคนอย่าประมาท
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คสช. ยังจัดตั้งสำนักการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อบริหารแผนงานทั้งระบบ โดยหน่วยงานปฏิบัติก็มีส่วนรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น กรมชลประทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับมีข้อมูลสารสนเทศจากหลายหน่วยงาน ซึ่งสำนักการบริหารจัดการน้ำต้องบูรณาการงานทั้งหมด และสร้างการรับรู้ รวมถึงควบคุมกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณภาพรวม นอกเหนือจากงานฟังค์ชั่นที่แต่ละหน่วยงานทำอยู่แล้ว
+ อ่านเพิ่มเติม