“แคดเมียม” พิษร้ายใกล้ตัว อันตรายถึงชีวิต
logo ข่าวอัพเดท

“แคดเมียม” พิษร้ายใกล้ตัว อันตรายถึงชีวิต

ข่าวอัพเดท : แคดเมียม (Cadmium: Cd) คือแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกนำมาใช้ในประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ การฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะเพื่อความเงา แคดเมียม,ผลกระทบจากแคดเมียม,อันตรายจากแคดเมียม

22,193 ครั้ง
|
22 เม.ย. 2567

แคดเมียม (Cadmium: Cd) คือแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกนำมาใช้ในประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ การฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะเพื่อความเงางาม การผลิตแบตเตอรี่อัลคาไลน์ นอกจากนี้ยังพบปะปนอยู่กับแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แร่ตะกั่ว แร่ทองแดง ในปัจจุบันพบว่ามีการปนเปื้อนของแคดเมียมในสิ่งแวดล้อมและอาหารด้วย เช่น กากแคดเมียมในสีที่ผสมใช้กับอาคารบ้านเรือน การปนเปื้อนของแคดเมียมในผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง เป็นต้น

แคดเมียมสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 วิธี ได้แก่ การหายใจ การรับประทาน และการสัมผัสทางผิวหนัง เมื่อร่างกายได้รับแคดเมียมแล้วจะถูกลำเลียงไปในกระแสเลือดพร้อมกับเม็ดเลือดแดงและอัลบูมินที่ตับ แคดเมียมจะจับกับเมทัลโลไธโอนีนและถูกส่งต่อไปยังไต โดยแคดเมียมสามารถขับออกจากร่างกายผ่านทางไตได้เพียง 10% เท่านั้นเมื่อเทียบกับอัตราการดูดซึม และสามารถขับออกทางผม ผิวหนังและน้ำนมได้ แต่อยู่ในระดับที่น้อยมาก แคดเมียมที่เหลือจึงถูกสะสมอยู่ที่ตับและไต ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมา

เมื่อได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลให้เกิดพิษใน 2 ลักษณะ คือ

1. พิษเฉียบพลัน เกิดจากการได้รับแคดเมียมผ่านการหายใจเอาไอระเหยเข้าไป ส่งผลให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ หายใจลำบาก และเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง บางครั้งอาจรุนแรงถึงขึ้นเกิดภาวะหายใจลำบากหรือภาวะหายใจล้มเหลวได้ จนไปถึงเสียชีวิตได้

2. พิษเรื้อรัง เกิดจากการได้รับแคดเมียมสะสมเป็นเวลานาน หากแคดเมียมเข้าไปสะสมในไต ไตจะสูญ เสียการทำงาน และเกิดไตวายเรื้อรัง แต่หากแคดเมียมเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูกจะทำให้กระดูกพรุน มีอาการปวดกระดูก กระดูกเปราะผิดรูป แตกหักง่าย หรือที่เรียกกันว่า “โรคอิไต - อิไต”

นอกจากนี้แคดเมียมยังเป็นสารก่อมะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก รวมทั้งยังมีส่วนที่ทำให้อาการโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย

แคดเมียมมีปนเปื้อนอยู่ในชีวิตประจำวันและอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด โดยทั่วไปแล้วเราสามารถพบเจอแคดเมียมได้จากการปนเปื้อนในอาหารหรือภาชนะ ซึ่งบางครั้งอาจได้รับเข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้นเพื่อป้องกันการได้รับแคดเมียมเบื้องต้น จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของแคดเมียม รวมทั้งเฝ้าระวังและสังเกตุอาการอันเป็นพิษที่เกิดจากการได้รับสารแคดเมียม นอกจากนี้หากจำเป็นต้องอยู่ในบริเวณที่มีแคดเมียมในอากาศหรือต้องสัมผัสแคดเมียม ควรสวมหน้ากากป้องกันสารพิษหรือถุงมือ และทำความสะอาดร่างกายหลังจากสัมผัสทุกครั้ง

ที่มา : sikarin, Hfocus