คุณแม่มือใหม่ เตรียมความพร้อมอย่างไรก่อนคลอด
logo ข่าวอัพเดท

คุณแม่มือใหม่ เตรียมความพร้อมอย่างไรก่อนคลอด

ข่าวอัพเดท : คุณแม่มือใหม่ที่กำลังวางแผนเตรียมความพร้อมก่อนคลอดลูกน้อยต้องสังเกตครรภ์ของตัวเอง เมื่อเข้าใกล้ระยะคลอด นั่นคือ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป การเตรียมความพร้อมก่อนคลอด,เจ็บท้องคลอด,เจ็บท้องเตือน,เก็บกระเป๋าเตรียมตัวไปคลอด,คลอดลูก

537 ครั้ง
|
11 ต.ค. 2566
คุณแม่มือใหม่ที่กำลังวางแผนเตรียมความพร้อมก่อนคลอดลูกน้อยต้องสังเกตครรภ์ของตัวเอง เมื่อเข้าใกล้ระยะคลอด นั่นคือ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป คุณแม่จะรู้สึกว่าท้องลดต่ำลง เนื่องจากศีรษะเด็กจะเคลื่อนต่ำลงสู่ช่องเชิงกราน คุณแม่จะรู้สึกว่าหายใจคล่องขึ้น รับประทานอาหารไม่ค่อยแน่นท้อง แต่ขณะเดียวกันจะรู้สึกปวดถ่วงในอุ้งเชิงกราน ท้องเกร็งแข็งบ่อยขึ้น ๆ ปัสสาวะบ่อย เท้าจะบวม ลุกนั่งลำบาก เป็นตะคริวที่ขาบ่อยขึ้น เนื่องจากศีรษะเด็กและมดลูกกดทับเส้นเลือดดำ และเส้นประสาทในอุ้งเชิงกรานมาก การเตรียมพร้อมก่อนการคลอดจึงเป็นเรื่องสำคัญ
 
การดูแลตัวเองของคุณแม่ก่อนคลอด
ระยะใกล้คลอดนี้คุณแม่จะมีความกังวลใจมาก นอนไม่หลับ กังวลเรื่องการคลอดบุตร ซึ่งก็ควรจะทำใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่ซึมเศร้า เพราะส่วนใหญ่แล้วการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรจะเป็นไปตามขบวนการตามธรรมชาติ การคลอดส่วนใหญ่จะเป็นไปโดยปกติ คุณแม่ที่ฝากครรภ์อย่างดี กินยา และปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ มีการเตรียมพร้อมอย่างดี ส่วนใหญ่แล้วจะผ่านการคลอดได้อย่างเป็นปกติดี
 
ในระยะใกล้คลอดนี้ คุณแม่ที่ต้องทำงานหนัก ต้องเดินทางไกล ควรจะหยุดพักผ่อนเพื่อรอคลอด ควรเดินออกกำลังกายเช้าและเย็น นอนหลับพักผ่อนช่วงกลางวันบ้าง ควรงดเพศสัมพันธ์ คอยสังเกตอาการตนเองและการดิ้นของเด็กในครรภ์ ซึ่งควรจะดิ้นไม่น้อยกว่า 12 ครั้ง / วัน เด็กอาจจะหลับเป็นพัก ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะดิ้นในเวลากลางคืน
 
อาการที่ต้องไปโรงพยาบาล
• เจ็บครรภ์
• มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
• มีเลือดสด ๆ ออกจากช่องคลอด ต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน
• ปวดท้องอย่างรุนแรง
• มีน้ำใส ๆ ออกจากช่องคลอดที่ไม่ใช่น้ำปัสสาวะ อาจจะออกมามากครั้งเดียว หรือออกน้อย ๆ เป็นระยะ ๆ
• รู้สึกเด็กไม่ดิ้น
• อาการผิดปกติอื่น ๆ ที่คุณแม่ไม่แน่ใจควรโทรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลในห้องคลอดได้ตลอดเวลา
 
การเจ็บครรภ์ก่อนคลอด
เจ็บครรภ์คลอดการเจ็บครรภ์คลอดจะต้องแยกระหว่างเจ็บเตือนกับเจ็บจริง ได้แก่
• เจ็บครรภ์เตือน จะเริ่มตั้งแต่ช่วงหลังเดือนที่ 6 เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อหัดตัวเอง โดยจะหดรัดตัวห่าง ๆ คุณแม่อาจจะรู้สึกเจ็บจี๊ด ๆ หรือไม่รู้สึกเจ็บขณะที่มีการแข็งตัวของมดลูก เจ็บเตือนจะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเข้าใกล้อายุครรภ์ครบกำหนดคลอด การเจ็บหลอกนี้จะไม่สม่ำเสมอ เจ็บมากบ้างน้อยบ้าง  เมื่อนอนพักสังเกตอาการแล้วอาการเจ็บหายไปจะไม่มีมูกเลือดหรือน้ำเดินร่วมด้วย
• เจ็บครรภ์จริง มักจะร่วมกับมีมูกเลือดออกจากช่องคลอด จะเจ็บท้องร่วมกับท้องแข็งตึง เจ็บสม่ำเสมอเริ่มจากทุกครึ่งชั่วโมง ต่อมาทุก 10 – 15 นาที จะเจ็บถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าสังเกตว่ามีอาการเจ็บท้องจริงควรรีบไปโรงพยาบาล
 
การเก็บกระเป๋าเตรียมตัวไปคลอด
• การจัดเตรียมสัมภาระล่วงหน้า สามารถเริ่มจัดได้ตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 8 หรือเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการคลอด  ทำให้สามารถพร้อมที่จะไปโรงพยาบาลได้ทันที
• ก่อนจัดกระเป๋าเพื่อเตรียมไปคลอด ควรตรวจสอบกับโรงพยาบาลล่วงหน้า เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งมีการจัดเตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับคุณแม่และลูกน้อย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้คุณพ่อและผู้มาเยี่ยม
นอกจากความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยในการคลอดแล้ว คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ยังเป็นห่วงเรื่องการเตรียมข้าวของครื่องใช้ในระหว่างพักฟื้นในโรงพยาบาล เพื่อเป็นการตัดปัญหาให้เหลือน้อยที่สุด การจัดเตรียมสัมภาระล่วงหน้าจึงเป็นทางออกที่ดี โดยเริ่มจัดได้ตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 8 หรือเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการคลอด  เมื่อถึงกำหนดคลอดหรือมีอาการเจ็บท้องสามารถพร้อมไปโรงพยาบาลได้ทันที
 
กระเป๋าทารก
กระเป๋าน้อยใบแรก อัดแน่นไปด้วยความตื่นเต้น อ่อนโยน และห่วงใย
• เสื้อผ้าเด็กอ่อน ควรเลือกเนื้อผ้าที่ไม่ระคายผิว ใช้เชือกผูกหรือกระดุมที่ง่ายต่อการสวมใส่ ปราศจากเหลี่ยมคมที่จะบาดผิวรวมถึงควรเตรียมหมวก ถุงมือ ถุงเท้าเพื่อให้ความอบอุ่นและป้องกันเล็บข่วนหน้าตัวเอง โดยซักให้เรียบร้อยด้วยน้ำยาซักผ้าเฉพาะของเด็กอ่อน และมีจำนวนเพียงพอสำหรับใช้ในโรงพยาบาล
• ผ้าอ้อม เพื่อใช้ทำความสะอาดทารก หรือใช้รองอุ้มเพื่อป้องกันผิวทารกน้อยสัมผัสกับตัวผู้ใหญ่โดยตรง ควรเลือกผ้าที่มีความอ่อนนุ่ม และมีสีอ่อน ๆ ให้มองเห็นสิ่งแปลกปลอมที่อาจติดมากับผ้าได้ง่าย
• ผ้าอ้อมสำเร็จรูป  ควรเลือกเป็นแบบเทป เพื่อความกระชับและสะดวกในการสวมใส่  สามารถขยับให้พอดีกับทารก
• ผ้าห่มหรือผ้าห่อตัว ผ้าเนื้อนุ่มที่ค่อนข้างหนา ช่วยให้ลูกน้อยอุ่นสบายและรู้สึกมั่นคงเมื่อถูกอุ้ม และใช้ห่อตัวลูกน้อยกลับบ้าน
• ทิชชู่เปียกและสำลี นอกจากเช็ดทำความสะอาดก้นทารกน้อยแล้ว คุณแม่ยังสามารถใช้ทำความสะอาดเต้านม  ควรเลือกชนิดที่ปราศจากน้ำหอมหรือสารที่อาจทำอันตรายต่อผิวที่บอบบางของทารก
• วาสลีน สำหรับทาบางๆ บริเวณก้นก่อนใส่ผ้าอ้อม เพื่อป้องกันผดผื่น
• แชมพูอาบน้ำ สระผม และฟองน้ำธรรมชาติ สำหรับอาบน้ำทารกแรกเกิด อย่าลืมผ้าเช็ดตัวเนื้อนิ่ม สำหรับเช็ดตัวทารกหลังอาบน้ำ
• สมุดบันทึกลูกน้อย เพื่อจดบันทึกความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการต่างๆ ของลูกน้อย
 
กระเป๋าคุณแม่
กระเป๋าใบที่สอง เต็มเปี่ยมด้วยความรักและสุขภาพดี
• เสื้อผ้า เลือกชุดที่ใส่สบายและสวมง่าย และสามารถให้นมลูกได้ง่าย
• บราให้นม เพื่อความสะดวกในการให้นมลูกได้ตลอดเวลา
• แผ่นซับน้ำนม ป้องกันคราบน้ำนมที่อาจไหลซึมเปื้อนเสื้อ รวมถึงช่วยให้คุณแม่สบายตัว
• กางเกงชั้นใน ไม่ควรให้รัดแน่นจนเกินไป  เพื่อคุณแม่รู้สึกสบายที่สุด
• ผ้ารัดหน้าท้อง ช่วยกระชับเอวและพยุงสรีระให้คุณแม่เคลื่อนไหวได้สะดวกสบายขึ้น
• แผ่นอนามัย หลังคลอดคุณแม่จะมีน้ำคาวปลาออกมาคล้ายประจำเดือน   ซึ่งทางโรงพยาบาลอาจจัดเตรียมไว้ให้  แต่ก็ควรเตรียมแบบใช้เป็นประจำไปด้วย เพื่อความมั่นใจส่วนตัว
• เครื่องสำอาง สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคุณแม่ยังสาว  เตรียมเครื่องสำอางเล็กๆ ติดกระเป๋าไว้เติมให้หน้าสดใส เพื่อต้อนรับแขกที่มาเยี่ยม และเตรียมตัวกลับบ้านแบบสวยๆ
• ของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน แปรงสีฟัน โฟมล้างหน้า หวี ครีมบำรุงผิว  และลืมไม่ได้สำหรับคุณแม่ที่สายตามีปัญหา คือ แว่นสายตา เนื่องจากการใส่คอนแทคเลนส์อาจไม่สะดวก
• โทรศัพท์มือถือ ใช้แก้เหงา ถ่ายรูปลูกน้อย ควรพกเบอร์โทรฉุกเฉิน เช่น เบอร์คุณหมอฝากครรภ์ เบอร์โรงพยาบาล หรือเบอร์ญาติใกล้ชิด
• เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารหรือสมุดฝากครรภ์  ใบนัดแพทย์ บันทึกการตั้งครรภ์ เอกสารประกันสุขภาพ  รวมถึงชื่อลูกน้อย เพื่อใช้สำหรับแจ้งเกิด
• ชุดสวมกลับบ้าน อย่าลืมจัดเสื้อผ้าสำหรับการเดินทางกลับบ้านไว้ด้วย อาจเป็นชุดที่เคยใส่ขณะตั้งครรภ์ เพราะหลังคลอดแล้วคุณแม่ยังไม่สามารถลดน้ำหนักตัวลงได้ทันที
• รองเท้า เลือกแบบส้นเตี้ยหรือรองเท้าแตะ สำหรับเดินในห้องและในโรงพยาบาล
กระเป๋าคุณพ่อ
กระเป๋าใบสุดท้าย บรรจุความหนักแน่นและกำลังใจ
• เสื้อผ้า ชุดนอน และกางเกงใน แน่นอนว่าคุณพ่อทุกคนคือคนเฝ้าไข้ของคุณแม่ จึงควรเตรียมตัวให้พร้อม มีเสื้อผ้าให้เพียงพอกับการต้องนอนในโรงพยาบาลหลายคืน
• ของใช้ส่วนตัว บางอย่างสามารถใช้ร่วมกับคุณแม่ได้ อย่าลืมแปรงสีฟัน และแว่นตาของตัวเองเด็ดขาด
• ผ้าปิดตา เนื่องจากคุณแม่ยังต้องอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาล อาจมีแพทย์และพยาบาลเข้าออกห้องเสมอๆ ผ้าปิดตาจะช่วยให้คุณพ่อได้หลับพักผ่อนมากขึ้น
• ถุงเท้า คุณพ่อควรเตรียมถุงเท้า ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น
• รองเท้าแตะ ช่วยป้องกันเชื้อโรคและรักษาความสะอาดของห้องพัก
• โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ กล้องถ่ายรูป นอกจากใช้ติดต่องาน หรือคุยกับญาติมิตรที่ห่วงใย คุณพ่อคือช่างภาพที่ดีที่สุดที่จะเก็บภาพประทับใจต่างๆ ของลูกน้อยและคุณแม่ รวมถึงภาพครอบครัวเก็บไว้
• เอกสารส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน และใบขับขี่
• เงินสด บัตรเครดิต เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ
• คาร์ซีท ที่นั่งที่อบอุ่นและปลอดภัย เพื่อรับลูกน้อยกลับบ้าน
 
ก่อนจัดกระเป๋าเพื่อเตรียมไปคลอด สามารถตรวจสอบกับโรงพยาบาลล่วงหน้า เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งมีการจัดเตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับคุณแม่และลูกน้อย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้คุณพ่อและผู้มาเยี่ยม
 
ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรเตรียมศึกษาเกณฑ์การลาคลอดและสิทธิ์ต่างๆ เพื่อเตรียมลางานล่วงหน้า หรือจัดการธุระให้เรียบร้อย และอย่าลืมพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจดูความพร้อมของร่างกาย ป้องกันอาการแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
 
ที่มา