ผอ.สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำยาง เผย หาก 2 ค่ายยางล้อรถยนต์ระดับโลก แบนยางพาราภาคอีสาน จะส่งผลกระทบต่อราคายางทันที เท่ากับซ้ำเติมเกษตรกรที่ราคาตกต่ำอยู่แล้ว พร้อมเผยมีแนวทางแก้ไข แต่การยางแห่งประเทศไทยจะต้องยื่นมือมาระดมเปลี่ยนการใช้กรดซัลฟิวริก มาเป็นกรด ฟอร์มิก ให้ภาพรวมทั้งอีสานดี ก็จะเป็นปกติ
วันที่ 31 ส.ค.59 นายดิษฐเดช วัฒนาพร ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำยางบุรีรัมย์ ได้ออกมาระบุหลัง มิชลิน บริสโตน 2 ค่ายยางล้อรถยนต์ระดับโลก แบนยางพาราในพื้นที่ภาคอีสานของไทย หลังพบมีการใส่ 'กรดซัลฟิวริก' ในน้ำยาง เพื่อช่วยให้ยางเซทตัวเร็ว ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพยางล้อเสื่อมสภาพเร็ว ตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น หากเป็นจริงจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางทันที เพราะจะทำให้ราคายางที่ตกต่ำอยู่แล้ว ถูกลงไปอีก ถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรชาวสวนยางที่มีการปลูกทั้งจังหวัดกว่า 270,000 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาราคายางถูกกว่าต้นทุนอยู่แล้ว
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำยางอีสานตอนล่าง ยังบอกด้วยว่า สาเหตุที่เกษตรกรใช้กรดซัลฟิวริก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ 2 บริษัทยางกล่าวอ้างนั้น เนื่องจากกรดชนิดนี้ราคาถูกกว่า 'กรดฟอร์มิก' ที่เป็นสารธรรมชาติซึ่งมีคุณภาพเหมือนกัน โดยเฉพาะ'กรดซัลฟิวริก' หาซื้อได้ง่ายกว่า ประกอบกับเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่ากรดตัวไหนส่งผลต่อคุณภาพยาง
แนวทางการแก้ไข การยางแห่งประเทศไทยจะต้องยื่นมือมาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ด้วยการให้เกษตรจับกลุ่มซื้อกรดฟอร์มิกแบบประมูล จะทำให้ราคาถูกกว่า 'กรดซัลฟิวริก' ที่ผ่านมาเกษตรกรที่จังหวัดบุรีรัมย์มีการประมูลซื้อ 'กรดฟอร์มิก' ได้ในราคา 170-180 บาทต่อแกลลอน (5 ลิตร) จากราคาปกติ 250-260 บาทต่อแกลลอน ขณะที่ 'กรดซัลฟิวริก' ราคาแกลลอนละ 220-240 บาท
ทั้งนี้การยางแห่งประเทศไทย จะต้องหาแนวทางทั้งการจับกลุ่ม หรือทุนสนับสนุนการประมูล เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้'กรดฟอร์มิก' ในการกรีดยางครอบคลุมทั้งภาคอีสาน จึงจะแก้ไขภาพโดยรวมได้
+ อ่านเพิ่มเติม