เตือนระวัง โรคไข้หวัดใหญ่ - มือเท้าปากในเด็กเล็กระบาดหนัก ! เสียชีวิตแล้ว 4 ราย
logo ข่าวอัพเดท

เตือนระวัง โรคไข้หวัดใหญ่ - มือเท้าปากในเด็กเล็กระบาดหนัก ! เสียชีวิตแล้ว 4 ราย

ข่าวอัพเดท : เตือนโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือเท้าปากในเด็กเล็กระบาดหนัก พบเสียชีวิตแล้ว 4 ราย แนะผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการบุตรหลาน หากมีอาการผิดปกติ ไข้หวัดใหญ่ระบาด,โรคมือเท้าปาก,เด็กป่วย

38,928 ครั้ง
|
30 พ.ค. 2567

เตือนโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือเท้าปากในเด็กเล็กระบาดหนัก พบเสียชีวิตแล้ว 4 ราย แนะผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการบุตรหลาน หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์

วันที่ 30 พ.ค. 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเปิดเทอมทุกโรงเรียนมีการเรียนการสอนและมีกิจกรรมร่วมกัน อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ได้ อีกทั้งช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ทั่วประเทศมีฝนตก ทำให้โรคมือเท้าปากแพร่ระบาดได้ง่ายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในโรงเรียนอนุบาล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

จากรายงานข้อมูลสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. – 4 พ.ค. 2567 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 13,862 ราย ผู้เสียชีวิต 4 ราย โดยสถานการณ์โรค 8 สัปดาห์ย้อนหลัง (สัปดาห์ที่ 10 – 17) มีผู้ป่วย 5,081 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้

1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 2,937 ราย

2) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 1,005 ราย

3) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 604 ราย

4) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 535 ราย

พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 0 - 4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี และกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี ตามลำดับ

ขณะที่ สถานการณ์โรคมือเท้าปาก ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. – 4 พ.ค. 2567 มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 1,358 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยสถานการณ์โรค 8 สัปดาห์ย้อนหลัง มีผู้ป่วย 372 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้

1) จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 164 ราย

2) จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 111 ราย

3) จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 67 ราย

4) จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 30 ราย

พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 1 ปี รองลงมาคือ 2 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ

“รัฐบาลห่วงใยสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะในโรงเรียนอนุบาล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แนะนำให้ครูพี่เลี้ยงคัดกรองนักเรียนทุกเช้าก่อนเข้าเรียน หากพบเด็กป่วยให้แจ้งผู้ปกครองมารับเด็กไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากมีเด็กป่วยจำนวนมากอาจต้องพิจารณาปิดชั้นเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ ในส่วนของผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีไข้ร่วมกับมีแผลในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ควรรีบไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียน ไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่น ๆ ในครอบครัว หลีกเลี่ยงการพาบุตรหลานที่มีอาการป่วยไปในที่ชุมชน เช่น สนามเด็กเล่น บ้านบอล ห้างสรรพสินค้า เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อและป้องกันการระบาดในชุมชนดูแลรักษาอนามัยส่วนบุคคล” นายคารม ย้ำ