โรคร้ายที่พร้อมมาทำลายสุขภาพคุณในหน้าฝน
logo ข่าวอัพเดท

โรคร้ายที่พร้อมมาทำลายสุขภาพคุณในหน้าฝน

ข่าวอัพเดท : ตอนนี้ประเทศไทยเราเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว ฤดูฝนก็เป็นอีกหนึ่งฤดูที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ด้วยสภาพอากาศที่เริ่มเย็นลง หน้าฝน,โรคในหน้าฝน,โรคมาพร้อมหน้าฝน,หวัด,ไข้หวัด

49,828 ครั้ง
|
24 พ.ค. 2567

ตอนนี้ประเทศไทยเราเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว ฤดูฝนก็เป็นอีกหนึ่งฤดูที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ด้วยสภาพอากาศที่เริ่มเย็นลงและมีความชื้นเพิ่มขึ้น ทำให้เชื้อไวรัสและแบคทีเรียแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และเมื่ออากาศเปลี่ยน ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราอาจลดลงจนทำให้ป่วยง่ายขึ้น ซึ่งโรคต่าง ๆ ที่มักมากับหน้าฝนนั้น มีหลายกลุ่มโรคด้วยกัน เรามาทำความรู้จักกับแต่ละโรคให้มากขึ้น เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลจากทุกโรค

1.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ

มาจากการได้รับเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่กระจายในอากาศ โดยเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้ง่าย เพียงแค่สัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนกับเชื้อไวรัส หรือสัมผัสกับน้ำมูกที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โรคในกลุ่มนี้มีหลายโรค เช่น

  • ไข้หวัดใหญ่

เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวักใหญ่กลุ่ม Influenza Virus โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล สามารถจำแนกออกเป็น 3 ชนิด โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรง คือ ชนิด A และ B ส่วนสายพันธุ์ชนิด C มักไม่รุนแรง

อาการ

-มีไข้สูง
-ปวดหัว
-ปวดเมื่อยตามตัว
-ไอแห้ง
-มีน้ำมูก คัดจมูก
 
  • โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม

เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumonia หรือเชื้อนิวโมคอคคัส ทำให้ถุงลมปอดเต็มไปด้วยหนองหรือสารคัดหลั่ง ส่งผลให้การหายใจไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนลดลง ซึ่งโรคปอดอักเสบนี้จะมักเป็นอาการต่อเนื่องมาจากไข้หวัดใหญ่

อาการ

-มีไข้สูง เหงื่อออก หนาวสั่น
-ไอมีเสมหะ
-เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
-คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
-อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดตามข้อ
-ผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม รู้สึกสับสน
-ทารกหรือเด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ บางรายอาจมีอาการชักจากไข้
 
  • โรคหลอดลมอักเสบ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่หลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมเกิดการอักเสบบวม

อาการ

-ไอมาก มีเสมหะ
-หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หรือเจ็บหน้าอกได้
-อาจมีอาการเจ็บคอ แสบคอ
-อาจมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว
 

2.กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ

  • โรคไข้เลือดออก

เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) มียุงลายเป็นพาหะ

อาการ

1. ระยะไข้ (ระยะเวลาประมาณ 2 - 7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มักมีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา
2. ระยะวิกฤต ผู้ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาการจะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยบางรายในระยะนี้ มีอาการซึม เหงื่อออก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว ปวดท้อง อาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่าย ในรายที่รุนแรงจะมีความดันโลหิตต่ำ ช็อก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 24 - 48 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรง และเข้าสู่ภาวะช็อกทุกราย
3. ระยะฟื้นตัว อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามลำตัว โรคไข้สมองอักเสบเจอี เกิดจากเชื้อไวรัสเจอีที่สมอง มียุงรำคาญเป็นพาหะ ยุงชนิดนี้มักแพร่พันธุ์ในนาข้าว อาการ ผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 5-15 วัน - ระยะแรก มีไข้สูง อาเจียน เวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย - ระยะที่อาการรุนแรง เป็นช่วงที่อาจเสียชีวิตได้ จะมีอาการทางสมอง เช่น คอแข็ง สติลดลง เพ้อคลั่ง ชักหมดสติ และเป็นอัมพาตในที่สุด
 
  • โรคมาลาเรีย หรือ ไข้ป่า

เกิดจากเชื้อโปรโตซัว เรียกว่า พลาสโมเดียม (Plasmodium) มียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะ เชื้อที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย คือ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium Falciparum) รองลงมา คือ พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ (P.Vivax)

อาการ

- มีไข้สูง หนาวสั่น
- ตัวซีดลง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก
- หากเป็นชนิดรุนแรง อาจมีการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ
 

3.กลุ่มโรคติดต่อทางระบบทางเดินอาหาร

มาจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาดหรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารและลำไส้

  • โรคตับอักเสบ

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด A B C D และ E โดยจะมีลักษณะการติดต่อที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ โดยอาการตับอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อยมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก การรับประทานยาบางอย่าง รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันทำลายตับเอง

อาการ

- มีไข้
- อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อย
- ตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปัสสาวะสีเข้ม
- จุกแน่นใต้ชายโครงขวา
 
  • โรคบิด

เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรีย หรืออะมีบา ซึ่งสามารถติดต่อผ่านการรับประทานอาหาร ผักดิบ รวมถึงน้ำที่มีการปนเปื้อน

อาการ

- อุจจาระบ่อย หรือมีมูกเลือดปน
- อาจมีไข้
 
  • โรคอาหารเป็นพิษ

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ

อาการ

- ปวดท้อง ท้องร่วง
- คลื่นไส้
- อาจมีไข้
- ปวดศีรษะ
 

4. กลุ่มโรคติดเชื้อทางแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง

  • โรคฉี่หนู

เกิดจากเชื้อกลุ่ม Leptospira มักพบการระบาดในหน้าฝนหรือช่วงที่มีน้ำท่วมขัง สัตว์ที่แพร่เชื้อโรคนี้ ได้แก่ พวกสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู สัตว์พวกนี้เก็บเชื้อไว้ที่ไต ดังนั้นเมื่อฉี่ออกมาจะมีเชื้อนี้ปนอยู่ด้วย

อาการ

- กลุ่มอาการไม่รุนแรง มีไข้สูงฉับพลัน ปวดศีรษะ มีอาการสับสน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรง ตาแดง หรือ เลือดออกใต้ตาขาว
- กลุ่มอาการรุนแรง พบน้อยกว่ากลุ่มแรก นอกจากจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อย เหมือนกลุ่มแรก อาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง คอแข็ง ความดันโลหิตต่ำ เลือดออกผิดปกติ หากเป็นรายที่รุนแรงมากอาจพบเลือดออกในปอดได้ ต้องเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
 
  • โรคตาแดง – โรคเยื่อบุตาอักเสบ

เกิดจากการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง และการใช้สิ่งของร่วมกัน หรือจากการหายใจหรือไอจามรดกัน เชื้อโรคสามารถแพร่ระบาดได้ตามสถานที่ที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันมาก ๆ เช่น รถโดยสารสาธารณะ โรงพยาบาล โรงเรียน และมักพบในกลุ่มเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

อาการ

- ตาแดง
- ปวดเล็กน้อยในเบ้าตา
- คันตา เคืองตา
- เปลือกตาบวม อาจพบตุ่มเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่ว
- กรณีติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย มีขี้ตามาก ทำให้ลืมตายากในช่วงตื่นนอน
 
  • โรคมือเท้าปาก

เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน และสามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่อาการมักจะไม่รุนแรงเท่าเด็กเล็ก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human enteroviruses ผ่านการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ตุ่มน้ำใส หรือผื่นบริเวณผิวหนังของผู้ที่เป็นโรค

อาการ

- มีไข้
- มีแผลในปาก
- มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว
 

เราสามารถป้องกันโรคที่มากับหน้าฝนได้ด้วยการดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ หมั่นล้างมือให้สะอาด ดื่มน้ำสะอาด และควรรับประทานอาหารที่สุก ใหม่ สะอาด ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง และควรปฏิบัติตามแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ที่สำคัญ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างตรงจุด