"โรคมือ เท้า ปาก" เป็นโรคระบาดที่มากับฤดูฝน และส่วนใหญ่มักจะเกิดการระบาดขึ้นในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ ทำให้พ่อแม่หลายคนมีความกังวัลใจ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรู้เท่าทันโรคนี้ เพื่อปกป้องลูกน้อยของเรา ให้มีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง
โรคมือ เท้า ปาก คืออะไร ?
เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงหน้าฝนและสามารถพบโรคมือ เท้า ปากในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แต่อาการมักจะไม่รุนแรงเท่าในเด็กเล็ก
เป็นโรคที่มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร ส่งผลให้มีอาการเป็นไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ถือได้ว่าเป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย
อาการของโรค มือ เท้า ปาก
1. มีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสเป็นอาการนำก่อน
2. เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย
3. มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายใน
ระยะเวลาการแพร่เชื้อและการติดต่อ กี่วันถึงจะหาย ?
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการใน 7 วันแรกและหลังจากหายแล้ว พบว่ายังสามารถพบเชื้อได้ในอุจจาระได้อีก (ระยะประมาณ 2-3 สัปดาห์)
โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับน้ำลาย น้ำมูก ผื่นตุ่มน้ำใส และอุจจาระของผู้ป่วย เชื้ออาจจะแพร่กระจายโดยผ่านทางมือผู้ที่สัมผัสกัน เช่น การเปลี่ยนผ้าของเด็กเล็ก สารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส
และสามารถติดต่อทางอ้อมจากการสัมผัสของเล่น อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ช่วงที่มักมีการระบาดของโรคนี้คือ ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว
โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน
วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก
1. ล้างมือเป็นประจำ
2. ทำความสะอาดของเล่นเป็นประจำ
3. ลดการสัมผัสใบหน้า
4. สวมหน้ากากอนามัย ไม่พาเด็กป่วยไปในสถานที่แออัด
วิธีรักษาโรคมือ เท้า ปาก
การรักษาโรคมือ เท้า ปาก จะเป็นการรักษาอาการทั่ว ๆ ไปตามอาการของผู้ป่วย เช่น เจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ จะให้พยายามป้อนน้ำ นม อาหารอ่อน
แนะนำให้ทานอาหารที่เย็น เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม เพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ให้ทานยาลดไข้แก้ปวด ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เป็นต้น
ที่มา
https://multimedia.anamai.moph.go.th/infographics/info542_fon_5/
https://www.sikarin.com/health/โรคมือ-เท้า-ปาก-รับมืออย
https://www.sikarin.com/health/hand-foot-and-mouth-disease