รู้จักอาการ “Text Neck Syndrome” โรคใหม่ในยุคสังคมก้มหน้า
logo ข่าวอัพเดท

รู้จักอาการ “Text Neck Syndrome” โรคใหม่ในยุคสังคมก้มหน้า

ข่าวอัพเดท : ในสังคมยุคใหม่ที่เทคโนโลยีก้าวหน้า เราสามารถทำทุกอย่างได้ผ่านโทรศัพท์ ทำให้โทรศัพท์มีความสำคัญจนเปรียบเสมือนอวัยวะที่ 33 ของมนุษย์ แ Text Neck Syndrome,โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ

26,756 ครั้ง
|
02 พ.ค. 2567

ในสังคมยุคใหม่ที่เทคโนโลยีก้าวหน้า เราสามารถทำทุกอย่างได้ผ่านโทรศัพท์ ทำให้โทรศัพท์มีความสำคัญจนเปรียบเสมือนอวัยวะที่ 33 ของมนุษย์ แต่ถึงแม้ว่าการใช้โทรศัพท์จะมีประโยชน์มากเพียงใด หากใช้ผิดวิธีก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน ซึ่งหนึ่งในอาการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากการเล่นโทรศัพท์เป็นเวลานานก็คือ “Text Neck Syndrome” นั่นเอง

“Text Neck Syndrome” คือ อาการปวดของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ หรือสะบัก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการก้มหน้าเล่นโทรศัพท์เป็นเวลานาน หรือมากกว่าวันละ 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดเป็นอาการปวดเรื้อรัง ไปจนถึงระดับรุนแรง โดยจะมีอาการชาและปวดร้าวจากบริเวณคอไปจนถึงมือ หรือมีอาการอ่อนแรงของแขนและมือร่วมด้วย เนื่องจากเกิดการกดทับของเส้นประสาทบริเวณคอ

โดยปกติศีรษะของมนุษย์จะมีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม จากการวิจัยพบว่ายิ่งก้มมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้คอต้องรับน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการก้มเล่นโทรศัพท์เป็นเวลานานจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด Text Neck Syndrome ตามมา ซึ่งวิธีป้องกันสามารถทำได้โดยการปรับท่าทางในการใช้โทรศัพท์ โดยพยายามให้คออยู่ในแนวตรงมากที่สุด ไม่ก้มหลัง ไม่ห่อไหล่ และควรพักเป็นระยะเพื่อไม่ให้อยู่ในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานาน

ถึงแม้ว่า Text Neck Syndrome จะดูเป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ได้อันตรายเท่าไหร่นัก แต่หากปล่อยให้เรื้อรัง อาจรุนแรงถึงขั้นต้องทำการผ่าตัดได้ ดังนั้นหากพบว่ามีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป ซึ่งการรักษาในระดับเบื้องต้น สามารถทำได้ด้วยการกายภาพบำบัด หรือใช้ยาเพื่อลดการอักเสบและคลายกล้ามเนื้อ หากรุนแรงถึงขั้นมีการเสื่อมของกระดูกหรือหมอนรองกระดูกคอ ร่วมกับการกดทับไขสันหลังหรือรากประสาท อาจต้องพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแทน

นอกจาก Text Neck Syndrome แล้ว การเล่นโทรศัพท์ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ตามมาได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นจึงควรเล่นแต่พอดี รวมถึงมีการพักสายตาและเปลี่ยนท่าทางในการเล่น เพื่อป้องกันการความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา

ที่มา : Vejthani Hospital