รู้ไว้ก่อนสาย ! ความผิดปกติทางสายตาที่ควรสังเกตของลูกน้อย
logo ข่าวอัพเดท

รู้ไว้ก่อนสาย ! ความผิดปกติทางสายตาที่ควรสังเกตของลูกน้อย

ข่าวอัพเดท : เรื่องสายตาของเด็กๆ อาจจะเป็นสิ่งที่คุณแม่หลายคนละเลย รู้ตัวอีกทีก็เกิดปัญหาขึ้นแล้ว บางครั้งหนักข้อถึงขั้นต้องผ่าตัดเสียค่าใช้จ่าย แม่และเด็ก,สายตา,ลูกมีปัญหาสายตา,สายตาสั้น,สายตาเอียง,ตาเข,ตาขี้เกียจ,รักษาสายตา,ถนอมสายตาเด็ก

663 ครั้ง
|
18 ม.ค. 2567
เรื่องสายตาของเด็กๆ อาจจะเป็นสิ่งที่คุณแม่หลายคนละเลย รู้ตัวอีกทีก็เกิดปัญหาขึ้นแล้ว บางครั้งหนักข้อถึงขั้นต้องผ่าตัดเสียค่าใช้จ่าย จะดีกว่าไหม ? ถ้าเราป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก วันนี้เราจะพามาเจาะลึกว่าความปกติของสายตามีอะไรบ้าง แล้วมีวิธีสังเกตและรักษาหรือป้องกันอย่างไร เพื่อไม่ให้สายเกินกว่าจะแก้ไขหรือป้องกันไม่เกิดขึ้นกับลูกๆของเรา
 
สายตาผิดปกติ นั้นแบ่งออกเป็น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ซึ่งสามารถพบสายตาผิดปกติ 2 อย่างร่วมด้วยกันได้ เช่น สายตาสั้นและสายตาเอียง หรือสายตายาวและสายตาเอียง
 
1. สายตาสั้น
          
          องค์การอนามัยโลก WHO มีการคาดการณ์ ว่าในปี 2050 จะมีอุบัติการณ์ของผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นถึง 5,000 ล้านคน โดยพบว่าในเอเชียมีสัดส่วนของผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นมากถึง 80-90% ด้วยเหตุนี้ เชื้อชาติจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เลี่ยงไม่ได้ ที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้น 
 
          นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจาก ประวัติบุคคลในครอบครัวมีภาวะสายตาสั้น (พันธุกรรม) โรคทางตาบางโรค เช่น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์บริเวณจอตา ซึ่งทำให้มีแนวโน้มของการสายตาสั้นที่สูงและจำเป็นต้องสวมแว่นสายตา ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นถาวรได้
 
2. สายตายาว
     
        ในเด็กช่วงแรกเกิด – 5 ขวบ ลูกตาของเด็กจะมีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก เนื่องจากขนาดที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเวลาแสงตก แสงจะตกได้ไม่ถึงจุดรับภาพชัด จะเลยจุดรับภาพไปทำให้เด็กจะมีปัญหาสายตายาว โดยสายตายาวจะมีช่วงระยะค่าสายตาที่ถือเป็นค่าสายตายาวที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งเป็นไปตามพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก และหากว่ามีค่าสายตาที่เกินเกณฑ์มาตรฐานจะส่งผลทำให้เกิดตาเข หรือตาขี้เกียจตามมาได้ 
 
3. สายตาเอียง
 
        โดยในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ และพบว่าในเด็กที่มีภาวะภูมิแพ้ หรือชอบขยี้ตา ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นทำให้เกิดภาวะสายตาเอียงได้ ทั้งนี้หากตรวจพบว่าเด็กมีภาวะสายตาเอียง สามารถปรับการมองเห็นได้ด้วยการสวมแว่นสายตา และเพื่อป้องกันลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสายตาขี้เกียจ ตามมา
 
4. สายตาเข หรือ ตาเหล่
        
       การทดสอบ ตาเข หรือตาเหล่ เบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยการถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์มือถือ พร้อมเปิดแฟลช โดยให้แสงไฟอยู่ห่างจากหน้าเด็กประมาณระยะ 1 ฟุต จากนั้นซูมเพื่อขยายภาพตาดำ เพื่อดูว่าแสงไฟที่เห็นตกที่ตรงตาดำหรือไม่ หากแสงไฟไม่ตกที่ตรงกลางตาดำ แสดงว่าเด็กอาจมี ภาวะตาเข
 
       วิธีการรักษา สามารถทำได้ด้วยการสวมแว่นสายตา ปิดตา และการผ่าตัด โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและพิจารณาวางแผนเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมให้ 
 
5. สายตาขี้เกียจ 
 
         ผู้ที่มีปัญหาสายตาขี้เกียจ จะไม่พบความผิดปกติใดๆ ที่จะสามารถสังเกตได้จากภายนอก โดยในเด็กเล็กคุณพ่อ คุณแม่อาจสังเกตได้จากการที่เด็กไม่มองจ้องหน้า หรือสิ่งของเมื่อยื่นเข้าไปใกล้ๆ เช่นนี้จึงแนะนำพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยคัดกรองปัญหาสุขภาพตาโดยละเอียดอีกอีกครั้ง 
 
         วิธีการรักษา ต้องค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะปัญหาสายตาขี้เกียจ เช่น หากเกิดจาก ภาวะปัญหาสายตาผิดปกติ สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวมแว่นสายตา และหากเกิดจาก กล้ามเนื้อตาผิดปกติ อาจต้องพิจารณารักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
 
วิธีป้องกันและถนอมสายตา
 
1. กระพริบตาให้บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันตาแห้ง หรือถ้ามีอาการตาแห้งควรใช้น้ำตาเทียมลดอาการระคายเคือง
2. พักสายตาทุก 20-30 นาที หรือพักจากการมองจอ 30-60 วินาที โดยการมองออกไปที่ไกลๆหรือหลับตา
3. ใช้แผ่นกรองแสงจากหน้าจอ หรือใส่แว่นกรองแสง ปรับแสงหน้าจอให้พอเหมาะ
4. ไฟในห้องความสว่างเพียงพอ
5. รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา เพื่อลดอาการเสี่ยงของจอประสาทตาเสื่อม เช่น แครอท ฝักทอง คะน้า ปวยเล้ง
6. ดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากการดื่มน้ำจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ดวงตา
7. ไม่นอนดูโทรทัศน์ หรือนอนเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะองศาในการจับหรือการนอนไม่ถูกสุขลักษณะ สายตาของเด็กจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับพฤติกรรม ส่งผลให้ประสาทตาและการจับภาพผิดเพี้ยนไป
8. ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
 
 
ดังนั้นสุขภาพของลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย ถ้ายิ่งค้นพบความปกติของสายตาเร็ว ยิ่งรักษาได้เร็วขึ้น เพราะถ้าปล่อยไว้นานนอกจากจะมีปัญหาด้านการมองเห็นแล้ว อาจจะสายเกินกว่าจะแก้ไข ไม่สามารถผ่าตัดได้หรืออาจมองไม่เห็นตลอดชีวิต ช่วยกันสังเกตอาการผิดปกติ เพื่อสุขภาพสายตาที่ดีของเด็กๆกันเถอะ
 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก :