จะทำอย่างไร เมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าไป !
logo ข่าวอัพเดท

จะทำอย่างไร เมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าไป !

ข่าวอัพเดท : เด็กเล็กเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง และมักจะมีโอกาสหยิบและกลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าปากได้ง่ายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลเด ลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม,วัตถุติดคอ,อาหารติดคอ,เด็กเล็ก,ลูกจับของเข้าปาก

540 ครั้ง
|
12 ต.ค. 2566
เด็กเล็กเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง และมักจะมีโอกาสหยิบและกลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าปากได้ง่ายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลเด็กเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กเล่นของเล่นที่มีขนาดเล็ก และเก็บสิ่งของขนาดเล็กที่เด็กสามารถหยิบเข้าปากได้ให้พ้นมือเด็ก ไม่ปล่อยให้เด็กเล็กเล่นคนเดียว การหยิบสิ่งของเข้าปากในเด็กเล็กนั้นเป็นสิ่งที่พบเจอได้บ่อย ทำให้พ่อแม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงนี้จนกว่าลูกจะเข้าสู่อายุ 6-7 ขวบ 
 
การกลืนสิ่งแปลกปลอมในเด็กเล็ก อันตรายถึงเสียชีวิตได้!
หากสิ่งที่ลูกเรากลืนลงไปติดค้างอยู่บริเวณหลอดลม อาจทำให้อุดกั้นทางเดินหายใจจนทำให้ถึงกับเสียชีวิต หรือบางรายอาจกลืนลงทางเดินอาหารแม้ว่าอาจจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิต แต่ก็ทำให้เกิดโอกาสลำไส้อุดตันได้ หรือสิ่งที่กลืนลงไปนั้นมีปฏิกิริยาทางไฟฟ้าและเคมี เช่น ถ่านแบตเตอรี่ ก็อาจทำให้ทางเดินอาหารเป็นแผลและทะลุได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเฝ้าระวังได้ดีที่สุด ก็คือ พ่อ แม่ หรือผู้ดูแลนั่นเอง เพราะเด็กในวัยนี้จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
 
 
ควรทำอย่างไรเมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม ?
1. สามารถสังเกตอาการของเด็กที่กลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าไปได้จาก การไอ สำลัก หายใจไม่สะดวก เจ็บคอ น้ำลายไหลมาก น้ำลายมีเลือดปน กลืนน้ำลายหรืออาหารลำบาก ปฎิเสธอาหาร ปวดท้อง อาเจียนหรือถ่ายมีเลือดปน หรือบางคนอาจไม่มีอาการใดๆ
2. ห้ามล้วงหรือทำให้อาเจียน เพราะสิ่งแปลกปลอมอาจหลุดจากทางเดินอาหารไปสู่ทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้
3. สิ่งแปลกปลอมบางชนิด เช่น พลาสติก ไม้ ก้างปลาเล็กๆ อาจถ่ายภาพรังสีไม่เห็น ดังนั้นประวัติอาการและตัวอย่างหรือรูปวัสดุที่กลืนเข้าไปจึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้แพทย์พิจารณาการรักษาได้อย่างถูกต้อง
 
ผู้ปกครองควรจะต้องเฝ้าระวังว่าลูกๆ ที่อาจมีการเล่นเพลิน จนกระทั่งเผลอกลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปากได้ ซึ่งสิ่งแปลกปลอมที่พบว่าเด็กกลืนบ่อยมากที่สุด คือ เหรียญ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี  แต่ส่วนใหญ่สิ่งที่เด็กกลืนเข้าไปนั้นจะสามารถหลุดออกจากทางเดินอาหารเองได้ 80-90% โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แต่ 10-20% สิ่งแปลกปลอมอาจไม่สามารถหลุดออกมาเองได้ หรืออาจหลุดลึกเข้าไปจนต้องเอาออกด้วยวิธีส่องกล้องทางเดินอาหาร ส่วนอีก 1% อาจต้องเอาออกด้วยวิธีผ่าตัด
 
สังเกตอาการเมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม
เด็กอาจมีอาการ ไอ สำลัก หายใจไม่สะดวก เจ็บคอ น้ำลายไหลมาก น้ำลายมีเลือดปน กลืนน้ำลายหรืออาหารลำบาก ปฎิเสธอาหาร ปวดท้อง อาเจียนหรือถ่ายมีเลือดปน หรือบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้
 
การปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม
• ให้งดน้ำงดอาหาร ก่อนพามาโรงพยาบาล 
• ถ้ามีอาการทางระบบหายใจ เช่น ไอ สำลัก หายใจไม่สะดวก สิ่งแปลกปลอมที่กลืนอาจหลุดเข้าทางเดินหายใจ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินต้องรีบมาโรงพยาบาลในทันที
• หากเด็กไม่มีอาการใด ๆ  ไม่แนะนำให้ล้วงหรือทำให้อาเจียนออกเพราะสิ่งแปลกปลอมอาจหลุดจากทางเดินอาหารไปสู่ทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้
• นำตัวอย่างหรือรูปและขนาดสิ่งของที่เด็กกลืนมาให้แพทย์ดู
•รีบไปพบแพทย์  เพื่อถ่ายภาพรังสีบริเวณช่องอกและช่องท้อง เพื่อดูตำแหน่งของสิ่งแปลกปลอม
 
ควรทำอย่างไรถ้าวัตถุติดในหลอดอาหาร
• ลูกกลืนกระดุม แบตเตอรี่ชนิดเม็ดกระดุม หรือวัสดุแหลมคม - ไม่ว่าเด็กจะมีหรือไม่มีอาการ แนะนำให้รีบพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อส่องกล้องทางเดินอาหารเอาสิ่งแปลกปลอมออกโดยเร็วที่สุด
• ลูกกลืนแม่เหล็ก - ส่องกล้องทางเดินอาหารเอาออกภายใน 12-24 ชั่วโมง
• ลูกกลืนเหรียญ หรืออาหารอุดตัน - ถ้ามีอาการควรรีบเอาออกโดยเร็วที่สุด  แต่ถ้าไม่มีอาการแนะนำให้เอาออกภายใน  24 ชั่วโมง
• วัตถุยาว > 6 เซนติเมตร ไม่แหลมคม - แนะนำให้เอาออกภายใน 24 ชั่วโมงถึงแม้จะไม่มีอาการ
• ก้างปลาติดคอลูก - ส่วนใหญ่มากกว่า 60% จะติดที่ในลำคอ คอหอย  ถ้าหลุดลงหลอดอาหาร และถ่ายภาพรังสีเห็นแสดงว่าก้างปลามีขนาดใหญ่  ให้ส่องกล้องทางเดินอาหารเอาออก เนื่องจากจะทำให้หลอดอาหารทะลุ เป็นแผลหรือติดเชื้อได้ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยเอกซเรย์ แนะนำให้ส่องกล้องเมื่อมีอาการ
 
เมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม แล้ววัตถุติดในกระเพาะอาหาร
1. แบตเตอรี่ชนิดเม็ดกระดุม
เด็กกลืนแบตเตอรี่ แล้วมีอาการ แนะนำให้รีบส่องกล้องทางเดินอาหารเอาออกโดยเร็วที่สุด
เด็กกลืนแบตเตอรี่ แล้วไม่มีอาการ ให้ดูที่ขนาดของแบตเตอรี่ที่กลืน ดังนี้
• เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี กลืนแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่า 2 เซตติเมตร แต่ไม่มีอาการ : แนะนำ ส่องกล้องทางเดินอาหารเอาออกภายใน 24-48 ชั่วโมง
• เด็กอายุมากกว่า 5 ปี กลืนแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่า 2 เซตติเมตร แต่ไม่มีอาการ : สามารถรอได้โดยถ่ายภาพรังสีทุก 3-4 วัน ว่าสามารถหลุดออกจากกระเพาะได้เองได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถออกจากกระเพาะได้อาจพิจารณาส่องกล้องทางเดินอาหารเอาออก แต่ถ้าสามารถหลุดจากกระเพราะอาหารได้ สามารถรอให้ถ่ายอุจจาระออกมาเองได้
 
2. แม่เหล็ก
เด็กกลืนแม่เหล็ก แล้วมีอาการ แนะนำให้รีบส่องกล้องทางเดินอาหารเอาออกโดยเร็วที่สุด  
ลูกกลืนแม่เหล็ก แล้วไม่มีอาการ ให้ดูที่ขนาดของแม่เหล็กที่กลืน ดังนี้
• ไม่มีอาการ กลืนแม่เหล็ก 1 ชิ้น ขนาดเล็กกว่า 2.5  เซนติเมตร - ให้ถ่ายภาพรังสีช่องท้องเป็นระยะว่าสามารถหลุดออกจากกระเพาะได้เองได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถออกจากกระเพาะได้ใน 24 ชั่วโมง อาจพิจารณาส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อเอาออก แต่ถ้าสามารถหลุดจากกระเพราะอาหารได้ สามารถรอให้ถ่ายออกมาเอง แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้วัตถุที่เป็นแม่เหล็ก งดใส่เสื้อผ้าที่มีกระดุม เข็มขัดที่มีโลหะที่แม่เหล็กสามารถดูดได้
• ไม่มีอาการ กลืนแม่เหล็ก 1 ชิ้น ขนาดใหญ่กว่า 2.5  เซนติเมตร -  มักหลุดออกจากกระเพาะอาหารเองได้ยากจะต้องส่องกล้องเอาออก
• ไม่มีอาการ กลืนแม่เหล็กมากกว่า 1 ชิ้น แม่เหล็กไม่อยู่ติดเป็นก้อนเดียวกัน หรือแม่เหล็กรวมกับวัสถุที่เป็นเหล็ก - ให้ส่องกล้องทางเดินอาหารเอาออกภายใน 12-24 ชั่วโมง เนื่องจากแม่เหล็กอาจมาติดกัน โดยมีเนื้อเยื่อกระเพาะหรือลำไส้แทรกระหว่างแม่เหล็ก ทำให้เกิดลำไส้เน่าและทะลุได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นแม่เหล็กชนิดที่มี neodymium เป็นส่วนประกอบจะมีความสามารถดูดติด กับโลหะหรือแม่เหล็ก สูงกว่าแม่เหล็กธรรมดา 5-10 เท่า จึงมีโอกาสเกิดอันตรายได้มาก
• ไม่มีอาการ กลืนแม่เหล็กมากกว่า 1 ชิ้น แม่เหล็กอยู่ติดเป็นก้อนเดียว - ให้พิจารณาเหมือนเป็นแม่เหล็ก 1 อัน ให้โดยดูที่ขนาดที่แม่เหล็กติดรวมกัน แนะนำให้ถ่ายภาพรังสีติดตามทุก 4-6 ชั่วโมง
 
3.เด็กกลืนเหรียญ
ลูกกลืนเหรียญ แล้วมีอาการ แนะนำให้รีบส่องกล้องทางเดินอาหารเอาออกภายใน 24 ชั่วโมง
ลูกกลืนเหรียญ ไม่มีอาการ ให้ดูที่ขนาดของเหรียญที่กลืน ดังนี้ 
• ลูกกลืนเหรียญ ประมาณขนาดเหรียญ 1 หรือ 2 บาท (วัตถุขนาดเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร) - สามารถรอได้โดยเอกซเรย์ช่องท้องทุกสัปดาห์เพื่อประเมินว่าสามารถหลุดออกจากกระเพาะได้เองได้หรือไม่ ถ้ายังอยู่ในกระเพาะนานเกิน 4 สัปดาห์ให้ส่องกล้องทางเดินอาหารเอาออก
• ลูกกลืนเหรียญ ประมาณขนาดเหรียญ 5 บาท (วัตถุขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 2.5 เซนติเมตร) – มักหลุดออกจากกระเพาะอาหารเองได้ยากจะต้องส่องกล้องเอาออก
 
4.ลูกกลืนวัตถุที่ยาว หรือแหลมคม
• วัตถุที่ยาว  ขนาดใหญ่กว่า 2.5  เซนติเมตร -  แนะนำให้รีบส่องกล้องทางเดินอาหารเอาออกภายใน 24 ชั่วโมง
• วัตถุแหลมคม -  แนะนำให้รีบส่องกล้องทางเดินอาหารเอาออกภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นอันตรายต่อทางเดินอาหารได้
• วัตถุไม่แหลมคม ไม่อันตราย ขนาดน้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร - สามารถรอให้ถ่ายอุจจาระออกเองได้ใน 2-4 สัปดาห์  แต่ถ้าติดนานกว่า 4 สัปดาห์ แนะนำส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อเอาออก
 
ที่มา