รู้จัก ‘RSV’ ไวรัส วายร้าย มาพร้อมฤดูฝน เป็นภัยต่อทางเดินหายใจของเด็ก
logo ข่าวอัพเดท

รู้จัก ‘RSV’ ไวรัส วายร้าย มาพร้อมฤดูฝน เป็นภัยต่อทางเดินหายใจของเด็ก

ข่าวอัพเดท : ในช่วงปลายฝนต้นหนาว หนึ่งในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญในวัยทารกและเด็กเล็กที่คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจ ไวรัส RSV,โรคทางเดินหายใจ,เด็ก,ฤดูฝน,ปอดอักเสบ

776 ครั้ง
|
11 ก.ย. 2566
            ในช่วงปลายฝนต้นหนาว หนึ่งในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญในวัยทารกและเด็กเล็กที่คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV” ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัด แต่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้
 
           RSV หรือมีชื่อเต็มๆว่า Respiratory Syncytial Virus คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งพบได้บ่อย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้เนื่องจากมักเกิดพยาธิสภาพในส่วนของหลอดลมเล็ก (bronchiole) และถุงลม (alveoli) ทำให้มีการสร้างสิ่งคัดหลั่ง เช่น เสมหะ ออกมาในปริมาณมาก และมีการหดตัวของหลอดลมเนื่องจากการบวมของเยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจต่างๆ ส่งผลให้เด็กมีอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบากได้อย่างรวดเร็ว เชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
 
อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV
 
         อาการของการติดเชื้อ RSV เริ่มต้นมักมีอาการไข้หวัดธรรมดา ได้แก่ มีน้ำมูก ไข้ ไอ จาม เมื่อการดำเนินโรคมากขึ้นทำให้มีอาการของการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนล่างตามมาได้ เช่น หลอดลมอักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น ทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น มีอาการไอเสมหะมาก หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก หรือหายใจล้มเหลวได้  โดยเฉพาะในเด็กเล็กหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทารกคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง
 
อาการที่ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
 
- หอบเหนื่อย หายใจเร็วกว่าปกติ
- มีน้ำมูก หรือไอเสมหะมาก หายใจครืดคราด
- ริมฝีปากคล้ำเขียวหรือตัวเขียวจากภาวะขาดออกซิเจน
- ไข้สูง ซึมลง
- รับประทานอาหาร น้ำหรือนมได้น้อย หรือมีภาวะขาดน้ำ
 
แนวทางการรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV
 
         ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้ หรือพ่นยา ตามแต่อาการของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย หายใจไม่ค่อยดี และเริ่มมีออกซิเจนในเลือดต่ำลง การรักษาจะเป็นในรูปแบบประคับประคอง เช่น ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาพ่นขยายหลอดลม เคาะปอด ดูดเสมหะ รวมถึงให้ออกซิเจน ส่วนในรายที่มีอาการหนักมาก อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยให้การดูแลในหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติจนกว่าอาการจะดีขึ้น การดำเนินโรคจะเป็นอยู่ 5-7 วัน บางรายในช่วง 1-2 วันแรกมีอาการไม่รุนแรง แต่ในช่วงวันที่ 3-5 ของโรคจะมีอาการรุนแรงมากสุด จากนั้นอาการจะทุเลาลง หากอาการรุนแรงอาจต้องดูแลรักษาและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยวิกฤติ
 
        ในเด็กเล็กที่อ่อนแอมาก เช่น เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคหัวใจ โรคปอด และหอบหืดอยู่แล้ว อาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือหายใจล้มเหลว จนต้องนำเข้าหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วย
 
         ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อมัยโคพลาสมา หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาที่ครอบคลุมการติดเชื้อเหล่านี้ตามความเหมาะสม
 
 
เป็นแล้วจะเป็นซ้ำอีกได้หรือไม่?
 
         สำหรับเชื้อไวรัส RSV มี 2 กลุ่มย่อย คือกลุ่ม A และ B ซึ่งมีความสัมพันธ์กันแต่ไม่ใช่ตัวเดียวกัน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยครั้งแรกไม่สามารถป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นซ้ำๆกันอาการจะไม่รุนแรงมากเท่ากับในครั้งแรก 
 
 
วิธีการป้องกันเชื้อไวรัส RSV
 
     ทุกคนในครอบครัวสามารถช่วยกันป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส RSVได้ ดังนี้
 
- ล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธี ล้างมือบ่อย ๆ ช่วยลดการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปสถานที่ชุมชน
- หลีกเลี่ยงการเล่นหรือสัมผัสเด็ก หรือผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ
- ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ
 
       และหากคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วยควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้าง ถ้าลูกเริ่มเข้าเนิร์สเซอรีหรือโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหยุดเรียนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ อย่างไรก็ดี ในเด็กบางรายถึงแม้จะหายแล้วก็ยังอาจมีอาการไอต่อเนื่องไปเป็นเดือนได้