4 โรคยอดฮิตที่มักเกิดขึ้นในเด็กเล็กช่วงฤดูฝน
logo ข่าวอัพเดท

4 โรคยอดฮิตที่มักเกิดขึ้นในเด็กเล็กช่วงฤดูฝน

ข่าวอัพเดท : ในช่วงฤดูฝนที่กำลังมาถึงนี้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เมื่อถูกฝนแล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที อาจจะทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยหรือไม ฤดูฝน,เด็กเล็ก,โรคยอดฮิต,โรคระบาด,แม่และเด็ก

1,028 ครั้ง
|
12 ก.ย. 2566
ในช่วงฤดูฝนที่กำลังมาถึงนี้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เมื่อถูกฝนแล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที อาจจะทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยหรือไม่สบายได้ อีกทั้งยังเป็นฤดูที่สามารถเพาะพันธุ์เชื้อไวรัสของโรคต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายในทารกและเด็กเล็ก ฉะนั้นวันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จัก 4 โรคยอดฮิตที่มักเกิดขึ้นในเด็กเล็กช่วงฤดูฝน เพื่อเตรียมตัวรับมือกับโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในลูกน้อยของตน
 
ทำความรู้จักกับโรคมือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคติดต่อที่มีการแพรระบาดในช่วงฤดูฝน มักพบได้บ่อยโดยเฉพาะเด็กเล็ก สาเหตุเกิดมาจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสในโรคมือ เท้า ปาก มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่แสดงอาการไม่รุนแรง แต่ในกรณีที่มีอาการสมองอักเสบร่วมด้วย เกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) Coxasackie Virus โดยมีอากาขั้นรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ เป็นโรคที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก หากลูกน้อยได้รับการตากฝนแล้วมีอาการตามข้างต้น
 
อาการของโรคมือเท้าปาก หากได้รับเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะใช้ระยะเวลาฟักตัวประมาณ 3-7 วัน จึงจะแสดงอาการโดยมีอาการเริ่มต้น คือ จะเริ่มมีไข้ขึ้นสูง 38-39 องศาเซลเซียส จากนั้นจะมีอาการอื่น ๆ ตามมา คือ ดวงตาและใบหน้าจะเริ่มแดงขึ้น มีความรู้สึกอ่อนเพลียและปวดท้อง ซึ่งโรคนี้สามารถระบาดได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เพราะเป็นช่วงที่จะมีน้ำขังมาก ฉะนั้นโอกาสที่จะก่อให้เกิดสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก มักจะเกิดขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเป็นอาการของโรคไข้เลือดออก เพราะมีไข้สูง 
 
การป้องกันโรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่ติดต่อผ่านการรับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร สารคัดหลั่ง และจากทางเดินหายใจเนื่องจากหายใจเอาเชื้อไวรัสที่แพร่จากผู้ป่วยเข้าไป ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขอนามัยให้กับเด็กๆ ให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสได้ ดังนี้
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
- สอนวิธีการล้างมือที่ถูกต้องให้สะอาด
- ทำความสะอาดของเล่นเป็นประจำ
- รับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
- ไม่พาเด็กเล็กไปอยู่ในสถานที่แออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค
 
หากเด็กที่มีอาการป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดเรียน และเข้ารับการรักษาให้หายป่วย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆ และที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตอาการของเด็ก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็ว
 
ทำความรู้จักกับโรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก มักพบได้ในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี ในช่วงนี้ของประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรรู้ข้อมูลเบื้องต้นของโรคไข้เลือดออกเพื่อป้องกันไว้ดีกว่ามากังวลในภายหลัง
 
สาเหตุของโรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 เมื่อยุงลายดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฝังตัวในกระเพาะและต่อมน้ำลายโดยมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่นๆ ต่อ เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อไวรัสของโรคไข้เลือดออกจะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้น ๆ หากได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ก็สามารถติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้อีกเช่นกัน โดยทั่วไปอาการของการติดเชื้อไวรัสครั้งที่ 2 จะรุนแรงขึ้นกว่าครั้งแรก ซึ่งในแต่ละปีจะมีการกระจายของเชื้อทั้ง 4 สายพันธุ์หมุนเวียนกันไป เชื้อที่โดดเด่นจะต่างกันไปในแต่ละปี ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดของโรคมาโดยตลอด 
 
อาการของโรคไข้เลือดออก แบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามความรุนแรง คือ ไข้เดงกีและไข้เลือดออก โรคไข้เดงกี (dengue fever) อาการที่สามารถพบได้ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อหรือกระดูก มีผื่นขึ้น และในบางรายอาจจะมีภาวะเลือดออก โรคไข้เลือดออกจะมีอาการเช่นเดียวกับโรคไข้เดงกี แต่ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เป็นลักษณะเฉพาะของโรค ไม่ว่าจะเป็น
มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร
- มีใบหน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกในบริเวณอื่น ๆ  เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะ อุจจาระ
- มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา
- ในบางรายที่มีอาการขั้นรุนแรง หลังจากมีไข้สูงมาเป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยสามารถเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก และเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (dengue shock syndrome) โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะช็อก หลังจากมีไข้สูง 2-7 วัน จะเริ่มลดลงระบบไหลเวียนโลหิตเข้าสู่ภาวะปกติ ความดันโลหิตและชีพจรเริ่มคงที่ เมื่อผ่านไป 2-3 วันจะหายเป็นปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น เริ่มรับประทานอาหารได้ อาการปวดท้องดีขึ้น ในระยะนี้มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าซึ่งสามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์

การป้องกันโรคไข้เลือดออก พยายามอย่าให้โดนยุงกัดและทำลายแหล่งน้ำบริเวณรอบ ๆ ตัวบ้านที่สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ และหากมีอาการที่กล่าวมาเบื้องต้นอย่าห้เกิดอาการขั้นรุนแรง เช่น มีไข้สูง ช็อค หรือมีปัญหาเลือดออกง่าย ต้องรีบพาลูกน้อยเข้ามาพบแพทย์ทันที
 
ทำความรู้จักกับโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza, Flu) เป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส Influenza สามารถติดต่อได้ระหว่างคนสู่คนผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อไวรัส ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่หลายคนมักมองข้ามว่าไม่รุนแรง แต่อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนหลังการติดเชื้อถึงขั้นแก่ชีวิตได้ ควรรู้อาการเบื้องต้นของโรคไข้หวัดใหญ่ไว้เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสให้กับลูกน้อย
 
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ มักแสดงอาการที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความสับสนระหว่างไข้หวัดทั่วไปได้ อาการที่แสดงในเด็กเด่น ๆ คือ มีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอหรือเจ็บคอ โดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัสถึงขั้นมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ 
 
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ หมั่นล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสจากการหยิบจัยสิ่งของ หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดและใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และควรรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งควรฉีดประมาณ 1-2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาดในทุกๆปี และเด็กสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป 
 
ทำความรู้จักกับโรคอีสุกอีใส (Chickenpox) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella-Zoster Virus) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในเด็ก ซึ่งโรคอีสุกอีใส เป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่ายในผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ หากมีการสัมผัสหรือหายใจร่วมกับผู้ป่วย ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายในเด็กเล็กหากมีการใกล้ชิดกับผู้ป่วย ฉะนั้นคุณแม่คุณแม่ควรพร้อมรับมือกับโรคอีสุกอีใส เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกน้อยใกล้ชิดกับผู้ป่วย
 
อาการของโรคอีสุกอีใส เริ่มจากการมีผื่นคันตามร่างกายโดยจะมีอาการอยู่ประมาณ 10-21 วันหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย หลังจากนั้นจะเกิดผื่นพุพองซึ่งจะแสดงอาการอยู่ประมาณ 5-10 วัน และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจเกิดขึ้นก่อนการเกิดผื่น ได้แก่ มีไข้ รู้สึกเบื่ออาหาร มีอาการปวดศรีษะ และรู้สึกอ่อนล้าและไม่สบายตัว  
อาการของโรคอีสุกอีใสสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 เริ่มมีตุ่มสีชมพูหรือแดงขึ้นบนผิวหนังตามร่างกายและเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาหลายวัน
ระยะที่ 2 จะมีตุ่มน้ำเกิดขึ้นภายในหนึ่งวันและเริ่มมีการแตกตัว
ระยะที่ 3 เกิดสะเก็ดแผลบริเวณรอบ ๆ ของตุ่มน้ำครอบไว้ให้เกิดการแตก โดยสะเก็ดแผลจะใช้เวลาหลายวันก่อนจะดีขึ้น
คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามดูแลรักษาร่างกายของลูกน้อยให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะโรคนี้เกิดขึ้นไม่ตรงตามวัย
 
การป้องกันโรคอีสุกอีใส ในปัจจุบันมีวัคซีนที่สามรถป้องกันโรคอีสุกอีใสซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี โดยจะเริ่มฉีดในเด็กอายุ ตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป และจะกระตุ้นอีกครั้งในตอนอายุ 4 ขวบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัคซีนเสริมและยังไม่ได้กำหนดเป็นมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องฉีด
 

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลบางปะกอก 3 https://www.bangpakok3.com/care_blog/view/284

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ https://www.bumrungrad.com/th/conditions/influenza