วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กแรกเกิด  ที่คุณแม่ควรรู้
logo ข่าวอัพเดท

วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กแรกเกิด ที่คุณแม่ควรรู้

ข่าวอัพเดท : เด็กแรกเกิดถึง 1 ปี ถือเป็นช่วงวัยที่มีภูมิต้านทานน้อยไม่พอในการต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆ และเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อน อาจเกิดอันตรายถึง วัคซีน,วัคซีนสำหรับเด็ก,วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก,วัคซีนเสริม,วัคซีนทางเลือก

914 ครั้ง
|
12 ก.ย. 2566
เด็กแรกเกิดถึง 1 ปี ถือเป็นช่วงวัยที่มีภูมิต้านทานน้อยไม่พอในการต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆ และเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อน อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ถึงแม้ทารกจะได้รับภูมิคุ้มกันจากนมแม่ ซึ่งเป็นวัคซีนจากธรรมชาติที่สร้างเกราะป้องกันให้ลูกน้อยห่างจากเชื้อโรค และอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ 
 
การเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนพื้นฐานแก่เด็กจึงเป็นอีกวิธีจะทำให้ลูกน้อยของคุณมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง โดยวัคซีนจะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคเป้าหมาย เมื่อเด็กได้รับวัคซีนแล้วจะทำให้โอกาสป่วยเป็นโรคติดต่อต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก ทั้งยังลดความพิการและการเสียชีวิต เด็กๆ จึงมีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมที่จะเติบโตและมีพัฒนาการอย่างสมวัย ซึ่งคุณแม่สามารถทราบได้จากกุมารแพทย์ว่าลูกควรได้รับวัคซีนพื้นฐานหรือวัคซีนจำเป็นเมื่อใด และชนิดใดบ้าง ประกอบกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันก้าวหน้าขึ้น วัคซีนสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งวัคซีนสำหรับเด็ก มี 2 ประเภท คือ วัคซีนพื้นฐาน และวัคซีนทางเลือก ดังนี้
 
วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 1 ปี

1. วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี(HB) เตรียมจากโปรตีนผิวนอกของไวรัส (HBsAg) ซึ่งจะไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันการติดเชื้อ และโรคที่เกิดจากไวรัสชนิดนี้ได้ เช่นมะเร็งตับ และตับแข็ง ควรได้รับอย่างน้อย 3 เข็ม ที่แรกเกิด อายุ 1-2 เดือน และเข็มสุดท้ายที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน ในเด็กที่เกิดจากแม่ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี หลังจากได้รับวัคซีนครบแล้ว แนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกันต่อตับอักเสบบี ที่อายุประมาณ 9 เดือน – 1 ปี เพื่อยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบีจริง และยืนยันว่าไม่ติดไวรัสชนิดนี้ด้วย

2. วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน แบ่งเป็นชนิดไอกรนทั้งเซลล์(DTwP) และไอกรนไร้เซลล์ (DTaP)ซึ่งสามารถใช้แทนชนิดไอกรนทั้งเซลล์(DTwP) ได้ทุกครั้ง และลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงเช่น ไข้สูง ร้องกวน ตัวอ่อนปวกเปียกที่มักเกิดในช่วง 48 ชั่วโมงหลังจากฉีดวัคซีนชนิดไอกรนทั้งเซลล์ได้ เริ่มให้ที่อายุ 2 4 และ6 เดือน

3. วัคซีนฮิบ (Hib) เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Haemophilus Influenzae Type b ที่ก่อโรคในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เเละก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด วัคซีนฮิบอยู่ในรูปแบบรวมกับวัคซีน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนตับอักเสบบี และโปลิโอชนิดฉีด เริ่มให้ที่อายุ 2,4, 6 เดือน

4. วัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อตาย (IPV) ปัจจุบันมีอยู่ในรูปวัคซีนรวมเข็มกับ DTaP เป็นวัคซีนที่ทําจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว ประกอบด้วยเชื้อโปลิโอ 3 สายพันธุ์

5. วัคซีนป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ปัจจุบันแนะนำเริ่มให้เข็มแรกที่อายุ 9 เดือน - 1 ปี การที่รับวัคซีนก่อนหน้าเร็วเกินไป วัคซีนจะไม่สามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันเนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันของแม่ที่ยังหลงเหลืออยู่ ขัดขวางการสร้างภูมิในตัวของเด็ก

6. วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live-JE) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง เริ่มฉีดที่อายุ 9 เดือน - 1 ปี เนื่องจากการได้รับวัคซีนเข็ม 2 ทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงและอยู่นานในเด็ก จึงแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม โดยฉีดกระตุ้นอีก1-2 ปี หลังจากเข็มแรก

7. วัคซีนโรต้า (Rota) ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า ที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็กที่พบบ่อย และอาการรุนแรงโดยเฉพาะทารกและเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ปัจจุบันยังไม่มียารักษาจำเพาะ แต่มีวัคซีนป้องกันเป็นแบบรับประทานชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ มีทั้งชนิดหยอด 2 ครั้ง และ 3 ครั้ง

8. วัคซีนบีซีจี (BCG : Bacillus Calmette Guerin) วัคซีนป้องกันวัณโรค ฉีดตั้งแต่แรกเกิด ภูมิต้านทานต่อเชื้อวัณโรคจะเกิดเต็มที่ประมาณ 2 เดือนหลังได้รับวัคซีน มีประสิทธิภาพดีต่อการป้องกันวัณโรคระยะแรกในเด็ก โดยเฉพาะวัณโรคเยื่อหุ้มสมองและวัณโรคชนิดแพร่กระจาย สามารถป้องกันได้สูงถึงร้อยละ 52-100 และสามารถป้องกันวัณโรคปอดในเด็กได้ร้อยละ 53

 
 
วัคซีนเสริมเพิ่มภูมิต้านทานโรคอื่น ๆ หรือวัคซีนทางเลือก

1. วัคซีนโรต้า มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ Monovalent (Human) ให้กิน 2 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2และ 4 เดือน และชนิด pentavalent (Bovine- Human) ให้กิน 3 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 2,4,6 เดือน

2. วัคซีนนิวโมคอคคัส ป้องกันปอดอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ

3. PCV ฉีดช่วงอายุ 2 46 เดือน และกระตุ้น 12-15 เดือน - PS23 ฉีดช่วงอายุ 2 ปี ขึ้นไป

4. วัคซีนฮิบ (Haemophilusinfluenzae type b) ควรฉีดตามช่วงอายุตั้งแต่ 2, 4 และ 6 เดือน และฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน

5. วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรฉีดในเด็กตามช่วงอายุ ตั้งแต่ 12 -18 เดือน และ4-6 ปี ตามลำดับ รวมทั้งหมด 2 เข็ม

6. วัคซีนตับอักเสบ เอ ฉีดช่วงอายุ 1 ปีขึ้นไป และเข็มที่ 2 ห่างกัน 6- 12 เดือน

7. วัคซีนไข้เลือดออก ฉีดช่วงอายุ 9 ปีขึ้นไป ฉีด 3 เข็ม เดือนที่ 0 ,6, 12 ในผู้ที่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน

 
 
ข้อควรรู้ก่อนการเข้ารับวัคซีน
  • ควรนำสมุดบันทึกวัคซีนมาด้วยทุกครั้ง
  • ไม่ควรรับวัคซีนขณะที่มีไข้สูง หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน ยกเว้นเป็นหวัด ท้องเสียโดยไม่มีไข้สามารถรับ วัคซีนได้
  • หลังรับวัคซีนควรอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 30นาทีเพื่อดูปฏิกิริยาแพ้ยา
  • หากเคยฉีดยาแล้วมีอาการแพ้ยา แพ้อาหาร เช่น มีอาการแพ้ไข่แบบรุนแรง กรุณาแจ้งกุมารแพทย์หรือพยาบาล
 
ที่มา
https://www.nakornthon.com/article/detail/ลูกน้อยแข็งแรงด้วยการรับวัคซีนพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิด-1ปี
https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-แม่และเด็ก/วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กแรกเกิด--12-ปีที่พ่อแม่ต้องรู้ 
https://www.synphaet.co.th/children-ramintra/วัคซีนสำหรับเด็ก-ตั้งแต/