'หมอยง' เผย พบผู้มีอาการเยื่อหุ้มและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีน mRNA
logo ข่าวอัพเดท

'หมอยง' เผย พบผู้มีอาการเยื่อหุ้มและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีน mRNA

ข่าวอัพเดท : วันนี้ (1 ต.ค.64) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ หมอยง,กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ,วัคซีนMRNA,ยงภู่วรวรรณ,วัคซีนโควิด19,วัคซีนโควิด,ผลข้างเคียง,ฉีดวัคซีน

1,644 ครั้ง
|
01 ต.ค. 2564
วันนี้ (1 ต.ค.64) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอาการเยื่อหุ้มและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด ชนิด mRNA ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan โดยหมอยงได้ระบุข้อความว่า
 
 
"เยื่อหุ้มและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด ชนิด mRNA อุบัติการณ์ของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิดชนิด mRNA มีแนวโน้มรายงานเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นเพราะเฝ้าสังเกตอาการมากขึ้น โดยพบในผู้อายุน้อยมากกว่าอายุมาก เช่นในเด็กอายุ 12 ถึง 17 ปี ผู้ชายพบมากกว่าผู้หญิง อาการเกิดหลังฉีดวัคซีนเข็ม 2 มากกว่าเข็มแรกอย่างชัดเจน การประเมินความเสี่ยงและประโยชน์จากวัคซีนในเด็กจึงขึ้นอยู่กับอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น 
 
 
ขณะนี้มีการรายงานที่มีตัวเลขแตกต่างกันมาก เช่นในเด็กชายอายุ 12-17 ปี หลังการฉีดวัคซีนเข็ม 2 จากเดิมรายงาน 60 รายใน 1 ล้าน เพิ่มขึ้นเป็นในเด็กชายอายุ 12-15 ปี สูงถึง 162 รายใน 1 ล้าน และอายุ 16-17 ปี พบ 94 รายใน 1 ล้าน ส่วนใหญ่มีอาการใน 1-7 วันหลังได้รับวัคซีน แต่อาจพบได้นานถึง 6 สัปดาห์
 
 
อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ มีส่วนน้อยที่ต้องให้การรักษาด้วย IVIG ผู้ป่วยที่ตรวจพบมีความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจมักกลับมาปกติภายใน 3 เดือน แต่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบระยะยาว
 
 
ทำไมพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทำไมพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ทำไมพบในการฉีดเข็ม 2 มากกว่าเข็มแรก คงต้องรอคำตอบการศึกษากลไกการเกิดโรค ในปัจจุบันกลไกการเกิดภาวะดังกล่าวยังไม่ทราบ
 
 
การแนะนำให้หยุดออกกำลังกายภายหลังการฉีดวัคซีน 1-2 สัปดาห์ ไม่ลดผลของการเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน แต่จะลดอาการที่เกิดจากการมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบไม่ให้มีความรุนแรงได้
 
 
ถึงแม้ความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนชนิด mRNA จะพบได้น้อย แต่ยังคงต้องมีการศึกษาถึงหลักเกณฑ์การวินิจฉัย การตรวจวินิจฉัย การส่งต่อและการรักษาที่เหมาะสม ผลกระทบระยะยาวต่อประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ รวมทั้งการออกคำแนะนำการกลับมาออกกำลังกายหรือพฤติกรรมตามปกติของผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน นอกจากนี้ควรศึกษาถึงกลไกการเกิดที่จำเพาะ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ปัจจัยทางพันธุกรรม และประชากรกลุ่มเสี่ยง