วันที่ 23 ก.ค. 64 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง มาตรการสำหรับบริษัทประกันวินาศภัยที่มีค่าสินไหมทดแทน โควิด-19 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2564
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด มีความรุนแรงกว่าที่คาดคิด ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทประกันวินาศภัยจำนวนหนึ่ง ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากกรณีดังกล่าวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัท รวมทั้งเพื่อให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับฐานะการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ และสามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว คปภ. จึงได้ออกมาตรการเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องในการดำเนินงานให้กับบริษัทประกันวินาศภัย 7 มาตรการ ดังนี้
1. ยกเว้นการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการประกันภัยจากการรับประกันภัย โควิด-19
2. ให้สามารถนับเงินกู้ยืมด้อยสิทธิ์ตามลักษณะที่กำหนดมาเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ได้
3. ผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ขั้นต่ำ
4. ยกเว้นการนำค่าเผื่อความผันผวนที่เรียกว่า provision of adverse deviation (PAD) มาคำนวณเงินกองทุน
5. สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วันมาใช้ในเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง
6. สามารถนำเบี้ยประกันภัยค้างรับที่มีระยะเวลาการค้างชำระไม่เกิน 30 วันมาใช้ในการคำนวณเงินสำรอง
7. อนุญาตให้บริษัทมีสัดส่วนของเงินสดและเงินฝากธนาคารที่บริษัทใช้สำหรับการบริหารสภาพคล่องได้เกินร้อยละ 5
“มาตรการผ่อนผันดังกล่าวเป็นกลไกชั่วคราวที่มุ่งช่วยเหลือบริษัทประกันภัยที่ประสบปัญหาสภาพคล่องรายกรณี โดยจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัย COVID-19 ให้มีเงินเพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะกำกับดูแลและติดตาม ตรวจสอบฐานะการเงินและความมั่นคง รวมถึงสภาพคล่องของบริษัทอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยมาตรการผ่อนผันนี้ไม่ได้เป็นการยกเว้นกลไกของกฎหมายตามปกติ แม้บริษัทประกันภัยจะได้รับมาตรการผ่อนผัน แต่หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด นายทะเบียนก็มีอำนาจยกเลิกการผ่อนผันได้ หรือหากมีการดำเนินการใด ๆ ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย สำนักงาน คปภ. ก็พร้อมที่จะใช้มาตรการทางกฎหมายตามช่องทางปกติ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย ซึ่งกลไกทางกฎหมายตามบทบัญญัติต่าง ๆ ที่สำนักงาน คปภ. จะสามารถเข้าไปควบคุมดูแลก็ยังคงอยู่ จึงขอให้มั่นใจว่าสำนักงาน คปภ. จะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านประกันภัยและไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัยติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าว
+ อ่านเพิ่มเติม