กลายเป็นปรากฎการณ์ไปทั่วเอเชีย สำหรับแอนิเมชั่น (อนิเมะ) Demon Slayer the Movie หรือ ดาบพิฆาตอสูร: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์ อนิเมะชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น ที่กวาดรายได้ถล่มทลายทั้งในประเทศบ้านเกิด และประเทศไทย พิสูจน์ได้จากตัวเลขรายได้อันดับหนึ่งตลอดกาลในญี่ปุ่น และทะลุ 120 ล้านบาท ในไทย
แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะในช่วงปลายปียังมีแอนิเมชั่นอีกเรื่อง ที่แม้ว่ากระแสอาจจะไม่แรงเท่า แต่เนื้อหาภายในเรื่องก็ทำให้ Soul อัศจรรย์วิญญาณอลเวง แอนิเมชั่นเรื่องใหม่จาก Disney’s Pixar กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ น่าจับมาพูดถึง
Demon Slayer เลือกจะปลูกฝังแนวคิดอนุรักษ์นิยมในสไตล์ตะวันออก ทั้งความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ, แนวคิดผู้เข้มแข็งต้องปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า, ความเมตตา และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมไปถึงการสอดแทรกความเป็นชาตินิยม ผ่านการต่อสู้สไตล์ซามูไร และการเข้าปะทะของวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออก ทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านแอนิเมชั่นแอ็คชั่นสีสันสวยงามที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
ขณะเดียวกัน Soul ก็เลือกทำในสิ่งที่สตูดิโอถนัด กับการเล่าเรื่องที่แสนจะเข้าใจยาก ทั้งชีวิตหลังความตาย, การค้นหาความหมายของชีวิต, การใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข หรือ Passion กับงานที่ได้เงิน สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน? แปลงมันให้ออกมาเป็นงานภาพอันสดใส พร้อมด้วยบทภาพยนตร์ฟีลกู๊ด และบทเพลงแสนไพเราะ
ทั้ง 2 เรื่องได้นำข้อความที่แสนจะเข้าใจยาก สอดแทรกมาให้ผู้ชมวัยเยาว์ทั้งหลายได้สัมผัสอย่างทรงพลังเสียยิ่งกว่าหนังสือสอนชีวิตเรื่องไหนจะทำได้ น่าสนใจทีเดียวว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อเด็ก ๆ ที่ได้ชมภาพยนตร์เหล่านี้เติบโตขึ้นในอนาคต
สิ่งเหล่านี้ล้วนเรียกว่า Soft Power หรือ พลังที่ซ่อนไว้ของ สื่อ ในการปลูกฝังค่านิยม, ความเชื่อ รวมถึงวัฒนธรรมต่าง ๆ ให้กับผู้คน ส่วนใหญ่แล้วกลุ่มเป้าหมายมักจะเป็นเด็ก ๆ หรือเยาวชน เน้นไปที่การปลูกฝังแนวความคิดที่สังคมต้องการ ชวนให้สงสัยว่า เรื่องยาก ๆ พวกนี้ เด็กมันจะเข้าใจได้จริงเหรอ?
อ้างอิงจากงานวิจัยของ Joshua P Smith ที่บอกว่า แม้ว่าเด็กในช่วงอายุ 3 ถึง 5 ขวบ อาจจะไม่เข้าใจเนื้อหาของสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ได้ทั้งหมด แต่พวกเขาสามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์อันแสนซับซ้อนที่ซ่อนไว้ในเรื่อง
ส่วนผู้ชมที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นนั้น Omar Gudino นักจิตวิทยาเด็ก ก็ได้กล่าวว่า พวกเขาจะได้รับความสามารถในการแทนตัวเองเข้าไปในตัวละครที่พวกเขาชม แล้วนำพฤติกรรมของตัวละครเหล่านั้นมาตัดสิน รวมถึงประเมินเข้ากับพฤติกรรมของตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
ในยุคสมัยนี้เราอาจจะได้เห็นสื่อที่ว่าถูกสร้างออกมาในรูปแบบ การ์ตูน, มังงะ หรือแอนิเมชั่น แต่สิ่งเหล่านี้มักจะถูกเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หากจะเปรียบเทียบกับในวัฒนธรรมไทย เราก็คงจะนึกไปถึงบรรดาวรรณกรรม หรือวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ อาทิ สุภาษิตสอนหญิง ที่ประพันธ์โดย สุนทรภู่ ที่เน้นไปที่ค่านิยมที่ ‘อยากจะให้ผู้หญิงเป็น’ ในยุคสมัยนั้น หรือบรรดาละครโทรทัศน์ต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันที่อาจจะไม่ได้สอนกันออกมาโต้ง ๆ แต่การผลิตซ้ำ ๆ ออกมาอยู่เรื่อย ๆ สิ่งที่ต้องการสื่อก็ย่อมสอดแทรกเข้าไปในพฤติกรรมของผู้ชมทีละน้อย
เรื่องราวต่าง ๆ ที่สื่อ หรือแอนิเมชั่นนำเสนอ ย่อมมีผลต่อพฤติกรรมของผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมที่อยู่ในวัยเด็ก และวัยรุ่น ที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่จะสร้างบุคลิก และสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมา ทำให้การใช้ Soft Power ผ่านแอนิเมชั่น สามารถที่จะปลูกฝังผู้ชมในกลุ่มเยาวชนได้อย่างทรงพลัง
เราจึงอาจจะพูดได้ว่า สิ่งที่สื่อมวลชนถ่ายทอดออกมา มันไม่ได้เป็นเพียงแค่การสะท้อนภาพของสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะสามารถสร้างบุคคลให้ออกมาสอดคล้องกับรูปแบบที่สังคมต้องการอีกด้วย
หากต้องการให้คนในสังคมเป็นแบบไหน ก็จงสร้างสื่อออกมาแบบนั้น…
ข้อมูลจาก
https://www.thailandboxoffice.com/2021/01/04/thailand-box-office-89/
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25695201/
https://www.businessinsider.com/why-pixar-movies-are-so-good-2015-7