ฝ่ายค้านรับหลักการ รธน. 7 ร่าง ยันไม่นิรโทษกรรม 2 อดีต นายกฯ - พปชร. ยังกั๊กโหวตมติร่างไอลอว์
logo ข่าววันใหม่

ฝ่ายค้านรับหลักการ รธน. 7 ร่าง ยันไม่นิรโทษกรรม 2 อดีต นายกฯ - พปชร. ยังกั๊กโหวตมติร่างไอลอว์

ข่าววันใหม่ : ฝ่ายค้านมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง ชี้ร่างของไอลอว์ไม่ขัดต่อหลักกฏหมาย ยันไม่มีนิรโทษกรรมพา ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ กล ฝ่ายค้าน,ไอลอว์,นิรโทษกรรม,ร่างแก้รัฐธรรมนูญ

539 ครั้ง
|
17 พ.ย. 2563
ฝ่ายค้านมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง ชี้ร่างของไอลอว์ไม่ขัดต่อหลักกฏหมาย ยันไม่มีนิรโทษกรรมพา “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” กลับบ้าน เป็นเพียงการใส่ร้ายป้ายสี
 
 
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุมหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ว่าทั้ง 6 พรรค มีมติรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง
 
 
สำหรับร่างของไอลอว์ ที่หลายฝ่ายมองว่ามีปัญหาหลายประเด็นนั้น ฝ่ายค้านมองว่าการนำเสนอกฎหมายของประชาชนถือเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างหนึ่ง และมีความเห็นสอดคล้องในหลักการเช่นเดียวกับร่างของฝ่ายค้านและรัฐบาลว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาจะต้องได้รับการแก้ไข โดยมมีส.ส.ร.มายกร่างแก้ไข และที่สำคัญคือร่างของไอลอว์ไม่มีประเด็นใดขัดต่อหลักกฎหมาย ดังนั้นต้องรับฟังเสียงของประชาชนเป็นหลัก และพร้อมสนับสนุนร่างของไอลอว์ เช่นเดียวกับอีก 6 ร่าง
 
 
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า วันที่ 17-18 พฤศจิกายน เป็นการประชุมครั้งสำคัญเพื่อกำหนด อนาคตการเมืองไทยว่าว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยโดยสันติหรือไม่
 
 
สภารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญเพียงร่างใดฉบับหนึ่งนั้นไม่เพียงพอต่อการคลี่คลายสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ต้องรับหลักการทั้ง 7 ร่าง และเป็นโอกาสที่นายกรัฐมนตรี ที่จะแสดงความจริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะบอกว่าเป็นเรื่องของสภาก็ตาม เพราะเชื่อว่าการตัดสินใจนายกรัฐมนตรีมีส่วนกำหนดท่าที ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว. อย่างแท้จริง
 
 
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีนัยยะสำคัญโดยเฉพาะการนิรโทษกรรมนำนายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีกับบ้านนั้น นายชูศักด์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยัน แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ไม่มีการยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดสูญญากาศ หรือ มีการนิรโทษกรรมอย่างแน่นอน ข่าวดังกล่าวเป็นเพียงการใส่ร้ายป้ายสีเท่านั้น
 
 
นอกจากนี้นายชูศักดิ์ เปิดเผยได้ว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียม จะยื่นร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งร่างของฝ่ายค้านจะเน้นการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แทนการเอาผิดหรือควบคุมสิทธิเสรีภาพอย่างเช่นร่างของรัฐบาล มีการออกเสียงอย่างเป็นธรรม เปิดช่องให้มีการทำประชามติและระดับท้องถิ่นได้ เพราะเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในขั้นพื้นฐานสู่ระดับท้องถิ่น
 
 
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีการประชุมพรรคพลังประชารัฐ โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคและประธานวิปรัฐบาล ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อกำหนดท่าทีของพรรคต่อการประชุมร่วมรัฐสภา ในระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย. เพื่อพิจารณาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 1 ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลัก รัฐสภาทั้ง 6 ฉบับ พิจารณาเสร็จแล้ว
 
 
โดย น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคพลังประชารัฐ แถลงภายหลังการประชุมว่า มติพรรคพลังประชารัฐยืนยันตามมติวิปรัฐบาล คือ รับหลักการในร่างที่ 1 ของนายสมพงษ์ อมรวิฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและคณะเป็นผู้เสนอ และร่างที่ 2 ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลและคณะเป็นผู้เสนอ ส่วนร่างที่ 3-6 งดออกเสียง เพราะเนื้อหาครอบคลุมเหมือนกับร่างที่ 1 และ 2 แล้ว สำหรับร่างที่ 7 ของกลุ่มไอลอว์ นั้น จะขอฟังจากสมาชิกทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว. ก่อนจะตัดสินใจในการลงมติอีกครั้ง
 
 
ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ยืนยันว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้อู้หรือยื้อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหากมีการลงมติในวันที่ 23-24 ก.ย.ที่ผ่านมา ก็คาดว่าจะไม่ผ่านแน่นอน แต่ภายหลังได้มีการตั้งรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ก็สามารถมีการทำความเข้าใจ ชี้แจงเหตุผลและอะไรที่เป็นจุดอ่อนก็นำไปพิจารณาในวาระ 2-3 ต่อไป ดังนั้นจึงเชื่อว่าในการลงมติร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะลงมติรับหลักการ 
 
 
 
 
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/NyCF7KLanqM
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง