พรรคไหนใครบ้าง ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ!
logo TERO HOT SCOOP

พรรคไหนใครบ้าง ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ!

2,631 ครั้ง
|
25 ก.ย. 2563

จากกรณี ที่ประชุมรัฐสภามีมติ  432 เสียง ต่อ 255 เสียง เห็นชอบตั้งกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่วมกับ ส.ว. อีก 1เดือน ตามที่พรรคพลังประชารัฐใช้สิทธิ์เสนอญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวานนี้ระหว่างจะมีการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ทำให้ต้องเลื่อนการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในสมัยประชุมหน้าที่จะไปเริ่มเปิดสมัย ในวันที่ 1 พ.ย.นั้น  

 

จากการตรวจสอบรายงานการประชุมพบว่า  432 คน แบ่งเป็น  ส.ส. 203 คน  ส.ว. 229 คน  ร่วมเห็นชอบ โดยประเด็นที่น่าสนใจ  คือ

ส.ว. มีเพียง 3 คน ที่ไม่เห็นชอบ สวนทางกับสมาชิกคนอื่นๆ ประกอบด้วย

-  พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์

-  นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป

-  นายพิศาล มาณวพัฒน์

ส่วน ส.ว.ที่ออกมาประกาศตัวชัดเจนก่อนหน้านี้ว่าเห็นด้วยให้แก้รัฐธรรมนูญและยอมตัดอำนาจตัวเอง อย่าง นายคำนูณ สิทธิสมาน  และนายวันชัย สอนศิริ  กลับ “งดออกเสียง”

 

ฝั่ง ส.ส. ที่น่าสนใจ

-  พรรคเพื่อไทย มีเพียง 1 คนที่ลงมติเห็นด้วย สวนทางกับฝ่ายค้าน คือนายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์  ส.ส.ปทุมธานี

-  พรรคก้าวไกล งดออกเสียง 1คน ทั้งที่ทั้งพรรคออกเสียงไม่เห็นด้วย คือนายคำพอง เทพาคำ

-  พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล กลับ มีมติสวนทางกับพรรครัฐบาล  ลงมติไม่เห็นด้วย49 คน   เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน และมีเพียง 2 คนที่เห็นด้วย  ได้แก่ นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร และนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส. ราชบุรี

-  ส่วนพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยยกพรรค

-  ขณะที่พรรคเล็ก อย่าง ชาติพัฒนา พลังท้องถิ่นไทย  ไทยศรีวิไลย์  ใช้วิธีการ งดออกเสียงและไม่ลงคะแนนเพื่อสงวนท่าที

 

 

ทั้งนี้ภาพรวมเหตุผลของฝ่ายเห็นด้วยให้มีการเลื่อนการลงมติอออกไปสมัยประชุมหน้า อาทิ

1.  เห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญควรพิจารณาอย่างรอบคอบ

2.  หากดึงดันลงมติ อาจทำให้ร่างทั้งหมดถูกคว่ำเพราะเสียง ส.ว. รวมกับพรรคพลังประชารัฐและภูมิใจไทย เกินครึ่งรัฐสภา

3.  เห็นว่า ส.ว. ไม่ได้มีส่วนร่วมศึกษามาตั้งแต่ต้น

4.  ป้องกันการกระทำที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะควรทำประชามติถามประชาชนก่อน

 

ส่วนเหตุผลของฝ่ายที่ต้องการให้ลงมติแก้รัฐธรรมนูญทันที เห็นว่า

1.  หากรับหลักการไปก็ต้องตั้งกรรมาธิการมาพิจารณาร่วมกันทุกฝ่ายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมาตั้งกรรมาธิการก่อนรับหลักการ

2.  การยอมรับหลักการเป็นเพียงกระบวนการเริ่มต้น สามารถผ่อนคลายสถานการณ์ทางการเมืองไปได้

3.  มองว่าการเลื่อนออกไปเป็นความพยายามยื้อเวลาไปเรื่อยๆ

4.  การเลื่อนไปสมัยหน้ามีความเป็นไปได้ที่ เสียงข้างมากจะลงมติคว่ำร่างทั้งหมดได้พร้อมกับร่างฉบับประชาชนของไอลอว์ ที่ยื่นเข้ามาด้วย ทำให้ตลอดสมัยประชุมหน้าจะไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีก

 

 

ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น ทีมข่าวการเมือง รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง