เปิดบันทึก.!! การประชุม กมธ.กฎหมายฯ ยุค สนช. ปมพิจารณา “บอส อยู่วิทยา” ขอความเป็นธรรมหวังรอดคดี
logo TERO HOT SCOOP

เปิดบันทึก.!! การประชุม กมธ.กฎหมายฯ ยุค สนช. ปมพิจารณา “บอส อยู่วิทยา” ขอความเป็นธรรมหวังรอดคดี

2,522 ครั้ง
|
08 ส.ค. 2563

 จากกรณีรองอัยการสูงสุด นายเนตร นาคสุข มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ในคดีที่ “นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา”  ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  จากกรณีขับรถเฟอร์รารี่ ชนกับ รถจักรยานยนต์ตำรวจ ของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ปี2555 และมีการยื้อคดีมาหลายปีเพราะผู้ต้องหาหลบหนี ทำให้หลายข้อหาหมดอายุความ  เหลือเพียง ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ที่ “รองอัยการสูงสุด” เพิ่งมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยืนฟ้องมาโดยตลอด จนเป็นประเด็นขัดแย้งกับกระแสสังคมที่ไม่เห็นด้วย

   ทีมข่าวการเมืองช่อง 3 ได้ ไปตรวจสอบเรื่องนี้พบว่าปัจจัยสำคัญในการกลับสำนวน ไม่ฟ้องในคดีนี้เนื่องจาก “นายวรยุทธ” มีการร้องขอความเป็นธรรมอยู่หลายครั้งต่ออัยการสูงสุด แต่อัยการยุติเรื่องไปแล้ว จึงมีการไปร้องขอความเป็นธรรม ต่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.) ยุค คสช. เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2559 ก่อนที่อัยการจะกลับสำนวนสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ
 


เปิดบันทึกการประชุม กมธ.กฎหมาย สนช.
ทีมข่าวได้รวบรวมบันทึกการประชุมของ กมธ.กฎหมาย สภา สนช. มีกว่า 200 หน้า ประกอบด้วย รายงานการประชุม เอกสารร้องเรียนของนายวรยุทธ อยู่วิทยา คำให้การของพยาน พนักงานสอบสวน อัยการ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งสิ้น 9 ปาก รายงานการคำนวณความเร็วของ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม  และรายงานผลการศึกษาสอบสวนข้เท็จจริงของ กรรมาธิการฯ
 

การทำงานของ กมธ.กฎหมาย สนช.
กมธ.กฎหมาย ได้มีการตั้งคณะทำงาน ขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้หลังมีมติรับคำร้อง เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2559 ซึ่งคณะทำงานประชุมพิจารณาเรื่องนี้ทั้งสิ้น 6 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ถึงวันที่ 9 ธ.ค. 2559 มีวิธีการพิจาณาจากข้อมูลคำร้องเรียนและเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อเท็จจริงรวมทั้งสิ้น 9 คน ประกอบด้วย
- นายสุทธิ กิตติสุภพร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้
- พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี  พนักงานสอบสวน เจ้าของสำนวน
- พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียม สารวัตรงานช่างเครื่องยนต์ที่ไปตรวจสภาพรถหลักเกิดเหตุ
- นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์พงศ์ รองอัยการสูงสุดในขณะนั้น ที่ยืนสั่งฟ้องคดี
- พลอากาศโทจักรกฤช ถนอมกุลบุตร พยานผู้เห็นเหตุการณ์
- พลอากาศโทสุรเชษฐ์ ทองสลวย พยานผู้เห็นเหตุการณ์
- เรืออากาศเอกสะอาด ศบศาสตราศร  พยานที่เกี่ยวข้องกับพลอากาศโทจักรกฤช
- พลอากาศเอกกันต์ พมานทิพย์  พยานที่เกี่ยวข้องกับเรืออากาศเอกสะอาด
- และรศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมการประเมินฯ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ที่คำนวณความเร็วรถนายวรยุทธ ได้ ไม่ถึง 80 กม./ชม.


 

ไทม์ไลน์คดี “บอส อยู่วิทยา”
- เหตุการณ์เกิดเมื่อ 3 ก.ย. 2555


- 4 มี.ค. 2556 พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้ส่งสำนวนสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เห็นควรสั่งฟ้องนายวรยุทธใน 2ข้อหา ประกอบด้วย
1. ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย
2.ข้อหาชนแล้วหนี
จาก 4 ข้อหา โดยพนักงานสอบสวน เห็นควรสั่งไม่ฟ้องใน 2 ข้อหา คือ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กำหนด และข้อหาเมาแล้วขับ  


- วันที่ 2 พ.ค. 2556 อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้องใน 3 ข้อหา โดยเพิ่มข้อหาที่3 ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเข้าไปด้วย เพราะเชื่อว่า “นายวรยุทธ” รถขับในความเร็วโดยเฉลี่ย 177 กม./ชม. ตามที่  พ.ต.ท.สิทธิ แตงจั่น ตำรวจพิสูจน์หลักฐานที่บันทึกข้อมูลไว้หลังเกิดเหตุ เป็นเหตุให้นายวรยุทธ ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดอยู่หลายครั้ง เพราะหลังเกิดเหตุ  พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียม สารวัตรงานช่างเครื่องยนต์ตรวจพิสูจน์สภาพรถที่เกิดเหตุ ได้ให้การว่า สภาพรถที่เกิดเหตุทั้ง 2คันเสียหายไม่มาก “สันนิษฐานได้ว่ารถทั้ง2คันน่าจะวิ่งด้วยความเร็วด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม.
ความเร็วรถพลิก จาก 177 เป็น 79 กม./ชม.


- 14 ม.ค. 2559 รองอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่ายังไม่สิ้นกระแสความ จึงได้ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 ( 2 ) ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนไปสอบสวน “ พ.ต.ท.ธนสิทธิ แตงจั่น” พยานของฝั่งตำรวจที่ระบุความเร็วรถนายวรยุทธในสำนวนครั้งแรก 177 กม./ชม. ซึ่ง พ.ต.ท.ธนสิทธิ ได้ให้การหลังการสอบสวนเพิ่มเติม ใน 3 ประเด็นสำคัญคือ  
1.การคำนวณความเร็วในครั้งหลังได้อัตราความเร็วรถเฟอร์รารี่ 79.23 กม./ชม. หักล้างกับครั้งแรก 177 กม./ชม. เพราะเกิดความผิดพลาดในการคำนวณจากการวัดระยะทาง การตคำนวณความเร็วครั้งหลังตรงกับความจริงมากที่สุด
2.รถจักรยานยนต์ของ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ไม่ได้ถูกรถเฟอร์รารี่ลากไปแต่อย่างใด
3.กรณีที่ไม่พบรอยเบรก สันนิษฐานว่าไม่ได้เหยียบเบรก หรือเหยียบแต่คุณภาพของรถทำให้ไม่มีรอยเบรกเกิดขึ้น  


อัยการยืนยันสั่งฟ้อง
วันที่ 11 เม.ย. 2559 รองอัยการสูงสุดกลับมีคำสั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ โดยไม่ได้นำคำให้การของ พ.ต.ท. ธนสิทธิ ที่ให้การเพิ่มเปลี่ยนแปลงความเร็วในครั้งหลังมาพิจารณา โดยเห็นว่าคำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการนั้นชอบด้วยข้อเท็จจริงข้อกฎหมายแล้ว ทำให้มีการร้องขอความเป็นธรรม ต่อ สนช.
 
ขอให้สั่งไม่ฟ้อง
ในรายงานผลการพิจารณา ของ กมธ.กฎหมาย สนช. ระบุจุดประสงค์ของ นายวรยุทธ คือขอให้แจ้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ และนำคำให้การ รวมทั้วรายงานการตรวจพิสูจน์ความเร็วมาประกอบการพิจารณาคดี และสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้
 
การรวบรวมข้อเท็จจริง  
ข้อเท็จจริงในคำร้องเรียน ว่า นายวรยุทธได้มีการร้องขอความเป็นธรรม ต่อ กรรมาธิการ  สนช. 3 ครั้ง


- ครั้งแรก วันที่ 4 พ.ค. 2559 นายวรยุทธได้ร้องขอความเป็นธรรม ในประเด็น การสอบสวนเพิ่มเติม  พ.ต.ท.ธนสิทธิ ที่กลับคำให้การ จากความเร็วรถ 177 กม./ชม. เป็น79.23 กม./ชม. ซึ่งหักล้างกับการคำนวณครั้งแรก แต่ รองอัยการสูงสุด ไม่นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจาณาสั่งคดี
 
- ครั้งที่2  วันที่ 21 ก.ค. 2559 หลังพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า พลอากาศโทจักกฤช ถนอมกุลบุตร และพลอากาศโทสุรเชษฐ์ ทองสลวย เป็นประจักษ์พยานในคดีนี้ และให้การเห็นว่ารถของ ด.ต.วิเชียรขับเปลี่ยนเลนกระทันหันจนเกิดอุบัติเหตุชนกับรถของนายวรยุทธ

 
- ครั้งที่ 3 วันที่ 9 ส.ค. 2559 หลังได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อมูลของ พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียม ที่ นายตำรวจพิสูจน์สภาพรถและเชื่อว่า นายวรยุทธ ขับเร็บไม่เกิน 80 กม./ชม. นั้น สอดคล้องกับ พล.ต.ท.สุรพล เดชวิรัตนวิไชย ผู้เชี่ยวชาญของศาล
 

พนง.สอบสวนไม่ฟ้อง “ข้อหาขับเร็วเกินกำหนด”
   พันตำรวจเอกวิรดล ทับทิมดี พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน ให้การว่า พนักงานสอบสวนได้ส่งภาพจากกล้องวงจรปิดให้กองพิสูจน์หลักฐานคำนวณความเร็วของรถจึงมีการคำนวณได้ 177 กม./ชม. แต่พนักงานสอบสวนเชื่อตามคำให้การของพันตำรวจโทสมยศ แอบเนียม ผู้ที่ตรวจสอบสภาพรถ  ที่เชื่อว่าไม่เกิน 80 กม./ชม. จึงสั่งไม่ฟ้องข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในชั้นพนักงานสอบสวน  
   และจากการสอบสวน เห็นว่ารถจักรยานยนต์ ของ ด.ต.วิเชียร อาจเปลี่ยนเลนเพราะรถ ด.ต.วิเชียร ถูกชนจากด้านหลัง พบร่องรอยความเสียหาย ท่อไอเสีย สอดรับ “นายจารุชาติ มาดทอง” พยานขับกระบะในที่เกิดเหตุ ให้การเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2555 ว่า เห็น ด.ต.วิเชียร เปลี่ยนเลนจาก เลนที่1 มาเลน 2 ตัดหน้ารถตนกระทันหัน ทำให้ตนหักหลบไปทางซ้ายแทน ก่อนได้ยินเสียงชน กัน จึงสันนิษฐานว่า ด.ต.วิเชียร เปลี่ยนเลนไปช่องขวาสุด และเกิดอุบัติเหตุ
 


ตำรวจเชื่อว่าบอสขับเร็วไม่เกิน80

   พนักงานสอบสวนได้ฟังความเห็นของ พ.ต.ท. สมยศ แอบเนียม ที่ไปตรวจสอบความเสียหายของสภาพรถ และพบว่าความเสียหายเพียงเล็กน้อย ไม่น่าจะใช้ความเร็วถึง 177 กม./ชม.นั้น ให้การว่า หากมีความเร็วถึง 177 กม./ชม.จริง ย่อมมีความเสียหายมากกว่านี้ เช่น ล้อหลังจักรยานยนต์ ต้องบิดเป็นเลข 8 ซี่ลวดต้องหลุดออกจากล้อ แต่ความเร็วที่คำนวณได้ดูจากบาดแผลการชนแล้ว ดุมล้อหลังไม่แตก วงล้อซึ่งทำจากอลูมิเนียมไม่มีสภาพคด จึงเห็นว่าเฟอร์รารี่ไม่น่าจะขับเร็วเกินกว่า 80 กม./ชม. พนักงานสอบสวนจึงมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
 

ผ่านไป3ปี 4ทหารโผล่เป็นพยาน




  สำหรับข้อเท็จจริง ของรองอัยการสูงสุดขณะนั้นคือ นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์พงศ์ ให้การว่า หลังนายวรยุทธ ร้องขอความเป็นธรรม จึงได้พิจารณาให้พนักงานสอบสวนไปสอบสวนเพิ่มเติม ประจักษ์พยาน 2 ปาก และมีข้อเท็จจริง จึงปรากฏขึ้นใหม่ ก่อนจะพ้นจากตำแหน่ง ไป ในวันที่ 30 ก.ย. 2558 จึงไม่ได้พิจารณาสำนวนดังกล่าวเสร็จสิ้น
 
คณะทำงานของกรรมาธิการ จึงได้เชิญ "พลอากาศโทจักรกฤช ถนอมกุลบุตร" หนึ่งใน ประจักษ์พยาน ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุมาให้การว่า

  ขณะเกิดเหตุขับรถมากับ ประจักษ์พยาน อีกคนคือ "พลอากาศโทสุรเชษฐ์ ทองสลวย"  กลับจากเลี้ยงวันเกิด เสธไอซ์ "พลเอกไตรรงค์ อินทรทัต" ที่ร้านย่านถนนราชดำริ ก่อนถึงที่เกิดเหตุขับอยู่ในเลนที่2 มุ่งหน้าไปเอกมัยระหว่างซอยสุขุมวิท 45 กับ 47 พบรถจักรยานยนต์ ที่มีชายแต่งตัวคล้ายตำรวจเป็นคนขับ ขับส่ายไปส่ายมาทำท่าจะเปลี่ยนเลน  พลอากาศโทสุรเชษฐ์ จึงบอกให้จอดชิดซ้ายหยุดรถป้องกันการเฉี่ยวชน และได้เห็นรถจักรยานยนต์ขับปาด จากเลนที่ 1 ไปถึงเลนที่3 อย่างกระชั้นชิด จนเกิดการเฉี่ยวชนขึ้น โดยรถสปอร์ตในเลนขวาสุด หลังชนแล้ว รถสปอร์ตได้เบี่ยงมาจอด ช่องซ้ายสุด และเห็นตำรวจนอนห่างจากจุดชนประมาณ 50 เมตร ก่อนที่รถสปอร์ตจะขับออกไป
 
  พลอากาศโทจักรกฤช ให้การว่าหลังเกิดเหตุ ทราบข่าวทางโทรทัศน์ ว่าเป็นทายาทธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง เป็นคนชน แต่ไม่ได้ให้ความสนในอะไร กับเหตุการณ์ในคดีนี้ จนกระทั้ง เดือน เม.ย.2558 ได้พบกับนายทหารรุ่นพี่ คือ "เรืออากาศเอกสะอาด ศบศาสตราศร" และมาทราบว่ารุ่นพี่รู้จักกับ "นายเฉลิม อยู่วิทยา" บิดาของนายวรยุทธ จึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้รุ่นพี่ฟัง และ อีก1สัปดาห์ เรืออากาศเอกสะอาด ได้เดินทางมาพบขอให้ไปเป็นพยาน ต่อพนักงานสอบสวนในคดีนี้
 
  จากนั้นคณะทำงานได้เชิญ พลอากาศโทสุรเชษฐ ที่ขับรถมากับพลอากาศโทจักรกฤช และ เรืออากาศสะอาด คบศาสตราศร นายทหารรุ่นพี่ ของ พลอากาศโทจักรกฤช มาให้ข้อเท็จจริง ตรงกัน โดย พลอากาศโทสุรเชษฐ์ ทองสลวย ให้การเหมือนกับ พลอากาศโทจักรกฤช ว่าหลังทราบว่าคนที่ขับชน เป็น ทายาทธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ก็ไม่ได้ให้ความสนในอะไร กับเหตุการณ์ในคดีนี้ จนมีการร้องขอให้มาเป็นพยาน ขณะที่พลอากาศเอกกันต์ พิมานทิพย์ ให้การยืนยันว่า พลอากาศโทจักรกฤช และ พลอากาศโทสุรเชษฐ์ เคยมาเยี่ยมที่บ้าน และได้มีการพูดคุยกันถึงข่าวของนายวรยุทธ และพลอากาศโทจักรกฤช ก็เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งพลอากาศเอกกันต์ ยอมรับด้วยว่ารู้จักกับบิดาของนายวรยุทธ แต่ไม่ได้สนิทสนมกัน

อ.สายประสิทธิ์ คำนวณความเร็วบอส "ไม่ถึง 80"




  ในวันที่ 1 ก.ย. 2559 คณะทำงาน ได้มี การเชิญ "รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม" อาจารย์ จาก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ มาให้ข้อมูล เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ ก่อนที่กรรมาธิการ จะมีหนังสือขอความอนุเคราะห์ถึง ดร.สายประสิทธิ์ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2559 ให้คำนวณ ความเร็วของรถเฟอร์รารี่ ของนายวรยุทธ และการประชุมครั้งที่5 คือวันที่ 16 พ.ย. 2559 ได้เชิญ ดร.สายประสิทธิ์ มีชี้แจงข้อมูลการตรวจสอบ มีการจัดทำเป็นรายงาน ใช้ข้อมูลการคำนวณจากภาพกล้องวงจรปิด สันนิษฐานได้ว่ารถของนายวรยุทธ ไม่ได้ชนรถจักรยานยนต์ตรงแต่ชนในมุมที่ทำองศากัน มีการคำนวณความเร็วของยานยนต์ตามหลักวิชาการโดยใช้ระยะทางหารด้วยเวลา ซึ่งเวลาได้จากการบันทึกภาพในวิดีโอนับเป็นเฟรมภาพ และใช้ความยาวของรถเป็นตำแหน่งอ้างอิง ในมุมทแยงของรถ
 
 ซึ่งการคำนวณมีการระบุปัจจัยสำคัญในการคำนวณครั้งนี้ ได้ค่าความเร็ว 2 ค่า และอัตราการแสดงภาพของเครื่องฉายช้ากว่า เวลาปกติ อยู่4 เท่า เนื่องจาก กล้องวงจรปิดที่บันทึกภาพบันทึกได้เพียง 25 เฟรมต่อวินาที และไม่ใช่กล้องชนิด Hi Speed
 
  รายงานของ อ.สายประสิทธิ์ ยังระบุ ถึงการคำนวณหาความเร็วของรถจักรยานยนต์ ด.ต.วิเชียร ผู้ตายด้วย จากภาพกล้องวงจรปิดเหมือนกันวิธีการเดียวกันซึ่ง ด.ต.วิเชียร วิ่งอยู่ช่องซ้ายสุด มีอัตราความเร็วอยู่ระหว่าง 28.64- 31.37 กม./ชม. หรือ เฉลี่ย เป็น 30.005 กม./ชม. ช้า กว่า ผลการคำนวณที่ได้จากรถของนายวรยุทธเกือบครึ่งต่อครึ่ง
 
  ส่วนประเด็นสมรรถนะการห้ามล้อของรถเฟอร์รารี่ ที่ไม่พบรอยเบรก นั้นประเด็นนี้ อ. สายประสิทธิ์ก็มีการทดสอบ โดยตั้งสมมติฐานความเร็วรถที่ 80 กม./ชม. มีการทดสอบ 4 ครั้งด้วยแรงเบรกเท้าที่ต่างกับ พบว่า ครั้งที่ 1-3 ใช้แรงเบรก 14-26 กก. ระบบป้องกันการล็อกล้อ ABS ไม่ทำงาน แต่ครั้งที่ 4 ใช้แรงเบรกมากที่สุดถึง 60 กก. ในการเบรก ระยะการเบรกอยู่ที่ 29.4 เมตร ซึ่งใช้ระยะกระชั้นชิดกว่าครั้งที่ 1-3 พบว่าระบบ ระบบป้องกันการล็อกล้อ ABS ทำงาน ล้อจึงไม่ถูกล็อก ทำให้ไม่พบร่องรอยยางเบรกที่ล้อ โดยในเอกสารระบุว่าที่เป็นแบบนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิต

 
และในรายงาน อ.สายประสิทธิ์ ได้สรุปผลการวิเคราะห์ ทั้งหมดออกเป็น 5 ข้อด้วยกัน


1. ผลการคำนวณความเร็วรถเฟอร์รารี่ จากกล้องวงจรปิด มีค่าอยู่ระหว่าง 73.13-79.22 กม./ชม.

2. ผลการคำนวณความเร็วรถจักรยานยนต์ ดต.วิเชียร จากกล้องวงจรปิด มีค่าอยู่ระหว่าง 28.64-31.37 กม./ชม.

3. ผลการวิเคราะห์สาเหตุความเสียหายที่เกิดจากแรงกระแทกหน้ารถขณะเกิดเหตุนั้น ไม่สามารถคำนวณได้ จากข้อมูลทางเทคนิค ของคุณลักษณะการชนได้

4. ผลการวิเคราะห์ระยะทางการเคลื่อนที่ของรถจักรยานยนต์หลังถูกชน แล้วล้มครูดนั้น พบว่า รถจักรยานยนต์ เคบื่อนที่ห่างจากจึดเกิดเหตุ ระยะทางระหว่าง 101.55- 203.10 เมตร

5. ผลการคำนวณความเร็วหลังการชนแล้วของเฟอร์รารี่จะอยู่ที่ 63.375 กม./ชม. มีระยะทางในการเบรก ในระยะตอบสนอง 0.75วินาที มีระยะอยู่ที่ 44.63-61.91 เมตร
 
และในท้ายที่สุด คณะทำงานได้สรุปข้อเท็จจริงจากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ได้ข้อเท็จจริงใน 3ประเด็น คือ
 
1. ขณะที่นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์พงศ์ เป็นรองอัยการสูงสุดในปี 2558 มีประจักษ์พยาน 2 ปากเพิ่มเติม คือ พลอากาศโทจักรกฤช และ พลอากาศโทสุรเชษฐ 2นายทหารที่เห็นเหตุการ

2. รองอัยการสูงสุด ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดให้มีการพิจารณา สำนวนร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ และเห็นว่าการพิจารณาสำนวนครั้งแรกยังไม่สิ้นกระแสความในประเด็นความเร็วรถของนายวรยุทธ ว่า 177 กม./ชม. จริงหรือไม่ จึงมีคำสั่งให้พรักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติม พันตำรวจโท ธนสิทธิ กองพิสูจน์หลักฐาน ที่ให้ข้อมูล 177 กม./ชม. ในสำนวนครั้วแรก

3. ข้อเท็จจริง เรื่องอัตราความเร็วรถมีความชัดเจนมากขึ้นจากการคำนวณความเร็วโดย ดร. สายประสิทธิ์ เกิดนิยมอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งคำนวณความเร็วเฉลี่ยของรถ Ferrariได้ 76.175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สอดคล้องกับคำให้การของ นายจารุชาติ มาดทอง พยานซึ่งขับรถอยู่ในเหตุการณ์ เห็นรถของดาบตำรวจวิเชียรขับปาดหน้า จากเลนที่1 ไปเลน3 ในระยะกระชั้นชิด และสอดคล้องกับ ข้อเท็จจากคำให้การของ พันตำรวจโทสมยศ แอบเนียม นายตำรวจตรวจพิสูจน์สภาพรถ ว่ารถไม่น่าจะวิ่งเร็วเกิน 80กม./ชม. ประกอบกับ พันตำรวจโท ธนสิทธิ แตงจั่น กองพิสูจน์หลักฐาน ที่ให้ข้อมูล 177 กม./ชม. นั้นยอมรับว่า คำนวณคลาดเคลื่อน ไม่ได้ใช้หลักวิชาการในการคำนวณ

  และที่สำคัญ การสั่งฟ้องคดีของอัยการก่อนหน้านั้น นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์พงศ์ รองอัยการสูงสุด และนายสุทธิเกียรติ กิตติสุภพร อธิบดีอัยการ ยอมรับว่า การร้องขอความเป็นธรรมของนายวรยุทธ หากผลการสแบสวนเพิ่มเติม ทำให้ข้อเท็จจริงในคดีนี้เปลี่ยนแปลงไป จนเป็นให้คดีมีปัญหาข้อเท็จจริงไม่เป็นที่ยุตินั้น สามารถนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่มาประกอบการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการได้
 
คณะกรรมาธิการจึงมีมติรับทราบข้อเท็จจริงของคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ตามที่ระบุมาทั้งหมด และมีหนังสือแจ้งไปยังอีนการสูงสุด และอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เพื่อพิจารณาต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง