การเหยียดเชื้อชาติ ชนชั้น และสีผิว ปัญหาฝังรากลึกที่มีมาช้านาน แม้โลกจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป แต่ปัญหาดังกล่าว กลับไม่เคยจางหาย ทั้งยังมีข่าวคนผิวขาวเหยียดคนผิวสีอยู่ร่ำไป ความเดือดดาลที่ถูกฝังกลบเริ่มปะทุ จนระเบิดเป็นการประท้วงใหญ่ ก่อจราจลทั่วสหรัฐอเมริกา…
ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ สรุปม้วนเดียวจบ ไล่เรียงเหตุการณ์ทั้งหมดภายในหน้าเดียว โดยมีเรื่องราวดังนี้
- 25 พ.ค. 63 คริสเตียน คูเปอร์ ชายผิวสี ชาวสหรัฐฯ กำลังดูนกอยู่ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง แต่ทว่ามีหญิงสาวรายหนึ่ง พาสุนัขเดินเล่นโดยไม่สวมสายจูง ซึ่งผิดกฎข้อบังคับ คูเปอร์จึงได้เข้าไปเตือนหญิงรายดังกล่าว
- ปรากฎว่า เธอกลับโทรแจ้งตำรวจว่าถูกชายผิวดำข่มขู่ ซึ่งเป็นการแสดงว่าหากคู่กรณีเป็นคนผิวสี ตำรวจจะเร่งจัดการให้ทันที แต่เรื่องก็จบลงด้วยดี เนื่องจากคูเปอร์ถ่ายคลิปเหตุการณ์ทั้งหมดไว้เป็นหลักฐาน
- ช่วงค่ำของวันเดียวกัน ณ ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ในเมืองมินนิอาโปลิส รัฐมินนิโซตา ทางร้านได้โทรแจ้งตำรวจจับลูกค้ารายหนึ่งต้องสงสัยว่าจะใช้แบงก์ปลอม
- ไม่นานนัก ตำรวจ 4 นายก็รุดไปที่เกิดเหตุ ซึ่งผู้ต้องสงสัยคือ จอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวสี วัย 46 ปี โดยเมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงก็เรียกเขาลงจากรถ พร้อมใส่กุญแจมือและพาไปยังรถตำรวจซึ่งจอดอยู่อีกฝั่ง แม้ฟลอยด์จะไม่พอใจ แต่ก็ไม่มีท่าทีขัดขืนแต่อย่างใด
- เมื่อมาถึงอีกฝั่งของรถตำรวจ เจ้าหน้าที่ก็กดฟลอยด์นอนคว่ำหน้าลงกับพื้น ก่อนที่ เดเร็ค เชาวิน ตำรวจผิวขาวร่างเขื่องรายหนึ่งจะใช้เข่ากดเข้าหลังคอ โดยทิ้งน้ำหนักทั้งตัวทับจนหน้าซีกหนึ่งของฟลอยด์แนบกับพื้น
- เดเร็ค ตำรวจผิวขาว ทำเช่นนั้นเป็นเวลานานกว่า 8 นาที ขณะที่ฟลอยด์ทุรนทุราย ร้องบอก “I can’t breath”(ผมหายใจไม่ออก) และวอนขอให้ปล่อยเขาถึง 15 ครั้ง และถึงแม้คนที่เห็นเหตุการณ์จะบอกให้ตำรวจหยุดการกระทำนั้น แต่ก็ไร้ผล จนในที่สุดฟลอยด์ก็หมดสติ ถูกหามส่งโรงพยาบาล แต่ทว่าก็สายไปเสียแล้ว ฟลอยด์เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในที่สุด
- ไม่นานนัก ตำรวจก็ออกมาแถลงว่า เรื่องทั้งหมดเป็นผลมาจากการที่ฟลอยด์ขัดขืนการจับกุม ทว่าคลิปการกระทำดังกล่าวกลับถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ เป็นหลักฐานยืนยันว่าฟลอยด์ไม่ได้ขัดขืน แต่ตำรวจทำเกินกว่าเหตุ จนทำให้ไฟแค้นปมเหยียดสีผิวเริ่มปะทุ
- เมื่อหลักฐานปรากฎชัด ตำรวจทั้ง 4 นาย ถูกไล่ออกจากงานทั้งหมด และถูกฟ้องร้องข้อหาฆาตกรรม ทว่าเหล่าอดีตตำรวจต้องการสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่า ฟลอยด์ตายเนื่องจากการกระทำของพวกเขา หรือว่าจริงๆ ฟลอยด์กำลังจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นอยู่แล้ว
- เรื่องดังกล่าวทำให้ฟางเส้นสุดท้ายสะบั้นลง ความเดือดดาลระเบิดขึ้น ประเด็นความเหยียดสีผิวถูกหยิบยกเป็นวาระแห่งชาติ เกิดคำถามว่า ถ้าฟลอยด์ไม่ใช่คนผิวสีจะถูกกระทำแบบนี้หรือไม่
- เหตุการณ์นี้อ่อนไหวต่อสังคมชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก เนื่องจากปี 2014 เกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันที่นิวยอร์ก ซึ่ง เอริค การ์เนอร์ ชายชาวอเมริกันผิวสีถูกจับกุมด้วยการล็อกคอ โดยตำรวจผิวขาวรายหนึ่ง
- ขณะที่การ์เนอร์ ร้องบอกว่า “I can’t breath”(ผมหายใจไม่ออก) ถึง 11 ครั้ง ก่อนจะขาดอากาศหายใจเสียชีวิตในที่สุด แต่ตำรวจรายดังกล่าวกลับไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด และยังปฎิบัติหน้าที่ตำรวจได้ตามปกติ
- จากเรื่องดังกล่าว ทำให้ชาวอเมริกันผิวสีทั่วทั้งสหรัฐลุกฮือประท้วง โดยหยิบยกวลีสุดสลดอย่าง I can’t breath (ผมหายใจไม่ออก) ที่ทั้งฟรอยด์ และ การ์เนอร์ พูดก่อนตายเป็นประโยคของการประท้วงครั้งนี้
- เหล่าคนดังชาวผิวสีในสหรัฐฯ มากมาย ต่างออกมาแสดงความโกรธแค้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิ เลอบรอน เจมส์ นักบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอชื่อดัง ได้โพสต์ภาพของ โคลิน เคเปอร์นิค อดีตผู้เล่นอเมริกันฟุตบอล NFL สังกัดทีมซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนน์เนอร์ส ที่แสดงจุดยืนต่อต้านความอยุติธรรมต่อชาวผิวสีด้วยการคุกเข่าขณะเพลงชาติบรรเลง เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้
- โดยหลังจากการกระทำดังกล่าวของเคเปอร์นิค ส่งผลให้เขาถูกลอยแพไม่ได้รับการต่อสัญญาจากทีมต้นสังกัด และไม่มีทีมใดเซ็นสัญญากับเขาอีกเลยตลอด 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา
- โดยที่ เลอบรอน เจมส์ โพสต์ภาพ เคเปอร์นิคคุกเข่า และภาพฟลอยด์ที่ถูกตำรวจใช้เข่ากดคอไว้ พร้อมเขียนข้อความบนภาพว่า This is Why ซึ่งแปลว่า นี่คือเหตุผลที่เคเปอร์นิคคุกเข่า ทั้งยังระบุแคปชั่นว่า “พวกคุณเข้าใจหรือยังล่ะตอนนี้ หรือว่านี่ยังไม่ชัดพออีก #ตื่นได้แล้ว”
- ด้าน Snoop Dog แร็ปเปอร์ชาวผิวสีชื่อดังก็ลงรูปเดียวกันบนอินสตาแกรมพร้อมข้อความแปลเป็นไทยว่า “ไม่มีความยุติธรรม เฉพาะกับพวกเรา”
- การประท้วงเริ่มขึ้น เมื่อชาวเมืองมินนิอาโปลิสนับพัน ทั้งคนผิวขาวและผิวสี ต่างก่อจราจลจนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ผู้ประท้วงบางส่วนบุกไปบ้านของตำรวจผู้ก่อเหตุ ขว้างปาก้อนหิน พร้อมพ่นสีประจาน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ฟลอยด์
- นอกจากนี้ยังมีเหล่ามิจฉาชีพฉวยโอกาสก่อเหตุจราจลปล้นร้านค้า เผาอาคารบ้านเรือน เรื่องราวบานปลายจนเจ้าหน้าที่ต้องยิงแก๊สน้ำตา และใช้กระสุนยางสลายการชุมนุม
- ในขณะที่โลกทวิตเตอร์เกิดแฮชแท็ก #BlackLivesMatter (ชีวิตคนดำก็มีค่า), #JusticeForGeorgeFloyd (ทวงความยุติธรรมเพื่อจอร์จ ฟลอยด์), #icantbreathe (ผมหายใจไม่ออก) บนโลกออนไลน์เพื่อทวงความยุติธรรมให้แก่ฟลอยด์
- ต่อมา โดนัล ทรัมป์ ได้ทวิตข้อความเพื่อเน้นย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยได้สั่งการให้เอฟบีไอ และกระทรวงยุติธรรมเข้าสืบสวนคดีนี้แล้ว
- 29 พ.ค. 63 เดเร็ค อดีตตำรวจผู้ก่อเหตุถูกตั้ง "ข้อหาฆาตกรรมโดยไม่เจตนา" และภรรยาของเดเร็คก็ได้ขอหย่าขาดในวันเดียวกัน แม้จะถูกตั้งข้อหาหนักแต่การประท้วงก็ไม่มีทีท่าว่าจะสงบแต่อย่างใด แต่กลับลุกลามไปถึง 20 รัฐทั่วประเทศสหรัฐฯ จนทางการต้องประกาศเคอร์ฟิว
- สถานการณ์ล่าสุด(1 มิ.ย.63) ที่วอชิงตัน ดี.ซี. มีกลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวกันที่ทำเนียบขาวติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ทำให้อาคารทำเนียบขาวต้องล็อคดาวน์ และมีอย่างน้อย 25 เมือง ที่อยู่ภายใต้การประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งอดีตนายตำรวจผิวขาวที่ก่อเหตุใช้เข่ากดคอ จอร์จ ฟลอยด์ จนเสียชีวิต มีกำหนดที่จะถูกนำตัวขึ้นศาลวันนี้.