'พล.อ.อ.ประจิน' ถกผู้บริหารคลัง ลุยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เผยหารือ 3 ประเด็นใหญ่ เร่งจ่ายหนี้จำนำข้าว แนวบริหารจัดการน้ำ ปัญหาภัยพิบัติ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้า คสช.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เข้าประชุมมอบนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงการคลังและผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่ไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจติดลบ 0.6% และแนวโน้มจีดีพีทั้งปี ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดที่ 1.5-2.5% พร้อมทั้งหารือแนวทางแก้ไข ปัญหาเงินคงค้างจ่ายให้กับชาวนา ในโครงการรับจำนำข้าว กว่า 835,000 คน
พล.อ.อ.ประจิน ระบุก่อนเข้าประชุมว่า จะหารือประเด็นสำคัญใน 3 เรื่อง คือ
1. โครงการรับจำนำข้าว ที่ขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้ส่งหนังสือถึงสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนทั้ง 32 แห่ง เพื่อให้ยื่นข้อเสนอเงินให้กู้ในโครงการรับจำนำข้าว ฤดูการผลิต 56/57 วงเงิน 50,000 ล้านบาท แล้ว โดยสถาบันการเงินจะสามารถเข้าร่วมประมูล วงเงินขั้นต่ำรายละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะคำนวนจากอัตราดอกเบี้ย Bibor ในปัจจุบันเป็นฐาน ซึ่งมั่นใจจะจ่ายเงินให้กับชาวนาโดยเร็วที่สุด
2. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ที่ก่อนหน้านี้ยังติดปัญหาการพิจารณาการออก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนลัานบาท ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
3. แผนการจัดการปัญหาภัยพิบัติ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร
ด้าน นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าทางกระทรวงฯ จะเสนอแนวทางจ่ายเงินให้กับชาวนาในส่วนที่เหลือ และการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่จะต้องใช้ให้ทันในปีปฎิทินนี้ หรือ วันที่ 1 ต.ค. นี้ ซึ่งจะรวมถึงการจัดสรรงบประมาณการลงทุน ในส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการ หลังจากพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทไม่ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่าทางกรมฯ เตรียมเสนอการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการเข้าสู่ระบบฐานภาษีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 35% เพราะถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ ที่มีการจัดเก็บไม่เกิน 20% ขณะที่การจัดภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 20% ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว rและยืนยันว่าการขยายเวลาการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องไปอีก 1 ปี เพื่อไม่ให้กระทบการใช้จ่ายของประชาชน ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว