ถ้าพูดถึงการถ่ายภาพทุกวันนี้เทคโนโลยีได้พัฒนาไปไกลมาก แม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือที่ไม่ว่าจะออกมาใหม่กี่รุ่น ก็ล้วนแต่ต้องมีการพัฒนาตัวกล้องกันทั้งนั้น อีกทั้งในยุคแห่งโซเชียลมีเดียแบบนี้ แน่นอนว่าทุกคนต้องการถ่ายรูปแล้วอัพลงได้ในทันที และในช่วง2-3ปี ที่ผ่านมากล้องที่หลายคนลืมไปพักใหญ่กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง จนกลายเป็นที่นิยมจนถึงทุกวันนี้นั้นก็คือ ‘กล้องฟิล์ม’
เสน่ห์ของกล้องฟิล์ม
ย้อนกลับไปเมื่อราวปี 2000 ต้น ๆ กล้องฟิล์มนั้นถูกเมินไปนาน จนหลายคนขายของสะสมสุดรักของตัวเองไปในราคาถูก เพราะไม่คิดว่ากล้องฟิล์มจะกลับมาบูมได้อีกครั้ง นั้นอาจจะเป็นจุดตกต่ำที่สุดในวงการกล้องฟิล์มเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้เริ่มมีการนำกล้องฟิล์มมาใช้เรื่อย ๆ และนิยมกันมากไม่ว่าจะในหมู่ดาราฮอลลีวูด เอเชียจนมาถึงบ้านเรา กลายเป็นกระแสทำให้กล้องฟิล์มเป็นของพกติดตัวของวัยรุ่นในยุคนี้เลยก็ว่าได้
สิ่งที่คนรักกล้องฟิล์มหลายคนยกให้เป็นเสน่ห์ของมันคือ ‘การที่ไม่สามารถมองเห็นภาพที่ถ่าย’ เราไม่สามารถกดชัตเตอร์แล้วเช็คภาพที่ขึ้นบนจอได้เหมือนกล้องดิจิทัล ดังนั้นทุกครั้งที่เรานำฟิล์มไปล้างไม่ว่าจะที่ร้านหรือทำเองที่บ้านมันจะทำให้ตื่นเต้นเสมอ รวมทั้งภาพฟิล์มเมื่อถ่ายแล้วล้างออกมาได้ภาพแบบไหนก็จบตรงนั้น ไม่ได้มีการนำมาปรับแต่งภายหลัง ลบสิว บีบคาง หรือเพิ่มแสงได้ ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราได้ฝึกลองผิดลองถูก ได้ศึกษาและเตรียมตัว ได้มองสถานที่ คน หรือวัตถุตรงหน้า และคิดก่อนที่จะกดชัตเตอร์ รวมไปถึงความวินเทจและความเก่าของกล้อง ที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ใฝหาความเก๋าในยุคที่ตนเองยังไม่เกิด การได้ลุ้นภาพที่เราถ่ายจึงเป็นความสนุกในการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม และคงเป็นเหตุผลที่เรามักจะเห็นคนในยุคนี้เล่นกล้องฟิล์มกันมากขึ้น จนหลงเสน่ห์ของมันอย่างไม่รู้ตัว
‘อาจารย์หน่อง’ ชายที่ใช้ชีวิตกับกล้องฟิล์มมานานกว่า 40 ปี
อาจารย์หน่อง จตุรงค์ หิรัญกาญจน์
นายจตุรงค์ หิรัญกาญจน์ หรือ ‘อาจารย์หน่อง’ ช่างภาพอาชีพ อาจารย์บรรยายพิเศษ ที่หลงรักและใช้ชีวิตกับกล้องฟิล์มมานานกว่า 40 ปี จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงสร้างงานศิลปะภาพฟิล์มรวมถึงการส่งความสุขของตนเองผ่านการสอนให้กับคนรุ่นใหม่ ด้วยการเปิดโรงเรียนสอนการล้าง อัดและขยายฟิล์มชื่อว่า โรงเรียนลำยูร โฟโต้
‘ชัตเตอร์ก็เหมือนพู่กันที่เป็นตัวสร้างภาพที่เราต้องการขึ้นมา’
อาจารย์หน่องเล่าว่า เมื่อก่อนเป็นคนรักศิลปะมาก พอได้มารู้จักกล้องฟิล์ม และด้วยความเป็นคนใจร้อน จึงรู้สึกแฮปปี้ที่เราสามารถเก็บภาพตรงหน้าได้เพียงแค่กดชัตเตอร์ มันเร็วกว่าการจับพู่กันวาดเป็นภาพออกมา และนี่ก็ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ศิลปะภาพถ่าย ชัตเตอร์ก็เหมือนพู่กันที่เป็นตัวสร้างภาพที่เราต้องการขึ้นมา จึงอยู่กับกล้องฟิล์มมาตลอดจน กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว
สมัยก่อนก็ต้อง cannon หรือ Nikon สองตัวนี้เปรียบเสมือนโค้ก เป๊บซี ถือเป็นกล้องฟิล์มที่นิยมมาก แต่ก็มีกล้องฟิล์มถูก ๆ ให้ซื้อบ้าง ในสมัยนี้เท่าที่เห็นหลายคนจะนิยมเล่นสองตัวนี้เหมือนกันแต่ก็ยังมีตัวอื่นเข้ามาเยอะ ทั้ง Olympus , Konica และอื่น ๆ แถมราคาก็ยังสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าสมัยก่อน คนถึงสนใจและหันมาเล่นกันมากขึ้น
ล้วงความรักกล้องฟิล์มของพี่ต้า หรือ กันต์ ชุณหวัตร
กันต์ ชุณหวัตร ศิลปิน/นักแสดง
‘กันต์ ชุณหวัตร’ หรือ พี่ต้า ใน ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ศิลปิน นักแสดงขวัญใจวัยรุ่น ที่หลงการท่องเที่ยว และการได้เก็บสถานที่นั้นกลับบ้านด้วยกล้องฟิล์ม
‘พอมาเล่นกล้องฟิล์มเราได้มองสถานที่ที่นั้นนานขึ้น’
จุดเริ่มต้นของกันต์คือการหยิบกล้องจากที่บ้านมาเล่น ตั้งแต่มัธยมปลาย ด้วยความชอบเดินทาง ชอบท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้เขาอยากจะเก็บ Moment ตรงหน้าเอาไว้ด้วยกล้อง และด้วยการเล่นกล้องดิจิทัลมาหลายรูปแบบ ทำให้เขาเริ่มหาอะไรใหม่ ๆ มาเติมเต็ม
“ มันไม่ค่อยได้ Take-Time กับ Moment เราถ่ายไปเรื่อย ๆ บางทีเราแทบไม่ได้มองสถานที่ เราถ่ายแล้วก็เช็ค ถ่ายแล้วก็เช็ค แล้วก็ถ่ายใหม่ พอมาเล่นกล้องฟิล์มเราได้มองสถานที่ที่นั้นนานขึ้น ซึ่งเราไม่ได้ถ่ายเผื่อไว้เยอะ เราก็จะคิดก่อนว่าอยากได้รูปอะไร มองให้เห็นก่อนแล้วค่อยถ่าย เราชอบความช้าของมันที่ส่งรูปให้กันเลยไม่ได้ ไม่ต้องมาทวงรูปตอนนั้น ไม่ต้องเอารูปไปแต่ง ทำให้เริ่มสนุกและชอบบรรยากาศการถ่ายรูปที่มันช้าลง ชอบฟิลในภาพ ชอบ Gain ของมัน ชอบ color ของมัน”
ความสนุกในการถ่ายกล้องฟิล์มไม่ใช่แค่การถ่ายภาพ 36 ภาพตรงหน้าโดยที่เราไม่สามารถเช็คได้ แต่รวมไปถึงกระบวนการทำให้ปรากฎภาพบนกระดาษนั้นก็คือการล้าง อัด และขยายฟิล์ม ซึ่งเรายังสามารถทำมันได้ตัวเองอีกด้วย
การล้างฟิล์มด้วยตัวเองสามารถทำได้ เพียงแค่คุณสร้างห้องมืดที่บ้าน หรือดัดแปลงอัดภาพใน ห้องน้ำ ห้องนอน และมีเครื่องมือที่จำเป็น เช่น เครื่องอัดขยายภาพ Enlarger ฯลฯ และมีความรู้ขั้นตอนการล้าง อัด และขยายเบื้องต้น ซึ่งในปัจจุบันหาศึกษาได้ง่ายมาก เพียงเสิร์ชในอินเตอร์เน็ต แต่อาจารย์หน่องแนะนำว่าการล้างภาพขาวดำจะไม่ค่อยยุ่งยากและมีข้อจำกัดอะไรมากนัก อาจจะเป็นเรื่องสถานที่ทำห้องมืด หรือเรื่องเงินนิดหน่อย ส่วนภาพสี สามารถทำเองได้ แต่จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า และจะไม่คุ้มสักเท่าไหร่
นี่เป็นกระบวนการล้างฟิล์มในฉบับโบราณ แต่สำหรับในปัจจุบัน อาจจะไม่ได้หยุดแค่รูปภาพที่ล้างออกมาเป็นอัลบั้มเหมือนสมัยก่อน แต่ยังต้องมีเครื่อง Scanner เพื่อสแกนแผ่นฟิล์มลงคอมพิวเตอร์เป็นไฟล์ไปโพสต์ลงโซเชียลกันหน่อย นั้นก็เป็นการผสมผสานเสน่ห์ของกล้องฟิล์มไปพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ยังคงใช้เวลาพิสูจน์ใจอยู่ดี
กล้องฟิล์มเป็นเพียงกระแส ?
“มันมีทั้งคนเริ่มเล่นและคนเลิกเล่น มันก็คงหมุนเวียนกันไป อยู่ที่ว่าคนเลือกสนใจ ใส่ใจมันขนาดไหน คงไม่หายไปเพราะยิ่งยุคนี้มีช่องทางต่าง ๆ มากมาย ที่มันรวมกลุ่มคนที่ชอบสิ่งเดียวกันง่ายกว่าเมื่อก่อน มันคงไม่หายไปแต่มันจะบูมขนาดนี้มั้ยอันนี้ก็ไม่แน่ใจ” กันต์ ชุณหวัตร
“อยากให้รักมันจริง ๆ ไม่จำเป็นต้องตามเทรนด์ ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องแพง เริ่มจากที่เราพอมีกำลังทรัพย์และเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ส่วนความนิยมกล้องฟิล์มนั้น ขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ ว่าเล่นตามเทรนด์ ตามกระแส หรือรักในตัวของฟิล์มจริง ๆ แต่เชื่อว่ามีหลายคนที่รักการถ่ายภาพฟิล์ม ตรงนี้ก็จะสามารถสานต่อไปในอนาคตได้ “ อาจารย์หน่อง
หัวใจหลักในการถ่ายภาพฟิล์ม ‘ที่ไม่มีราคา’
หลายคนอาจจะคิดว่ากล้องที่มีราคาสูง จะมาพร้อมกับคุณภาพที่สูงเช่นกัน นั้นไม่ได้เป็นความคิดที่ผิด เพียงแต่มันไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่บีบให้เราต้องซื้อแค่กล้องแพง ๆ และทำให้เรามองข้ามหัวใจหลักของมันไป จริง ๆ
Speed shutter, Iso , F Stop คือหัวใจหลักของการถ่ายภาพ ซึ่งสมัยนี้สามารถหาศึกษาได้ในอินเตอร์เน็ต แต่แน่นอนว่ายังคงต้องใช้ทฤษฎีการลองผิดลองถูกในสมัยก่อนมาใช้ และนั้นเป็นตำราที่คุณไม่จำเป็นต้องไปสมัครเรียนที่ไหนเลย
ให้จำไว้ว่า ‘กล้องในมือของคุณดีที่สุด’
อาจารย์หน่องยืนหยัดชัดเจนว่า ก่อนที่เราจะไปหลงใหลในวัตถุ ต้องใช้กล้องแพง กล้องแพงถ่ายรูปแล้วดี มันอาจจะดีกว่าในการทำงานมืออาชีพเพราะมันมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจของลูกค้าที่มาจ้างเราหรือหากมีกำลังทรัพย์มันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นการถ่ายรูปทั่วไป ถ่ายกล้องอะไรก็ได้ โดยอาจารย์หน่องย้ำ และให้จำไว้ว่า ‘กล้องในมือของคุณดีที่สุด’
และกันต์ได้ย้ำให้รู้แล้วว่าคนที่รักการถ่ายรูปด้วยกล้องจริง ๆ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา เขาบอกว่าการถ่ายภาพฟิล์มมันอยู่ที่จังหวะเวลา อยู่ที่มุมมอง ความเข้าใจในกล้องของตัวเอง ที่จะทำให้เราจะดึงศักยภาพของมันออกมาให้เต็มที่ที่สุด เราต้องรู้จักกล้องราคาถูกก่อนแล้วค่อยไล่ขึ้นไป และต้องมองเห็นว่าทำไมเราถึงอยากได้กล้องที่ราคาสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ บางทีซื้อแพงแล้วใช้ผิดมาแล้วมันอาจจะไม่ได้ผลอะไรเลย
เรื่องโดย : ไอลดา สุนทรวรพจน์