ชลประทานทุ่ม 8 หมื่นล้านบาท ผุดโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพลแก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว ย้ำชัดน้ำที่ดึงมาเป็นน้ำส่วนเกินช่วงฤดูฝน
logo ข่าวอัพเดท

ชลประทานทุ่ม 8 หมื่นล้านบาท ผุดโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพลแก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว ย้ำชัดน้ำที่ดึงมาเป็นน้ำส่วนเกินช่วงฤดูฝน

ข่าวอัพเดท : กรมชลประทานทุ่ม 8 หมื่นล้านบาทผุดอุโมงค์ดึงน้ำยวม จากอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เติมเขื่อนภูมิพลที่ดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ กรมชลป เขื่อนภูมิพล,อุโมงค์ดึงน้ำยวม,กรมชลประทาน,แก้ปัญหาน้ำแล้ง,ฤดูฝน,โครงการผันน้ำยวม

2,047 ครั้ง
|
30 พ.ย. 2561
กรมชลประทานทุ่ม 8 หมื่นล้านบาทผุดอุโมงค์ดึงน้ำยวม จากอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เติมเขื่อนภูมิพลที่ดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ กรมชลประทานเดินหน้าเต็มสูบหวังแก้ปัญหาน้ำแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา เตรียมลงพื้นที่ออกแบบคาดแล้วเสร็จในปี 62 ก่อน ย้ำชัดน้ำที่ดึงมาใช้เป็นน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนเท่านั้น
 
ที่สำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมคณะเดินทางมาติดตามงานผันน้ำตามโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล โดยจะผันน้ำแม่ยวม อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผ่านพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเข้าสู่เขื่อนภูมิพล เพราะปริมาณการใช้น้ำไม่สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่
 
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมเดินหน้าโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพล และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยผันน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีปริมาณน้ำมากในฤดูฝนซึ่งไหลลงแม่น้ำเมยและไหลออกนอกประเทศ ทำให้เกิดความสูญเปล่า และไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ให้กับประเทศไทยเลย จึงคิดว่าควรจะนำน้ำดังกล่าวกลับมาใช้ในประเทศไทย โดยการผันน้ำผ่านจังหวัดเชียงใหม่ มากักเก็บไว้ในเขื่อนภูมิพลด้วยการสร้างเขื่อนน้ำยวม และสถานีสูบน้ำ ก่อนส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงผ่านอุโมงค์ส่งน้ำเข้าเขื่อนภูมิพล จ.ตาก โดยผู้ที่ได้ประโยชน์นั้น ก็จะเป็นประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางที่ใช้น้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลเพื่อการอุปโภคบริโภค และการผลิตน้ำประปา อีกทั้ง ยังส่งผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวในบริเวณพื้นที่เขื่อน การประมง และการผลิตกระแสไฟฟ้า ตอบสนองการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างมาก
 
สำหรับการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล โดยความต้องการน้ำอยู่ที่ 9,662 ล้าน ลบ.ม. แต่ปริมาณน้ำท่าและน้ำฝนที่ตกลงมานั้น ได้น้ำเพียง 5,626 ล้าน ลบ.ม. ทำให้น้ำในเขื่อนภูมิพลมีน้อยมาก และยังรองรับน้ำได้อีก 4,036 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงต้องการน้ำเพื่อทำนาปี นาปรัง น้ำอุปโภค บริโภคในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทางรัฐบาลก็พยายามผลักดันมาตั้งแต่ปี 2538 และมีการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้การศึกษาเสร็จแล้ว ตอนนี้เหลือขั้นตอนของการสำรวจและการออกแบบ ซึ่งก็คาดว่าจะแล้วเสร็จในเพื่อน ก.ย. - ต.ค. 62 ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี
 
ลักษณะของการผันน้ำนี้จะเป็นอุโมงค์ ผ่านภูเขา โดยเอาน้ำจากแม่น้ำยวม อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน จากนั้นก็จะผ่านที่จังหวัดเชียงใหม่ และลงสู่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งจะผันน้ำได้ 1,790 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี โดยความยาวของอุโมงค์ส่งน้ำนี้ประมาณ 61.52 กิโลเมตร การขุดเจาะจะใช้ทั้งการนำระเบิดมาเพื่อเปิดทางอุโมงค์ และการใช้หัวเจาะ โดยงบประมาณที่วางไว้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท
 
สำหรับปัญหาและอุปสรรคนั้น ก็เรื่องของความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแบบเดิมเขามีอาชีพเกษตรกรรม หาปลาตามแหล่งน้ำ ดังนั้น สิ่งที่เขาเป็นกังวลคือจะหาปลาไม่ได้ ทางกรมชลประทานก็จะเข้าไปให้ความรู้ว่ายังสามารถหาปลาได้ และจะมีการส่งเสริมให้เลี้ยงปลากระชัง ขณะเดียวกันน้ำที่อยู่บริเวณท้ายเขื่อน ก็ยังมีเหมือนเดิม ประชาชนก็สามารถหาปลาได้เหมือนเดิม สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ร้องขอมาเพิ่มคือ อยากได้กระแสไฟฟ้า เพราะในพื้นที่การก่อสร้างเขื่อนน้ำยวมและอาคารประกอบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เขาไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างสม่ำเสมอ เขาจึงอยากได้ไฟฟ้า ประกอบกับเส้นทางคมนาคม ถนนทางเข้าหมู่บ้านก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ก็อยากได้ถนนที่มีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งตรงนี้ทางกรมชลประทานจะให้ทีมสำรวจและออกแบบเข้าไปดำเนินการว่า จะทำอย่างไรได้บ้าง แต่โดยรอบของโครงการก็จะมีการทำถนนคอนกรีต ให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวผ่านเข้าออกหมู่บ้านได้ รวมถึงยังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ต่อไปอาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งพักผ่อนของชุมชนในอนาคตด้วย