เจาะลึก “โทษประหารชีวิตในประเทศไทย” ไม่ได้มีแค่เรื่องเลิกใช้หรือไม่เลิก!
logo ข่าวอัพเดท

เจาะลึก “โทษประหารชีวิตในประเทศไทย” ไม่ได้มีแค่เรื่องเลิกใช้หรือไม่เลิก!

ข่าวอัพเดท : ประเด็นข่าวเรื่องการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายรายหนึ่งซึ่งตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม กำลังกระตุ้นให้เกิดความสนใจและการตั้ง ประหารชีวิต,โทษประหารชีวิต,ประหารชีวิตนักโทษ

7,154 ครั้ง
|
20 มิ.ย. 2561
         ประเด็นข่าวเรื่องการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายรายหนึ่งซึ่งตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม กำลังกระตุ้นให้เกิดความสนใจและการตั้งคำถามว่าโทษประหารชีวิตสมควรมีอยู่ในประเทศไทยหรือไม่
 
         ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์ขอประมวลทุกแง่มุมของการประหารชีวิตในสังคมไทยมาให้ทำความเข้าใจอย่างรอบด้าน เพื่อให้การถกเถียงต่อจากนี้ของคุณผู้ชมมีแง่มุมใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น
 
 
เราลงโทษกันไปทำไม?
 
         กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมอธิบายว่า ปรัชญาของการลงโทษทางอาญามีอยู่ 5 ประการ ได้แก่
 
         1. การข่มขู่ยับยั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ ในทีนี้ให้ผลได้ 2 ทาง คือ การลงโทษที่ทำให้ผู้ถูกลงโทษเกิดการเรียนรู้และไม่กล้ากระทำผิดอีก และการลงโทษที่ทำให้ประชาชนเรียนรู้และเกิดความหวาดกลัวที่จะปฏิบัติตาม เช่น การลงโทษทางกายต่างๆ ต่อหน้าสาธารณชน หรือที่สาธารณชนได้รับรู้
 
         2. การทำให้หมดความสามารถ ก็คือการทำให้อาชญากรหรือผู้กระทำผิดหมดความสามารถ ไม่สามารถกลับมากระทำผิดซ้ำได้อีก เพราะเชื่อว่าอาชญากรรายนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรมได้ เช่น การเนรเทศ และการประหารชีวิต
 
         3. การแก้แค้นหรือการตอบสนอง อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่าอาชญากรควรต้องรับผิดชอบและรับโทษอย่างสาสมกับสิ่งที่ได้ทำลงไป ซึ่งสัมพันธ์กับหลักการพิพากษาที่ใช้การลงโทษอย่างหนัก หรือการพิพากษาแบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ซึ่งการลงโทษประหารชีวิตก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่ผู้สนับสนุนโทษประหารเห็นว่าเหมาะกับผู้ที่ก่อคดีฆ่าผู้อื่น แต่ในบางกรณีการพิพากษาของศาลก็นำมาซึ่งความผิดหวัง เพราะบทลงโทษอาจไม่สาสมเท่ากับความคาดหวัง
 
         4. การฟื้นฟู หลักการนี้จะมุ่งเน้นไปที่การลงโทษโดยการเยียวยาแก้ไขพฤติกรรมอาชญากรรมของผู้กระทำความผิด เพราะมองว่าการกระทำผิดเป็นเหตุจากสังคมหรือความบกพร่องทางจิตใจ รูปแบบของการลงโทษแบบฟื้นฟูนั้นอาจเรียกอีกอย่างว่าเป็นรูปแบบทางการแพทย์ ซี่งมองพฤติกรรมอาชญากรรมว่าเป็นเสมือนโรคชนิดหนึ่ง มักใช้กับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดหรือผู้ใหญ่ที่ทำความผิดครั้งแรก แต่ปัจจุบันก็มีการนำมาใช้กับผู้ติดยาเสพติดด้วย
 
         5. ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพราะหลักการฟื้นฟูตามข้อ 4. บ่อยครั้งจะถูกมองว่าเป็นมาตรการที่ละเลยต่อเหยื่อ ฉะนั้นการลงโทษแบบนี้จึงเน้นการช่วยเหลือเหยื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ ควบคู่ไปกับการแก้ไขพฤติกรรมผู้กระทำความผิด ตัวอย่างของบทลงโทษแบบสมานฉันท์ก็เช่น การที่ผู้กระทำผิดต้องจ่ายค่าชดใช้ให้กับเหยื่อ และมาตรการการให้บริการแก่ชุมชนที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา
 
 
แล้วประเทศไทยลงโทษกันอย่างไร?
 
         ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย การประหารชีวิตในประเทศไทยมีหลายวิธี ซึ่งแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา ในอดีตอาจเป็นการตัดศีรษะเสียบประจาน แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป บทลงโทษก็มีการเปลี่ยนแปลง 
 
         ในช่วงปี พ.ศ. 2478 – 2546 ประเทศไทยใช้การประหารชีวิตด้วยวิธีการยิงเป้า ซึ่งผู้ที่ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีนี้มีทั้งหมดจำนวน 319 ราย โดยแบ่งออกเป็นนักโทษชาย จำนวน 316 ราย และนักโทษหญิง จำนวน 3 ราย
 
         68 ปีแห่งการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าผ่านไป วันที่ 18 กันยายน 2546 ประเทศไทยได้เปลี่ยนจากการลงโทษด้วยการยิงเป้ามาเป็นการฉีดสารพิษแทน วิธีนี้ถูกใช้ครั้งแรกกับนักโทษชายในคดียาเสพติด 4 คน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2546 เรื่อยมาจนวันที่ 24 สิงหาคม 2552 แล้วจึงมีการเว้นช่วงไปยาวนานกว่า 9 ปี ซึ่งใกล้ครบกำหนดเวลา 10 ปี ตามข้อกำหนดที่จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ 
 
         แต่ทว่าวันที่ 18 มิ.ย. 2561 สถิติเว้นโทษประหารชีวิต 9 ปีดังกล่าวก็หยุดลง เมื่อกรมราชทัณฑ์บังคับใช้โทษประหารชีวิตกับนักโทษชายที่ก่อคดีฆ่าชิงทรัพย์ กลายเป็นนักโทษรายที่ 326 ที่ถูกใช้บทลงโทษที่หนักที่สุดในระบบกฎหมายอาญาของไทยสถานนี้
 
         อย่างไรก็ตาม โดยปกตินักโทษมีสิทธิ์ขอพระราชทานอภัยโทษเมื่อศาลตัดสินคดีถึงที่สุดแล้วด้วย
 
         ปัจจุบันประเทศไทยมีฐานความผิดที่มีโทษประหารชีวิตอยู่ทั้งสิ้น 63 ฐานความผิด และในจำนวนนี้มีอยู่ 12 ฐานความผิดที่มีโทษ "ประหารชีวิตสถานเดียว" โดยไม่เปิดโอกาสให้ใช้โทษอื่น เช่นการจำคุกมาทดแทน
 
 
เอา-ไม่เอาประหารชีวิต เหตุผลของแต่ละฝ่ายคืออะไร?
 
ข่าวอัพเดท : เจาะลึก “โทษประหารชีวิตในประเทศไทย”
 
         หากพิจารณาเหตุผลของกลุ่มผู้สนับสนุนการใช้โทษประหารชีวิตที่ปรากฎตามสื่อออนไลน์ จะเห็นว่าสอดคล้องกับปรัชญาการลงโทษ 3 ข้อแรกจาก 5 ข้อข้างต้น โดยจะเน้นเหตุผลเพื่อ "ยับยั้งข่มขู่" ไม่ให้ผู้อื่นเลียนแบบพฤติกรรมของนักโทษและเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยต่อสังคม ปกป้องสิทธิของพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการเป็นเหยื่ออาชญากรรม ขณะที่บางคนอาจจะมองว่านี่เป็นบทลงโทษที่สาสมตามหลัก "การแก้แค้นหรือการตอบสนอง" หรือหลายๆ คนก็อาจมองว่าการประหารทำให้นักโทษไม่สามารถกลับมากระทำผิดได้อีกตามหลัก "การทำให้หมดความสามารถ" 
 
         ส่วนกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโทษประหารชีวิต ก็ระบุเหตุผลในแง่ที่ว่า การลงโทษประหารชีวิตมีความเสี่ยง เพราะระบบยุติธรรมทางอาญามีโอกาสที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติและตัดสินผิดพลาด ซึ่งหากตัดสินผิดพลาดให้ประหารชีวิตไปแล้ว ย่อมไม่สามารถนำชีวิตที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ นอกจากนี้ นักโทษประหารมักเป็นผู้มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาส ไม่สามารถหาทนายมาแก้ต่างคดีให้ตนได้ กลุ่มผู้คัดค้านการใช้โทษประหารส่วนหนึ่งซึ่งเป็นนักสิทธิมนุษยชนยังชี้ว่าการประหารนั้นขัดต่อหลักสิทธิของการมีชีวิตอยู่ที่ทุกคนมีด้วยกันอย่างเท่าเทียม และตามความคิดของพวกเขา สิทธิ์นี้ไม่ควรมีใครพรากไปได้ พร้อมๆ กับยกตัวอย่างผลการศึกษาที่ว่า การใช้โทษประหารไม่สามารถลดอาชญากรรมหรือทำให้คนเกรงกลัวได้จริง เช่น อัตราการเกิดคดีฆาตกรรมในมลรัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่ยกเลิกโทษประหารแล้วช่วงปี 2006 ยังคงสูงกว่ามลรัฐที่ยังใช้โทษประหารอยู่ นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้ยังยกตัวอย่าง 142 ประเทศที่ยกเลิกการประหารในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติไว้ด้วย
 
         แต่กลุ่มผู้สนับสนุนการใช้โทษประหารชีวิตบางส่วนก็โต้กลับ โดยยกแนวคิดของ เจ.เอส.มิลล์ นักปรัชญาตะวันตกในยุคคริสตศตวรรษที่ 19 ที่กล่าวไว้ว่า "ผู้ที่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ได้สละทิ้งซึ่งสิทธิ์ของตนเองไปแล้ว" มาใช้ รวมทั้งยังยกกรณีหลายประเทศที่ยังคงมีการใช้โทษประหาร อาทิ ญี่ปุ่น จีน และรัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ว่าสามารถใช้ควบคุมความสงบของสังคมได้
 
         นี่จึงถือเป็นการก้าวไปสู่การถกเถียงกันในเชิงแนวคิด ระหว่างการยึดความสงบเรียบร้อยและปกป้องสิทธิของผู้อื่น กับการให้ความสำคัญกับสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียมแม้จะเป็นนักโทษไปเรียบร้อยแล้ว
 
 
ระหว่างที่เรากำลังเถียงกัน รัฐบาลไทยทำอะไรไปบ้าง?
 
         อย่างไรก็ตาม ระหว่างการถกเถียงอย่างเข้มข้นในสังคมไทยและพื้นที่สื่อว่าควรมีโทษประหารหรือไม่ แต่ความจริงข้อหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่ทราบก็คือ หน่วยงานรัฐของประเทศไทยมีการผลักดันเพื่อก้าวไปสู่การยกเลิกการใช้โทษประหารตลอดมา อาทิ
 
         - การบรรจุประเด็นให้ "เสนอเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ให้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต" ลงไปในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 ระหว่างปี 2557-2561
 
         - การศึกษาความเป็นไปได้ของการยกเลิกโทษประหารชีวิตตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 2 ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทำร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2557
 
         - การประชุม สำรวจ ระดมความเห็นในโอกาสต่างๆ จนออกมาเป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตของสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการของกระทรวงยุติธรรมถึง 2 คณะ และผ่านไปสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งครม.รับทราบและเห็นชอบแล้วตั้งแต่ 26 กรกฎาคม 2559 และอยู่ระหว่างการนำกลับมาดำเนินการต่อของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
 
         - และภายในปี 2561 รัฐบาลไทยยังมีเป้าหมายที่จะลงนามและให้สัตยาบันรับรอง "พิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เรื่องมุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต" ด้วย
 
         และหากย้อนไปเมื่อเดือนตุลาคม 2560 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ยังมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเนื่องในวันต่อต้านการประหารชีวิตโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม ร่วมกับคณะผู้แทนของสหภาพยุโรป โดยมีผู้แทนทั้งที่อยู่ในแวดวงยุติธรรม ทหาร ตำรวจ นักวิชาการ และภาคประชาชนเข้าร่วม ซึ่งมีการให้ความเห็นจากทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านการใช้โทษประหารอย่างหลากหลาย
 
 
เขาเสนออะไรกันเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต?
 
         ทีมข่าวขอประมวลข้อเสนอและความคิดเห็นจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล และจากการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ที่มีต่อการใช้โทษประหารชีวิต ซึ่งบางข้อก็อยู่ในแผนการเปลี่ยนแปลงโทษประหารของกระทรวงยุติธรรมแล้ว ได้แก่
 
         1. ควรเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตสถานเดียวใน "บางฐานความผิด" ที่ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรงที่สุด โดยเปิดให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการพิพากษาประหารชีวิตหรือจำคุกแทนก็ได้ ตัวอย่างฐานความผิดในกลุ่มนี้ก็เช่น การชิงทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุทางศาสนาอันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน หรือได้กระทำในวัด หรือสถานอันเป็นที่เคารพทางศาสนา จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, การปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, การใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ให้ผู้อื่นเสพเฮโรอีน โดยเป็นการกระทำต่อผู้หญิงหรือต่อบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นต้น ข้อนี้มีการบรรจุในแผนระยะที่ 1 ในการเปลี่ยนโทษประหารชีวิตของกระทรวงยุติธรรมด้วย
 
         2. การปรับฐานความผิดที่มีโทษประหารชีวิตลดลงจาก 63 ฐานความผิดในปัจจุบัน โดยเฉพาะในความคิดที่ไม่เกี่ยวกับชีวิต หรือความผิดที่ไม่ส่งผลถึงความตายของผู้อื่น ข้อนี้ก็อยู่ในแผนระยะที่ 2 ในการเปลี่ยนโทษประหารชีวิตของกระทรวงยุติธรรม
 
         3. การเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต ข้อนี้มี 3 แนวทางคือ เปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตโดยห้ามมิให้มีการลดโทษใดๆ, เปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตโดยต้องจำคุกอย่างน้อย 20 ปี ราชทัณฑ์จึงจะพิจารณาลดโทษได้ และเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตเฉยๆ ข้อนี้ก็อยู่ในแผนระยะที่ 3 ในการเปลี่ยนโทษประหารชีวิตของกระทรวงยุติธรรม
 
         4. ในวงประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อเดือนตุลาคม 2560 มีการเสนอโทษพิเศษบางสถาน อาทิ การฉีดยาเพื่อให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศในคดีข่มขืนแทนการประหารชีวิต ข้อเสนอนี้มาจากผู้เข้าร่วมงานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยืนยันในจุดยืนว่าหากยกเลิกการประหารชีวิต ต้องมีมาตรการอื่นที่ได้ผลเท่ากันในการควบคุมอาชญากรรมมาทดแทน อย่างไรก็ตาม โทษพิเศษที่ถูกเสนอนี้ไม่มีอยู่ในหลักกฎหมายอาญาของไทยในปัจจุบัน ที่มีโทษอยู่ 5 สถาน อันได้แก่ ปรับ, ริบทรัพย์สิน, กักขัง, จำคุก และประหารชีวิต แต่อย่างใด
 
         5. ที่ประชุมยังเสนอให้มีระบบฟื้นฟูและดูแลนักโทษ เพื่อให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพและไม่กลับมาผิดซ้ำ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และเรียกร้องให้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษในคดีต่างๆ ด้วย
 
        ทั้งหมดนี้คือภาพรวมเรื่อง "โทษประหารชีวิต" ของประเทศไทยในปัจจุบัน.
 
อ้างอิง / แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
 
         หากสนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเชิงลึก (กว่านี้) สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่
         - เอกสารวิชาการ "รณรงค์การเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล" โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม (คลิก
         - งานวิจัยเรื่อง "การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไทย เกี่ยวกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต" โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด และคณะ (คลิก
         - เอกสารทางวิชาการประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ “โทษประหารชีวิตยังจําเป็นต่อสังคมไทยหรือไม่” โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, รองศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด และคณะ (คลิก)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง