อย.เตรียมออกกฎกระทรวงคุมเข้มเครื่องสำอางจากกรณีเมจิกสกิน-ย้ำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนไม่ได้
logo ข่าวอัพเดท

อย.เตรียมออกกฎกระทรวงคุมเข้มเครื่องสำอางจากกรณีเมจิกสกิน-ย้ำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนไม่ได้

ข่าวอัพเดท : นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าหลังจากมีการบุกทลายเครือข่ายเมจิกสกิน อย.ขอชี้แจงว่าได้มี อย.,เมจิกสกิน,ลีน,เครื่องสำอาง,ผลิตภัณฑืเสริมอาหาร,ลดความอ้วน

5,033 ครั้ง
|
30 เม.ย. 2561
นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าหลังจากมีการบุกทลายเครือข่ายเมจิกสกิน อย.ขอชี้แจงว่าได้มีการเฝ้าระวังกรณีที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้น
 
 
โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาในเครือของบริษัทได้มาจดแจ้งกับ อย. ในปี 2560 ซึ่ง อย.ได้มีการสุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์และเฝ้าระวังเชิงรุกเกี่ยวกับการโฆษณาในโซเชียลมาโดยตลอด จนตรวจพบความผิดปกติที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเดือนมกราคม 2561 จึงได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบสถานที่ผลิตที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และได้ร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เข้าค้นสถานที่ผลิต 2 แห่งบุกทลายโกดัวอีก 2 แห่งในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้มีการแถลงข่าวให้ประชาชนทราบเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และทางบริษัทก็ให้การรับสารภาพว่าไม่ได้ผลิตตามที่จดแจ้ง อย.จึงมีคำสั่งเพิกถอนใบรับแจ้งและเรียกคืนเครื่องสำอางรวม 266 รายการ และประกาศให้ประชาชนทราบในเดือนมีนาคม 2561 จากนั้นในเดือนเมษายน 2561 อย.ยังมีคำสั่งให้สถานประกอบการผลิตอาหารของบริษัทที่จังหวัดนครราชสีมางดการผลิต และรวบรวมส่งข้อมูลให้ตำรวจขยายผลดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมกันตรวจสถานที่ผลิตที่เกี่ยวข้อง คือ บริษัท พีโอเอส คอสเมติก ไทยแลนด์ จำกัด ที่สมุทรสาครและนนทบุรีอีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเพิกถอนเลขทะเบียนจดแจ้ง ทั้งนี้ อย. ขอยืนยันว่ามีการจัดการกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด
 
ทางอย.จึงเตรียมเพิ่มมาตรการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ได้แก่การออกกฎกระทรวงในกรณีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เพื่อประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยจะมีการปรับเชิงระบบ เนื่องจากพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางเพื่อขายต้องจดแจ้งก่อน เมื่ออย.รับแจ้งแล้ว จึงจะผลิตเครื่องสำอาง ณ สถานที่ที่แจ้งไว้ โดยสถานที่ผลิตต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดด้วย โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้ และหากผู้ประกอบการใดฝ่าฝืนจะถูกเพิกถอนใบรับจดแจ้ง และมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งเกณฑ์ที่เพิ่มมานี้ไม่ได้กระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจเครื่องสำอางแต่อย่างใด เพราะเป็นมาตรฐานเบื้องต้นที่สถานที่ผลิตควรจะมีอยู่แล้ว
 
นอกจากนี้ อย.จะร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศออกตรวจสถานที่ผลิตเครื่องสำอางว่ามีการผลิตตรงตามที่จดแจ้งหรือไม่ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนหลังจากประกาศฯ มีผลบังคับใช้
 
ส่วนกรณีระบบ e-submission หรือระบบรับจดแจ้งเลขอย.ทางออนไลน์ นายแพทย์วันชัยกล่าวว่า ได้มีการยกเลิกระบบอนุมัติอัตโนมัติไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 แล้ว ขณะนี้ ระบบ e-submission เป็นเพียงช่องทางการยื่นคำขอและประมวลผลเบื้องต้นเท่านั้น แต่ปัจจุบันจะมีเจ้าหน้าที่พิจารณาก่อนรับจดแจ้งทุกคำขอ เพื่อตรวจสอบความละเอียดทั้งชื่อเครื่องสำอางที่ต้องเป็นคำสุภาพ ไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด วิธีใช้และสูตรส่วนประกอบสอดคล้องกันและเป็นไปตามกฎหมายเครื่องสำอาง โดยใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน ซึ่งสาเหตุที่ยังต้องมีระบบ e-submission อยู่ เนื่องจากเป็นช่องทางที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ดี และสำหรับกรณีอาหารก็เช่นกัน ไม่มีระบบ Auto e-submission อยู่แล้ว ผู้ผลิตต้องมีการขออนุญาตสถานที่ก่อนจึงขออนุญาตขึ้นทะเบียนอาหารได้ ซึ่ง อย.มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ในด้านโฆษณาก็ต้องขออนุญารตก่อนเช่นกัน โดยจะมีการให้เลข ฆอ. ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ กรณีของดารา นักแสดง พรีเซนเตอร์ เน็ตไอดอล ครู ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข หรือผู้ใด หากมีการบรรยายสรรพคุณเกินจริง ต้องถูกดำเนินคดีได้รับโทษสูงสุด
 
เลขาธิการ อย. ยืนยันว่า การตรวจเลขที่อนุญาตจาก อย.ยังคงเป็นวิธีเบื้องต้นที่ขอแนะนำให้ผู้บริโภคให้ความใส่ใจก่อนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ โดยสามารถตรวจสอบได้ผ่าน สายด่วย อย.1556, เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th, www.oryor.com, Line : FDAThai และ Oryor Smart Application เพื่อตรวจสอบว่ามีการขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่ตรงกันทั้งชื่อ ที่อยู่ ผู้ผลิต ชื่อผลิตภัณฑ์ และเลขที่อนุญาต เพื่อป้องกันการสวมเลข อย.ปลอม ที่สำคัญ หากพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดเกินจริง เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างลดความอ้วน หรือเครื่องสำอางอ้างทาให้ผิวขาวใน 3 วัน 7 วัน ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมที่เป็นอันตรายก่อนร่างกาย อย่าซื้อมาบริโภคเด็ดขาด
 
ส่วนกรณีผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร "ลีน" นั้น นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ อย. เผยว่าอย.ได้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว โดยสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีและตำรวจสภ.เมืองชลบุรีได้เข้าตรวจสอบพร้อมเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร "ลีน เอฟเอส-ทรี" จากสถานที่จำหน่ายและแบ่งบรรจุอาหาร ที่ต.บ้านสวน อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ตามเลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0017 ผลิตโดยบริษัท Food  Science Supply Service จำกัด วันที่ผลิต 10/12/2017 วันหมดอายุ 10/12/2019  ลักษณะแคปซูลสีเขียวในแผงอะลูมิเนียมพลาสติก แผงละ 10 แคปซูล ผลการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบยาแผนปัจจุบัน "บิซาโคดิล" (Bisacodyl) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย และได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ "ลีน บล้อค เบิร์น เบรก บิวท์" เลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0006  ผลิตโดยบริษัท Food Science Supply Service จำกัด วันที่ผลิต 05-01-18 วันหมดอายุ 05-01-20 ลักษณะแคปซูลสีขาวในแผงอะลูมิเนียมพลาสติก แผงละ 10 แคปซูล ผลการตรวจวิเคราะห์พบ ไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อการทำงานสมองทำให้อยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น และอย.ได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการซื้อและบริโภคอาหารดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทั้งสองเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ และเป็นอาหารที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรืออนามัยของประชาชน ผู้ผลิตจำหน่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
นอกจากนี้ อย.ยังร่วมกับ บก.ปคบ. ตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหาร บริษัท Food Science Supply Service จำกัด จ.ปทุมธานี สุ่มเก็บตัวอย่างวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทั้งสองรายการส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพ นอกจากนี้ยังตรวจสอบการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ "Lyn ลีน" ณ บ้านเลขที่ 109/8 หมู่ 3 ถนนพระยาสัจจา ต.บ้านสวน อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี ซ้ำ ซึ่งพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการแสดงฉากไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงยึดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์และดำเนินการคามกฎหมาย
 
และกรณีข่าวการพบชายเสียชีวิตที่จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 โดยพี่สาวผู้ตายให้การว่าผู้ตายไม่มีโรคประจำตัว แต่ทานยาลดความอ้วนมา 2 เดือน เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ พบผลิตภัณฑ์ Lyn DTOX fS3 (ลีนกล่องสีดำ) ฉลากระบุเลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0017 Lot. No.1801 วันที่ผลิต 05-01-18 วันหมดอายุ 05-01-20 และผลิตภัณฑ์ "ลีน บล้อค เบิร์น เบรก บิวท์" เลขสารบบอาหาร 13-1-05459-5-0006 Lot.No.1802 วันที่ผลิต 10-01-2561 วันหมดอายุ 10-01-2563 จึงได้เก็บผลิตภัณฑ์ทั้งสองรายการไปตรวจสอบว่ามีสารอันตรายหรือไม่ สำหรับการสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงออยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่
 
รองเลขาธิการอย.ยังย้ำว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อ้างลดความอ้วนมักลักลอบใส่สารไซบูทรามีนซึ่งเป็นอันตรายและมีผลข้างเคียงร้ายแรง และขอย้ำว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากผู้บริโภคต้องการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธีควรปรับพฤติกรรมการบริโภคและควบคุมอาหาร รวมถึงบริโภคให้ถูกหลักโภชนาการ ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หากต้องการใช้ยาลดความอ้วน จะต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิต หากพบการจำหน่ายยาลดความอ้วนผิดกฎหมาย หรือการโฆษณา หรือการผลิต ขอให้แจ้งสายด่วนอย.1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ