เริ่มต้นออกกำลังกายยังไง ? ให้ดีต่อสุขภาพของเรา
logo ข่าวอัพเดท

เริ่มต้นออกกำลังกายยังไง ? ให้ดีต่อสุขภาพของเรา

ข่าวอัพเดท : ออกกำลังกาย คือ การทำกิจกรรมที่ได้ออกแรงหรือเคลื่อนไหวร่างกายซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย,สุขภาพ,ลดความอ้วน,ดีต่อสุขภาพ

68,908 ครั้ง
|
13 ก.ย. 2567

ออกกำลังกาย คือ การทำกิจกรรมที่ได้ออกแรงหรือเคลื่อนไหวร่างกายซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ โดยช่วยจัดระเบียบร่างกายและควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดี

รวมทั้งเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายด้านต่าง ๆ ได้แก่ความทนทาน ความแข็งแรง การทรงตัว และความยืดหยุ่น

ความทนทาน ช่วยให้หัวใจแข็งแรง เพื่อร่างกายจะได้ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ดีขึ้น และไม่เหนื่อยง่ายเมื่อทำกิจกรรมหนัก ๆ

ความแข็งแรง ช่วยให้แบกของหนัก ออกแรง รวมทั้งทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้กล้ามเนื้อได้ดีขึ้น

การทรงตัว ช่วยให้ทรงตัว รวมทั้งเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่หกล้มได้ง่าย

ความยืดหยุ่น ช่วยให้ยืดตัว เอี้ยวตัว หรือเคลื่อนไหวร่างกายได้ง่ายขึ้น

การเตรียมตัวสำหรับเริ่มออกกำลังกายถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ฝึกตั้งเป้าหมายสำหรับออกกำลังกายได้อย่างชัดเจน กระตุ้นตัวเองให้ออกกำลังกายอยู่เสมอ อีกทั้งยังออกกำลังกายได้อย่างถูกต้องและส่งผลดีต่อสุขภาพ

1. ระบุกิจวัตรประจำวันที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย ผู้ฝึกที่เริ่มต้นออกกำลังกายควรเริ่มสำรวจว่าตนเองออกกำลังกายสัปดาห์ละกี่วัน ใช้เวลาในการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายแต่ละครั้งนานเท่าไหร่ รวมทั้งระบุกิจกรรมที่กระตุ้นให้ร่างกายเคลื่อนไหว การระบุกิจวัตรดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ฝึกรู้ว่าตนเองควรเริ่มต้นออกกำลังกายที่เหมาะสมอย่างไร

2. ตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกาย การตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกาย จะช่วยให้ผู้ฝึกสามารถออกกำลังได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น เบื้องต้นควรพิจารณาว่าจะตั้งเป้าหมายออกกำลังกายในระยะสั้นหรือระยะยาว ตั้งเป้าที่ทำได้และเห็นผล รวมทั้งหมั่นตรวจสอบเป้าหมายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

3. เขียนแผนการออกกำลังกาย แผนการออกกำลังกายควรมีพื้นฐานมาจากเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเลือกประเภทกิจกรรมและระบุเหตุผล ช่วงเวลา และควรเลือกกิจกรรมที่ผู้ฝึกจะทำได้จริง รวมทั้งหมั่นสำรวจว่าบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ ผู้ฝึกควรปฏิบัติกิจกรรมหรือออกกำลังที่รู้สึกสนุก เพื่อฝึกตัวเองให้ออกกำลังหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน

4. เลือกรองเท้าสำหรับออกกำลังกาย รองเท้าออกกำลังกายนับเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย ผู้ฝึกควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับกิจกรรมแต่ละอย่าง เช่น เดิน วิ่ง เต้น โบว์ลิ่ง หรือเทนนิส โดยเลือกรองเท้าพื้นเรียบ ไม่ทำให้ลื่น รองรับและพอดีกับเท้าของตนเอง

5. ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการออกกำลังกาย การปรับระดับความหนักของกิจกรรมหรือการออกกำลังกาย ถือเป็นเรื่องที่ผู้ฝึกควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งมักทำในกรณีที่ผู้ฝึกบางรายมีปัญหาสุขภาพ หรือไม่สามารถเริ่มออกกำลังกายระดับที่หนักได้ โดยผู้ฝึกควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการออกกำลังกายในประเด็นต่าง ๆ อาการป่วยบางอย่างที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ เช่น เจ็บหรือแน่นหน้าอก ปวดข้อต่อ เวียนศีรษะ หรือหายใจไม่สุด ผู้ฝึกควรพักร่างกายจนกว่าจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาอาการดังกล่าว ผลกระทบจากปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ส่งผลต่อการออกกำลังกาย เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบอาจต้องเลี่ยงออกกำลังกายบางประเภท