เมื่อ "ประยุทธ์" สั่งเพิ่มทุนอาจารย์วิทยาศาสตร์ แล้วประเทศชาติยังเหลียวแลศาสตร์อื่น...หรือไม่?
logo ข่าวอัพเดท

เมื่อ "ประยุทธ์" สั่งเพิ่มทุนอาจารย์วิทยาศาสตร์ แล้วประเทศชาติยังเหลียวแลศาสตร์อื่น...หรือไม่?

ข่าวอัพเดท : เป็นเรื่องที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา เมื่อมีหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการการเศรษฐกิจและสังคมแห่ ทุนพัฒนาอาจารย์,สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา,มหาวิทยาลัย,ประยุทธ์ จันทร์โอชา

10,340 ครั้ง
|
31 ม.ค. 2561
          เป็นเรื่องที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ เมื่อมีหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ลงวันที่ 23 มกราคม 2561 ส่งตรงถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุข้อสั่งการจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พิจารณาควบคุม ลด หรือไม่ให้เงินอุดหนุนสำหรับสาขาวิชาที่ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ หรือจบมาแล้วไม่มีงานทำ ในโครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในอุดมศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ทุนพัฒนาอาจารย์” ที่เป็นทุนสำหรับผลิตและพัฒนาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย 
 
ข่าวอัพเดท : เมื่อ ประยุทธ์ สั่งเพิ่มทุนอาจารย์ว
 
          ผู้ที่ออกมากล่าวถึงหนังสือฉบับนี้เป็นคนแรกๆ คือผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดแบบ “เอาตลาดเป็นที่ตั้ง” ต้องการเห็นผลทันใจ มองประโยชน์ระยะสั้น ไม่เห็นการลงทุนระยะยาวในการพัฒนาสังคม พร้อมแสดงความเห็นว่า สาขาวิชาด้านมนุษยศาสตร์ อาทิ ปรัชญา วรรณคดี จะได้รับผลกระทบจากข้อสั่งการนี้อย่างหนัก ทั้งที่ยังมีจำเป็นต่อสังคมอยู่
 
 
เปิดข้อมูล "ทุนพัฒนาอาจารย์"
เน้นปั้นคนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
 
          ทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ออนไลน์สำรวจข้อมูลพบว่า โครงการทุนพัฒนาอาจารย์นั้นเกิดขึ้นมานานแล้วในหลายรูปแบบ และกำลังจะจบการจัดสรรทุนในรุ่นที่ 2 ทำให้การจัดสรรทุนขาดช่วง แต่สถาบันอุดมศึกษายังมีอาจารย์ที่ต้องได้รับการพัฒนา และต้องมีการผลิตอาจารย์ใหม่ทดแทนอาจารย์ที่จะเกษียณอายุราชการ
 
ข่าวอัพเดท : เมื่อ ประยุทธ์ สั่งเพิ่มทุนอาจารย์ว
 
          สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงเสนอให้ทุนพัฒนาอาจารย์ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2580 จำนวน 5,000 ทุน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2559 ได้อนุมัติโครงการดังกล่าวภายใต้งบประมาณ 15,014 ล้านบาท และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 แต่คณะรัฐมนตรีให้ถอนเรื่องกลับไปพิจารณาเพิ่มเติม โดยทุนดังกล่าวมีเป้าหมายจะจัดสรรให้กับผู้ที่จะไปศึกษาในสาขาที่ตอบสนองกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งได้แก่ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, 4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, 6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, 7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, 8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, 9) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 10) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร นั่นหมายถึงสาขาเหล่านี้ก็จะได้รับการส่งเสริมแน่นอน
 
         แต่ในทางกลับกัน ตามข้อมูลที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยช่วงปลายปี 2560 อาชีพที่อาจตกงาน มีทั้งอาชีพด้านวารสารศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือครุศาสตร์ ... แล้วสาขาวิชาเหล่านี้จะเป็นสาขาแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการโดนปรับทุนพัฒนาอาจารย์หรือไม่? 
 
 
ผู้เปิดประเด็นระบุ เน้นวิทยาศาสตร์ได้
แต่อย่าทอดทิ้งศาสตร์อื่น
 
 
ข่าวอัพเดท : เมื่อ ประยุทธ์ สั่งเพิ่มทุนอาจารย์ว
(ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล)

          ทีมข่าวพูดคุยกับผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้ที่ออกมาเปิดประเด็นเกี่ยวกับข้อสั่งการดังกล่าว ซึ่งระบุว่า ถ้ารัฐบาลต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมบางประเภทที่เห็นว่าจำเป็นในอนาคต เช่น ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลก็ควรจะจัดลำดับความสำคัญลงไปในแผนให้ชัดเจน เช่น ต้องมีการส่งไปเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาใดบ้าง ซึ่งอันนี้ทำได้เลยและควรทำด้วย เพื่อจะได้ตอบโจทย์ประเทศ หรือถ้าจะมีการปรับเพิ่มสัดส่วนก็ต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เสียสมดุล แต่ไม่ใช่การบอกว่าหากสาขาไหนจบมาแล้วยังไม่มีงานทำทันทีหรือเป็นคณะที่ไม่ควรมีการผลิตเพิ่มก็ไม่ส่งอาจารย์ไปเรียนเลย

 
 
          “ถ้าอย่างหลังนี่มันจะเป๋ไง เพราะคุณลองนึก อย่างรัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ คือมันไม่ได้จบปุ๊บมันมีตลาดงานเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนน่ะ เพราะคณะวิชาเหล่านี้มันเป็นคณะที่ต้องใช้ความรู้ไปประยุกต์เอาเวลาไปทำงาน ไม่ใช่คณะที่เป็นวิชาชีพชัดเจนเหมือนวิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ หรือครุศาสตร์ ซึ่งถามว่าคณะเหล่านี้สำคัญ จำเป็นมั้ย ก็สำคัญและจำเป็น เพราะถ้าเกิดไม่มีการเรียนการสอนอยู่ ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยก็ไม่ต่างกับโรงฝึกอาชีพ” ผศ.อรรถพลกล่าว “คุณก็บอกไปเลยให้ชัดว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนี่ยคุณจะเน้นอะไร แล้วก็ประกาศจูงใจไปว่ามาเรียนอันนี้กันเพราะมีตำแหน่งอาจารย์จูงใจรองรับอยู่ จะได้มาเป็นกำลังสำคัญในการผลิตบัณฑิตรุ่นต่อไป”
 
          “แต่ตอนนี้นัยยะที่เห็นมันกำกวม ซึ่งเราไม่รู้ไอเดียเบื้องหลังหนังสือชิ้นนี้ไงว่าเขาคุยอะไรกัน แต่พอมันออกมาดื้อๆ แบบนี้มันแปลว่าอะไร มันแปลว่าคณะวิชาที่เขาไม่ได้ผลิตบัณฑิตออกไปตอบโจทย์ตลาด เขาจะไม่สนับสนุนให้คนไปเรียนไหม ถ้าเช่นนั้นมันก็จะมีปัญหาแล้ว เพราะปกติสาขาวิชาเหล่านั้นคนก็จะไม่ได้มีแรงจูงใจในการไปเรียนโท-เอกเองอยู่แล้ว” ผศ.อรรถพลระบุ
 
ข่าวอัพเดท : เมื่อ ประยุทธ์ สั่งเพิ่มทุนอาจารย์ว
 
          เมื่อทีมข่าวถามถึงประโยคที่ ผศ.อรรถพลโพสต์ลงไปในเฟซบุ๊กว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนเครื่องจักรผลิตแรงงานป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม ผศ.อรรถพลอธิบายกับเราว่า ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยจำนวนมากอยู่ได้ด้วยการช่วยอุดหนุนเงินรายหัวสำหรับนักศึกษา จนเกิดมีการแย่งผู้เรียนกัน ดังนั้นเมื่อจะจูงใจให้คนมาเรียนจึงมีการเปิดคณะวิชาที่ตลาดกำลังต้องการแรงงานสูง สาขาที่เป็นวิทยาศาสตร์บางสาขา เช่น เคมี, ฟิสิกส์, ชีววิทยา ฯลฯ ก็จะหาคนเรียนยากมาก และหากมีการเทสัดส่วนทุนพัฒนาอาจารย์ไปยังสาขาใดมากเกินไปก็จะทำให้มหาวิทยาลัยแห่ไปเปิดสาขานั้นมากขึ้นไปอีก
 
          “แต่ถามว่าคุณไม่มีอาจารย์จบฟิสิกส์มาเนี่ย คุณจะไปยังไง (หัวเราะ) คือเทคโนโลยีมันต้องมีฐานทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ด้วยถูกรึเปล่า เราจะเรียนอะไรที่มันใช้งานเลย เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ โดยที่ละเลยศาสตร์พื้นฐาน มันก็ไม่สมดุลในมหาวิทยาลัย แล้วก็ทำให้หลายคณะวิชาถูกลดความสำคัญลง แล้วพอคุณไม่ลงทุนในการพัฒนาอาจารย์ในศาสตร์นั้น ศาสตร์ก็จะยิ่งอ่อนแอ” ผศ.อรรถพลระบุ ซึ่งเขายังชี้ด้วยว่า การแห่เปิดสาขาเดียวกันมากๆ ก็ทำให้แรงงานล้นตลาด เช่น 20 ปีที่แล้วมีการแห่มาเรียนนิเทศศาสตร์ ถึงจุดๆ หนึ่งตลาดแรงงานไม่ได้เยอะขนาดนั้น ก็มีคนตกงานจำนวนมาก นี่แสดงว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้มองถึงอนาคต แต่ถูกขับเคลื่อนไปด้วยการตลาดและไม่รับผิดชอบต่อผู้เรียน 
 
ข่าวอัพเดท : เมื่อ ประยุทธ์ สั่งเพิ่มทุนอาจารย์ว
 
          ผศ.อรรถพลยังเสริมว่า การตกงานสำหรับบางสาขาอาชีพไม่ได้ตกจริง แต่ตกเพราะไม่ได้มีตำแหน่งรองรับเป็นรูปธรรม เช่น “เต๋อ-นวพล” ผู้กำกับชื่อดังที่จบสาขาปรัชญา แต่กว่าจะโตตเป็นผู้กำกับที่ได้รับการยอมรับเขาต้องไปเป็นเด็กกองถ่าย ไปทำหนังสั้นสักพักใหญ่ ซึ่งถ้านับช่วงนั้นก็คือเขาตกงาน แต่พอเข้าที่แล้วเขาก็กลายเป็นศิลปินที่มีคนรู้จักและสร้างทุนวัฒนธรรม เป็นตัวแทนประเทศไประดับนานาชาติได้ เป็นต้น ดังนั้นหากคิดว่าจบแล้วต้องได้งานเลยก็จะไม่เข้าใจว่าเรียนมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์แล้วมีประโยชน์อย่างไร เขาย้ำว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่พัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนสร้างความรู้ให้กับสังคม และเป็นสะพานเชื่อมความรู้ระหว่างประเทศไทยกับระดับสากลด้วย
 
 
อาจารย์วิทยาศาสตร์ชี้ ควรหาจุดสมดุล
ให้ศาสตร์สำคัญอยู่ได้-ประเทศไทยก้าวหน้า
 

           ทีมข่าวไปหาความคิดเห็นอีกด้านกับอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะที่น่าจะเป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล และน่าจะได้รับการส่งเสริมจากทุนพัฒนาอาจารย์มากขึ้น

 

          รศ.เจษฎาระบุว่า ในการปฏิรูปการศึกษา มีการพูดกันมานานแล้วว่าอัตราการผลิตกำลังคนของประเทศไทยไม่ค่อยเหมาะสม เพราะเรามีการผลิตกำลังคนสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ถึงร้อยละ 70 แต่สายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงร้อยละ 30 ซึ่งมีความพยายามปรับให้เป็น 50 ต่อ 50 ให้ได้ หรือประเทศที่พัฒนาแล้วหรือเน้นอุตสาหกรรมอาจจะต้องกลับข้างให้เป็นวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีถึงร้อยละ 70 ด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมาในไทยทำไม่ได้เลย เคยมีความพยายามในการให้ทุนจำพวกที่กำหนดสาขาเลยว่าให้ไปเรียนสาขาใด แต่โครงการดังกล่าวก็กำลังจะถูกยกเลิก ดังนั้นตนจึงไม่แปลกใจที่นายกรัฐมนตรีจะออกแนวคิดที่ต้องการชี้นำไปยังสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า

ข่าวอัพเดท : เมื่อ ประยุทธ์ สั่งเพิ่มทุนอาจารย์ว
(รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์)
 
 
          “แต่เรื่องใหญ่ก็คือว่า อย่างจุฬาฯ เองก็พูดประเด็นนี้กันมานานว่า ในสาขาที่แม้จะไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด แต่เป็นสาขาที่มีความสำคัญ แล้วก็มีการเก็บรักษาเอาไว้ แล้วถ้าไม่มีอาจารย์ที่จะมาสอนเนี่ย สุดท้ายหลักสูตรพวกนี้มันก็จะหายไปเลย ตัวอย่างเช่น สาขาที่มีความเป็นมนุษยศาสตร์สูง อย่างเช่นสาขาปรัชญา สาขาทางด้านภาษาที่เป็นภาษาโบราณ สมมติอย่างภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตต่างๆ คือถ้าไม่เก็บคนที่เขามีศักยภาพด้านนี้ไว้ หรือไม่ส่งเสริมให้มีหลักสูตร อยู่ๆ ไปมันจะหายสาบสูญไปเลย ในเชิงของมหาวิทยาลัยเองก็เลยต้องมีการหาสมดุลทั้งสองส่วน คือเพิ่มหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น แต่หลักสูตรทางด้านที่บอกว่าไม่ได้เป็นการสร้างรายได้ แต่มีความจำเป็นต่อวงการการศึกษา ก็ต้องพยายามอนุรักษ์ พยายามส่งเสริมเอาไว้” รศ.เจษฎากล่าว
 
ข่าวอัพเดท : เมื่อ ประยุทธ์ สั่งเพิ่มทุนอาจารย์ว
 
          ทีมข่าวถามถึงความกังวลว่าการที่มีอาจารย์เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มหาวิทยาลัยสามารถเปิดสาขาด้านที่รัฐส่งเสริมได้มากขึ้นและจะได้งบจากการมีนักศึกษาในสาขาเหล่านั้นมากขึ้น แต่สาขาอื่นๆ ที่เหลือจะไม่ถูกเหลียวแลหรือไม่ ผศ.เจษฎามองว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่คำถามคือจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหนและมีผลกระทบรุนแรงเพียงใด แต่โดยส่วนตัวมองว่าการกลับขั้วจนสาขามนุษยศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ไม่มีพื้นที่เหลือเลยนั้นยากมาก และการผลักดันสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังต้องพยายามอีกมาก
 
          แล้ววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร? คำตอบที่ได้จากรศ.เจษฎาคือ ขณะนี้ถ้าเทียบแล้วประเทศไทยยังอยู่ในระดับ 2.0 หรือ 3.0 คือประเทศที่ยังใช้แรงงานมีฝีมือ และสินค้าเทคโนโลยีอยู่ ดังนั้นเราต้องสร้างคนที่ไปขับเคลื่อนหรือทำงานกับระบบเหล่านี้ได้ 
 
          “แต่ถ้าเราจะไปไกลกว่านั้น ที่เราชอบพูดเรื่องประเทศไทย 4.0 หรืออะไรก็ตามเนี่ย ความจริงต้องพูดถึงนวัตกรรม เรื่องการสร้างเทคโนโลยีของตัวเองหรือองค์ความรู้ของตัวเอง เกาหลี สิงคโปร์ไปไกลได้เพราะเขาคิดเอง สร้างเองเยอะ ไม่ได้ซื้ออย่างเดียว ซึ่งบ้านเราตอนนี้มันแทบไม่มีเลย บ้านเราจะเป็นการซื้อ ฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถสร้างคนทางสาขานี้ได้ โอกาสที่เราจะเข้าไปสู่ในยุคที่บอกว่าสร้างนวัตกรรมตัวเอง 4.0 เนี่ย มันก็จะต่ำ และรายได้ต่อหัวประชากรก็จะต่ำไปด้วย สมมติถ้าเรายังอยู่ในกรอบเดิมๆ นะ เป็นการใช้แรงงาน ยังไม่สามารถเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงได้ เราก็พัฒนาชาติไปแข่งขันกับคนอื่นค่อนข้างลำบาก” รศ.เจษฎาให้ความเห็น
 
ข่าวอัพเดท : เมื่อ ประยุทธ์ สั่งเพิ่มทุนอาจารย์ว
 
          รศ.เจษฎายอมรับว่า ทุกวันนี้มีอาจารย์ในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่เพียงพอ เพราะสายนี้ใช้สัดส่วนอาจารย์จำนวนมากต่อผู้เรียนที่มีอยู่ เช่น วิชาด้านแพทย์ วิศวกรรม ต้องมีผู้ช่วยสอนด้านปฏิบัติการ และวันนี้การขาดแคลนอาจารย์สาขาเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ ทำให้ไม่สามารถขยายจำนวนผู้เรียนได้ ดังนั้นการเพิ่มปริมาณอาจารย์ให้มากขึ้นและมีคุณภาพขึ้นก็จะช่วยกระตุ้นให้หลักสูตรเปิดมากขึ้นได้ และยังเสริมว่า ถ้าจะทำให้คนสนใจเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ต้องทำให้เห็นภาพชัดว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสาขาที่มีเส้นทางอนาคตค่อนข้างชัด มีรายได้ชัดเจน แล้วก็การศึกษาไม่ใช่จำกัดเฉพาะคนที่เราไปสร้างภาพว่าต้องเก่งมากๆ อีกต่อไป
 
 
 
รมช.ศึกษาธิการยัน ยังให้ความสำคัญทุกด้าน
แต่ขอพื้นที่ให้สายวิทยาศาสตร์
ยอมรับประเทศไทย "ไม่เคยวางแผนกำลังคน"
 
ข่าวอัพเดท : เมื่อ ประยุทธ์ สั่งเพิ่มทุนอาจารย์ว
(ศ.นพ.อุดม คชินทร)

            และเพื่อหาคำตอบของความกังวลทั้งหมด ทีมข่าวพูดคุยกับ ศ.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อถามหาคำตอบสำหรับข้อสงสัยและความกังวลที่เกิดขึ้น ศ.นพ.อุดม ยืนยันว่านโยบายดังกล่าวไม่ใช่การไม่ให้ทุนในสายสังคมหรือมนุษยศาสตร์ เพียงแต่เป็นการปรับสัดส่วนใหม่ เพราะประเทศต้องการการพัฒนาและขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันกำลังคนในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขาดแคลนมาก รัฐบาลก็ต้องเดินหน้าเพื่อให้ประเทศพัฒนาไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เอาสังคมศาสตร์ แค่ต้องการให้สาขาที่ตอบเป้าหมายของประเทศมีเพิ่มขึ้น

 
          “เรายังให้ทุนทุกสาขาเหมือนเดิม แม้แต่สาขาทางวัฒนธรรมเราก็ให้อยู่ เพียงแต่ตอนนี้ส่วนที่มันเกินเนี่ย ถ้าเราดูจำนวนบัณฑิตที่จบตอนนี้ เป็นสายสังคมและมนุษยศาสตร์ถึง 66% เลย เป็นสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแค่ 33% ดังนั้นคนถึงไม่พอ เราก็บอกว่าตอนนี้ขอปรับ ในช่วงที่ประเทศกำลังเดินไปข้างหน้า เพื่อที่จะแข่งขันกับคนอื่นได้ ในช่วง 5-10 ปีนี้ ขอให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 50%”
 
          อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.อุดมกล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเลขที่ต้องการให้ผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50% นั้นเป็นเพียงการประมาณการของตนเท่านั้น ส่วนตัวเลขจริงตนยังรอข้อมูลอยู่ว่าจะเป็นเท่าใด ซึ่งก็ต้องประเมินและปรับเป็นระยะทุก 3-5 ปี เพราะบางสาขาก็จะมีความต้องการน้อยลงจากสาเหตุต่างๆ อาทิ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ทำงานแทนได้ เป็นต้น 
 
ข่าวอัพเดท : เมื่อ ประยุทธ์ สั่งเพิ่มทุนอาจารย์ว
 
          แต่สำหรับความกังวลว่ามหาวิทยาลัยจะไปทุ่มทรัพยากรให้สายวิทยาศาสตร์จนละเลยสาขาอื่นๆ หรือไม่คำนึงถึงตลาดแรงงานที่อาจจะล้นในอนาคต ศ.นพ.อุดมระบุว่า เรื่องการละเลยสาขาอื่นนั้นตนไม่กังวล เพราะอาจารย์ที่อยู่ในสายสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ยังมีการเรียนการสอน มีภาระงานเช่นเดิม และงบประมาณก็ยังต้องได้อยู่ 
 
          “เป็นไปไม่ได้หรอกที่ผู้บริหารจะไปบรีฟเขา บอกเฮ้ย เราจะตัดนะ ไม่ให้คุณเปิด หรือไปตัดจำนวนเกินความเหมาะสม มันทำไม่ได้อยู่แล้ว มันมี Check and Balance กันอยู่ครับ” ศ.นพ.อุดมกล่าว
 
          ส่วนเรื่องการแห่เปิดจนตลาดแรงงานล้นในอนาคต ศ.นพ.อุดมระบุว่าคิดว่าจะมีแนวปฏิบัติออกไป ยอมรับว่าเป็นความบกพร่องของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่เคยวางแผนกำลังคนล่วงหน้าเลย ไม่มีใครดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ ตนมองว่ากระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงการอุดมศึกษาที่จะเกิดขึ้นใหม่ต้องมีหน้าที่วางแผนกำลังคนให้กับประเทศว่าจะมีอาชีพใดเกิดขึ้น ว่าต้องการเท่าไร กี่ปี และต้องทบทวนหลักสูตรเดิมที่มีอยู่กว่า 9,000 หลักสูตรว่าจะปรับการผลิตคนอย่างไร ซึ่งตนให้สกอ.ดำเนินการอยู่ ให้ไปคุยกับภาคเอกชนและอุตสาหกรรมให้การช่วยประมาณการเรื่องนี้ แม้แต่สาขาที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายก็ต้องมีการควบคุมด้วย
 
          ส่วนข้อกังวลว่าบางสาขาวิชาเรียนจบแล้วอาจไม่เห็นมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่สามารถสร้างมูลค่าได้ในระยะยาว ซึ่งอาจจะถูกละเลย ศ.นพ.อุดมยืนยันว่ายังคงให้ความสำคัญอยู่ เพราะจากทุนทั้งหมดที่มี ได้จัดสรรให้สาขาที่เกี่ยวกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายไปเพียง 70% ของทุนทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังมีอีก 30% ที่จะให้สาขาอื่นๆ ได้ แม้แต่สาขาด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นก็ยังอยู่ในการให้ทุนครั้งนี้ ฉะนั้นยืนยันว่าสาขาอย่างภาพยนตร์หรือวรรณกรรมก็ยังรวมอยู่ในทุนพัฒนาอาจารย์เช่นเดิม 
 
          เมื่อถามว่าประเทศไทยขาดแคลนอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือไม่ ศ.นพ.อุดมตอบว่าขาด และตั้งข้อสังเกตว่าทัศนคติของเด็กไทยมีความแปลก เพราะไม่ชอบเรียนสายวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่ไปทางสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่อาจจะเพราะง่ายกว่า, สายวิทยาศาสตร์เห็นเส้นทางอาชีพไม่ชัดเจน รวมถึงค่านิยมของผู้ปกครองที่นิยมให้ลูกหลานเอนทรานซ์ติดให้ได้ไม่ว่าคณะใด ซึ่งอาจทำให้นักเรียนเลือกเรียนบางคณะที่สอบติดได้ง่ายกว่า
 
ข่าวอัพเดท : เมื่อ ประยุทธ์ สั่งเพิ่มทุนอาจารย์ว 
 
          ปิดท้ายกับคำถามที่ ผศ.อรรถพลตั้งไว้ว่า สถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันมุ่งเป็นเครื่องจักรผลิตคนเพื่อสนองตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียวหรือไม่ ศ.นพ.อุดมตอบว่าจริงๆ แล้วอุดมศึกษามีหน้าที่สร้างคนให้มีทักษะ ประสบการณ์สูงขึ้น เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงภาคอุตสาหกรรม แต่ยังหมายถึงภาครัฐ งานวิจัย นโยบายต่างๆ ด้วย ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาเองก็ต้องปรับตัวกับความท้าทาย ทั้งลักษณะของผู้เรียนยุคใหม่ที่ต่างจากอดีต, จำนวนนักศึกษาที่น้อยลง รวมถึงการศึกษาออนไลน์ที่เรียนรู้ได้ตลอดเวลาและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
 
          “มหาวิทยาลัยต้องกลับไปดูตัวเองว่าตัวเองเก่งอะไร มีจุดแข็งคืออะไร และต้องสร้างจุดเด่นให้ได้ ต้องหาตัวตนให้เจอ และรักษาไว้ อย่างบางคณะเก่งประวัติศาสตร์ก็ต้องรักษาไว้ ผมยังเชื่อว่าคนก็จะมีความหลากหลาย บางคนอยากเรียนปรัชญา อยากเรียนสังคม อยากเรียนวิทยาศาสตร์ ผมคิดว่าถ้าใครไม่ปรับตัว ไม่ดึงดูดเด็กให้ได้ อันนั้นแหละคือปัญหา” ศ.นพ.อุดมสรุป
 
---------------------------------------------------------
 
          แม้ว่ายังมีความกังวลในแนวทางปฏิบัติ แต่หลักการที่แขกรับเชิญทั้งสามท่านของเราเห็นพ้องต้องกัน คือการ “รักษาสมดุล” ทางวิชาการในสาขาวิชาต่างๆ ที่มีอยู่ ไปพร้อมๆ กับการ “เสริมจุดเน้น” ในสาขาที่เป็นที่ต้องการและเป็นสาขาสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทุกฝ่ายคงต้องติดตามกันต่อไปว่า การเพิ่มความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะนำไปสู่การเพิ่มกำลังคนเพื่อมาพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และจะทำอย่างไรให้วิชาการในแขนงต่างๆ ยังคงถูกรักษาและพัฒนาต่อไปได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้
 
(ภาพประกอบ : ช่อง 3 - มติชน)
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง