หลากเสียงประสาน! ค้านให้อำนาจป.ป.ช. "ดักฟังโทรศัพท์" ชี้ละเมิดสิทธิ์ประชาชน ระวังผลร้ายย้อนกลับ
logo ข่าวอัพเดท

หลากเสียงประสาน! ค้านให้อำนาจป.ป.ช. "ดักฟังโทรศัพท์" ชี้ละเมิดสิทธิ์ประชาชน ระวังผลร้ายย้อนกลับ

ข่าวอัพเดท : นักวิชาการรัฐศาสตร์-นักการเมือง-กรธ. และบางส่วนของสนช. ประสานเสียงแสดงความกังวลการเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช.ดักฟังโทรศัพท์เป็นการละเมิดสิทธิ์ ดักฟังโทรศัพท์,ปปช,สนช

5,755 ครั้ง
|
20 ธ.ค. 2560
นักวิชาการรัฐศาสตร์-นักการเมือง-กรธ. และบางส่วนของสนช. ประสานเสียงแสดงความกังวลการเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช.ดักฟังโทรศัพท์เป็นการละเมิดสิทธิ์ประชาชนซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ชี้ไม่ควรให้อำนาจเบ็ดเสร็จในตัวเองเพราะจะเกิดผลร้ายในอนาคต ด้านสนช.สายสนับสนุนมองว่าคำสั่งดักฟังต้องผ่านศาลมาก่อนอยู่แล้ว ไม่ใช่ทำได้ตามอำเภอใจ
 
ตามที่ในวันพรุ่งนี้ สนช.เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ กฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งมีบทบัญญัติเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. ให้สามารถดักฟังโทรศัพท์บุคคลที่ส่อว่าทุจริตได้ รวมถึงมีอำนาจตรวจสอบการส่งข้อความออนไลน์และจดหมายทางไปรษณีย์ เพื่อปราบปรามการทุจริต ซึ่งสมาชิก สนช.เตรียมอภิปรายกันอย่างเต็มที่เนื่องจากสมาชิก สนช. หลายคนมีความเห็นไม่ตรงกันโดยเฉพาะกรณีเพิ่มอำนาจดักฟัง อย่าง นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ มองว่าสามารถทำได้เพราะการพิจารณาเรื่องนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากอธิบดีศาลทุจริตและประพฤติมิชอบก่อน ป.ป.ช.ไม่สามารถใช้อำนาจได้ทันที 
 
ขณะที่พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม มองว่าเป็นเรื่องอันตรายเพราะจะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แม้ว่าจะผ่านการพิจารณาจากศาล แต่คนที่ปฏิบัติหน้าที่จริงๆไม่ใช่แค่กรรมการ ป.ป.ช. ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับล่างด้วย ดังนั้นถ้าอำนาจไม่ตกอยู่ในมือผู้ไม่เป็นธรรมก็จะเป็นปัญหาได้
 
นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. กล่าวถึงกรณีการเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. ดักฟังเสียงโทรศัพท์และตรวจสอบแชทไลน์ต่างๆนั้น ที่ประชุม สนช. พรุ่งนี้ต้องพิจารณากันใหม่ให้รอบคอบเพราะวันข้างหน้าหากไม่มี ป.ป.ช. ชุดนี้จะเป็นอย่างไร อาจจะย้อนกลับมาเล่นงานสมาชิกในสภาเองได้ อีกทั้งเรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญได้
 
ด้านความเห็นจากนักวิชาการและนักการเมือง รศ.ตระกูล มีชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ สนช. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. กำหนดเพิ่มอำนาจให้ป.ป.ช. สามารถดักฟังเสียงบุคคลที่ส่อทุจริตได้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยและให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งส่วนตัวยังไม่เข้าใจเจตนารมณ์การเขียนกฎหมายลักษณะนี้ เพราะเท่ากับเป็นการให้อำนาจพิเศษที่เกินขอบเขตและเบ็ดเสร็จภายในตัว ทั้งที่เรื่องการเข้าถึงข้อมูลไม่ใช่ปัญหาตั้งแต่ต้น เพราะป.ป.ช.เองก็มีช่องทางในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบได้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้ สนช.พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะหากจะคิดว่าอยากจะทำอะไรโดยไม่มีขอบเขตและกลไกรองรับที่ดีพอ ถือเป็นสิ่งที่อันตราย และกลายเป็นเป้าที่ไปละเมิดสิทธิ์ประชาชนซึ่งอาจขัดต่อบทบัญญัติที่ให้ไว้ตามรัฐธรรมนูญ 
 
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีข้อเสนอเพิ่มอำนาจป.ป.ช.ดักฟังโทรศัพท์ว่า ที่ต้องทำแบบนี้ต้องระบุว่าความจำเป็นอย่างไร หรือมองภาพรวมถึงผลกระทบว่าจะละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่ อีกทั้งต้องกำหนดเงื่อนไขว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ และควรมีการถ่วงดุลอำนาจ อาทิ ขอหมายศาลให้ชัดเจน ซึ่งส่วนตัว ยังไม่เข้าใจว่ามีเหตุผลใดต้องไปดักฟังทางโทรศัพท์ อีกทั้งการกระทำแบบนี้ต้องมีความชัดเจนทางกฎหมายด้วย
 
นายสามารถ แก้วมีชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย แสดงความไม่เห็นด้วยที่ สนช. เพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช.สามารถดักฟังเสียงโทรศัพท์ นักการเมือง และผู้ที่ส่อว่าทุจริตได้ เนื่องจากปัจจุบัน ป.ป.ช. ก็มีอำนาจล้นฟ้าอยู่แล้ว โดยตั้งคำถามว่าทำไมอำนาจที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อปราบปรามการทุจริตอีกหรือ เพราะการทำแบบนี้ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป ป.ป.ช. ควรเอาเวลาไปตรวจสอบแหวนและนาฬิกาของผู้มีอำนาจบางคนให้ได้ก่อน
 
ส่วนท่าทีของฝั่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ครั้งนี้ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญได้เพราะไปกระทบสิทธิส่วนบุคคล พร้อมเตือนไปยัง สนช.ว่า ระวังอำนาจจะเป็นดาบ 2 คม สุดท้ายผลร้ายมันจะเกิดกับสนช.เอง 
 
ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหามาแล้วในต่างประเทศ ป.ป.ช. ใช้ข้อมูลลับที่ได้มาแบล็กเมล์หาผลประโยชน์จนข้อมูลรั่วไหล สุดท้ายกรรมการ ป.ป.ช.เองที่จะต้องรับผิดชอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง