"พิชัย-นิพิฎฐ์-ศรีสุวรรณ-องอาจ" หลากขั้วการเมืองพาเหรดตอบคำถาม 6 ข้อนายกรัฐมนตรี
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถามคำถาม 6 ข้อ ซึ่งเป็นคำถามที่น่าจะสะท้อนกลับไปในความคิดที่น่าจะดูสับสนของผู้ถาม ไม่แน่ใจว่ามีจุดประสงค์ในการถาม 6 คำถามนี้เพราะอะไร ต้องการที่จะอยู่ต่อ หรือต้องการตั้งพรรคทหารของ คสช. เองใช่หรือไม่ หรือต้องการเบี่ยงเบนความนิยมลดลงของซุปเปอร์โพล เพราะน่าจะผลสะท้อนเข้าตัวของผู้ถามเองมากกว่า ว่ามีความเชื่อและความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยดีขนาดไหน
ทั้งนี้ได้ตอบคำถามทั้ง 6 ข้อ โดยเฉพาะข้อ 1 กับ 2 ใจความสำคัญ ระบุ ในเรื่องการมีพรรคการเมือง และนักการเมืองใหม่ เห็นว่าในอดีตเกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่ประชาชนจะเลือกหรือไม่ อยู่ที่ผลงานและมีหลักคิดที่ดี ซึ่งต้องถามประชาชนว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีความสุขไหม ดีกว่าของเดิมหรือไม่ หากมีความสุขก็เลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ แต่ถ้าไม่มีความสุขก็ขอให้เลือกพรรคเพื่อไทย
ส่วนการที่คสช.สนับสนุนพรรคการเมืองใดนั้น มองว่า มีสิทธิ์ทำได้ในฐานะประชาชนทั่วไป แต่คสช. ในฐานะผู้กุมอำนาจรัฐที่ให้คุณให้โทษได้ การสนับสนุนพรรคใดก็จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมือง และอาจมีการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิดๆ เพราะแม้นายกฯ จะลงเลือกตั้งไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้นายกฯ สามารถมาเป็นนายกคนนอกได้ซึ่งสามารถเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองกลับมาเป็นนายกอีกได้ ซึ่งถือเป็นประโยชน์ทับซ้อน นอกจากพลเอกประยุทธ์และคสช.ทุกคน จะประกาศเลยว่าจะไม่กลับมาเป็นนายกและไม่มาเป็นรัฐบาลอีกหลังการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม อยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ศึกษาหลักการทางประชาธิปไตยให้ชัดเจนก่อนและมีหลักคิดที่ถูกต้อง หากจะคิดตั้งพรรคเพื่อสนับสนุนตนเองให้เป็นนายกต่อหลังการเลือกตั้ง
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบคำถามนายกรัฐมนตรี 6 ข้อ ดังนี้
1. เป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้วของการเลือกตั้งที่มักจะเกิดพรรคการเมืองใหม่ นักการเมืองใหม่ขึ้นมาอยู่แล้ว จึงไม่สามารถบอกได้หรือไม่ได้ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ เพราะประชาชนจะเป็นผู้ตอบคำถามเองในเรื่องนี้ว่าจำเป็นหรือไม่เมื่อมีการเลือกตั้ง
2. ถือเป็นคำถามที่ผิดกฏหมายและไม่ควรจะถาม เพราะต้องปฏิบัติการอย่างเป็นกลาง โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจที่มี ม.44 หากประกาศสนับสนุนพรรคการเมืองใดจะส่งผลให้ข้าราชการต้องเดินตาม เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องวางตัวอย่างเป็นกลางแบบเคร่งครัดที่สุดในเรื่องนี้
3. รัฐบาลตั้งคำถามแบบทวงบุญคุณ เพราะการแก้ปัญหาให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ IUU หรือ ICAO เป็นหน้าที่ซึ่งรัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว จึงไม่ควรตั้งคำถามแบบนี้เพราะเหมือนกำลังทวงบุญคุณกับประชาชน
4. เป็นคำถามที่ผิดหลักการเช่นกัน เพราะอำนาจเผด็จการและประชาธิปไตยไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ ไม่ต่างจากถามเรื่องนักมวยกับนักฟุตบอลชอบแบบไหน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้
5. คนถามแยกไม่ออกระหว่างบุคคลกับระบบบ ปัญหาที่ผ่านไม่ได้เกิดขึ้นจากระบอบประชาธิปไตยมีปัญหาแต่มีปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว แม้จะเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็เห็นว่ายังไม่มีระบอบไหนที่เลวน้อยที่สุดเท่ากับระบอบประชาธิปไตย
6. การที่นักการเมืองออกมาเคลื่อนไหวเป็นสิทธิที่จะออกมาอยู่แล้วในช่วงนี้เพราะกฏหมายลูกเสร็จแล้ว พรรคการเมืองต้องออกมาวิจารณ์ได้ ส่วนรัฐบาลเมื่อมีปัญหาก็ต้องรับทุกปัญหาอยู่แล้ว จึงคิดว่าคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ไม่ควรจะถามเลย
ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกแถลงการณ์ต่อ 6 คำถามของนายกรัฐมนตรี ว่านายกฯ หมดเวลาที่จะสร้างวาทะกรรมเพื่อกลบเกลื่อนกระแสขาลงของรัฐบาลที่สะท้อนผ่านโพลกระแสนิยมจาก 78.4 % เหลือเพียง 52 % อยู่ในขณะนี้ และขอตอบคำถามเป็นข้อๆดังนี้
คำถามที่ 1 การที่จะมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ หรือไม่นั้นไม่สำคัญเท่าการเป็นนักการเมืองต้องกล้าเปิดเผยตัวเองออกมาให้ประชาชนได้เลือก
คำถามที่ 2 คสช.ไม่มีสิทธิที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ต้องวางตัวเป็นกลางเท่านั้น เพราะ คสช.และแม่น้ำ 5 สายเป็นผู้วางกฎระเบียบใหม่ของสังคม
คำถามที่ 3 สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองไม่เห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติเลย เช่น IUU, ICAO, ยุทธศาสตร์ชาติ
คำถามที่ 4 ตลอดระยะเวลากว่า 85 ปีของระบอบประชาธิปไตยของไทย หากการจัดตั้งรัฐบาลต้องคำนึงถึงเสียงส่วนใหญ่หรือฉันทามติของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยไม่มีมือที่สามหรืออำนาจแฝงมาคอยควบคุมการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลในยุคใด พ.ศ.ใด ก็สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้เพราะนิสัยคนไทยชอบรักสงบ
คำถามที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย แม้จะขาดประสิทธิภาพ ขาดธรรมาภิบาลไปบ้าง แต่เมื่อถึงเวลาครบวาระประชาชนก็สามารถที่จะใช้สิทธิในการเลือกตัวแทนของตนขึ้นไปเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและตรวจสอบได้
คำถามที่ 6 จากที่พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหว ด่า คสช., รัฐบาล, ว่านายกรัฐมนตรี บิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงาน ก็เพราะประชาชนขาดความเชื่อถือ ในคสช., รัฐบาล, นายกรัฐมนตรีต่างหาก นายกรัฐมนตรีต้องหันกลับไปทบทวนตัวเองบ้างว่าเคยสัญญิงสัญญาอะไรไว้กับประชาชนแล้วทำไม่ได้บ้าง
ดังนั้น นายกฯ จึงไม่ต้องมาถามประชาชนว่าเป็นเพราะอะไร แต่ควรกลับไปศึกษาอดีตเมื่อปี 2535 ว่า “การเสียสัตย์เพื่อชาติ” นั้นมันคุ้มหรือไม่ต่างหาก
และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้ง 6 คำถามของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อให้ประชาชนมาตอบว่า ไม่ใช่เรื่องปกติ ซึ่งจะเป็นการถามเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน แต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อหวังผลทางการเมืองว่าควรจะตั้งพรรคการเมือง และเป็นการโจมตีพรรคการเมืองเก่าไปในตัว ซึ่งเป็นการหวังผลทางการเมือง ที่ คสช.จะสืบทอดอำนาจ ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญหน้า และไม่ใช่คำถามที่จะก่อให้เกิดการแก้ปัญหาเหมือนกับการตั้งคำถามในเรื่องปากท้องของประชาชน สื่อให้เห็นว่า คำถามโดยเฉพาะข้อ 2 คสช.มีความพยายามที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นพรรคการเมืองเก่าแต่ทำการเมืองอย่างเปิดเผย พร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งและปฏิบัติตามกฏหมาย