'ประยุทธ์' ประชุมความปลอดภัยไซเบอร์นัดแรก เตรียมพัฒนาบุคลากรดูแลนับพันคน ระบุห่วงข่าวลวง-เท็จ
logo ข่าวอัพเดท

'ประยุทธ์' ประชุมความปลอดภัยไซเบอร์นัดแรก เตรียมพัฒนาบุคลากรดูแลนับพันคน ระบุห่วงข่าวลวง-เท็จ

ข่าวอัพเดท : พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) ครั้งแรก โดยกล่าวก่อนการประชุม ความปลอดภัยไซเบอร์,ประยุทธ์ จันทร์โอชา

2,099 ครั้ง
|
09 พ.ค. 2561
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) ครั้งแรก โดยกล่าวก่อนการประชุมว่า ปัจจุบันมีกระแสข่าวที่เป็นทั้งข่าวเท็จและข่าวลวง ซึ่งเกิดจากกระบวนการคิดของคนและแสดงให้เห็นว่าคนไม่หยุดคิด จึงอยากให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน พร้อมย้ำให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (ETDA) เร่งออกกฏหมาย 2 ฉบับ คือร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงไซเบอร์และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้สามารถทำการค้ากับต่างประเทศได้และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
 
ภายหลังการประชุม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี แถลงผลการประชุม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการรักษาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศแห่งชาติ 6 ชุดแรก ประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคง โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน การธนาคารและตลาดหลักทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และนายกรัฐมนตรียังได้รับทราบ 5 แนวปฏิบัติในการป้องกันภัยไซเบอร์ของกระทรวงดีอี คือ 1.มีขีดความสามารถระบุปัญหาจากไซเบอร์ได้เมื่อถูกโจมตี 2.ป้องกันตัว 3.ตรวจสอบและเฝ้าระวัง 4.ดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ และ 5.ฟื้นฟูหากเกิดความเสียหาย
 
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแผนพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยไซเบอร์ จำนวน 1,000 คน ทั้งผู้เชี่ยวชาญระดับสูงในระดับผู้บริหารระบบ ระดับผู้ใช้ (user) และระดับช่างเทคนิค โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประสานหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงศึกษาธิการและภาคเอกชนร่วมมือกันพัฒนาบุคลากร โดยใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 350 ล้านบาท และงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั่วอาเซียน จำนวน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะ 5 ปี
 
ทั้งนี้ ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งหน่วยงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ชั่วคราว ก่อนที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีมติแต่งตั้งคณะขึ้นอย่างเป็นทางการเร็วๆนี้ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และจะเริ่มทำงานในทันที โดยร่วมกับสพธอ. และศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ ไทยเซิร์ต เพื่อประสานงานกลาง และให้การสนับสนุนด้านเทคนิค ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบบป้องกันภัยไซเบอร์ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยติด 1 ใน 20 ประเทศที่มีความพร้อมด้านความปลอดภัยไซเบอร์โลก (Global Cybersecurity Index)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง