คำถามกลุ่ม 1 จากคุณฮาย อาภาพร ถามว่า ในฐานะที่ตนเป็นแม่ค้าออนไลน์ ตนเองถือว่าเป็นแม่ค้าที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก แต่รู้ไหมว่า ยังมีแม่ค้าตาดำๆ อีกมากมาย ที่เขาไม่มีแม้กระทั่งแผงขาย เนื่องจากถูกเทศกิจไล่ที่, เก็บค่าที่, เก็บเงินใต้โต๊ะ หรือบางคนก็เจอปัญหาลักษณะที่ว่า กทม.ไล่ที่ให้ไปขายอีกที่หนึ่ง โดยจัดสรรพื้นที่ไว้ให้ แต่ไม่มีลูกค้าเดิน หากคุณได้เป็นผู้ว่า กทม. คุณจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?
ผู้สมัครหมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที
“เรื่องนี้เป็นนโยบายของผมอยู่แล้วครับ ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของพ่อค้าแม่ค้า โดยเฉพาะในชุมชนต่างๆ เราจะทำอย่างนี้ครับ ในแผงขายที่ไม่มีคน เราจะจัดทีมพิเศษไปช่วยทำออนไลน์ โดยแม่ค้าไม่ต้องกังวลว่าจะทำไม่เป็น จะทำอย่างไร ทีมเราจะทำให้แม่ค้าออนไลน์ ซึ่งการค้าขายก็จะเพิ่มขึ้นไปถึง 60%”
“ส่วนผู้ที่ยังไม่มีที่ขาย เราจะจัดพื้นที่ทางเท้าให้ขาย โดยเราจะจัดให้ขายฟรี และไม่มีการจับ โดยจะจัดที่ดีๆ ให้พวกพ่อค้าแม่ค้าไปขายในจุดที่สำคัญๆ ที่จะมีรายได้ โดยเราจะให้ขึ้นทะเบียนกับทางผู้ว่าฯกทม.โดยตรงเลยครับ จะดูแลเป็นพิเศษ เพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นบุคคลที่จำเป็นต้องช่วยเหลืออย่างยิ่งนะครับ เราจะลำดับความสำคัญว่า ใครมีหนี้สินเยอะมาก ใครมีครอบครัวที่ใหญ่มากต้องเลี้ยงดู”
“เพราะเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ของผมมาโดยตรงครับ ผมเคยค้าขายข้างถนนมาก่อน เป็นพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ สมัยนั้นขายดอกไม้พวงมาลัย ต้องวิ่งหนีตำรวจ โดนไล่จับเป็นประจำเลยครับ เพราะฉะนั้นเราหัวอกเดียวกันครับ ผมเข้าใจดี และจะดำเนินการในด้านการค้าขายให้อย่างดีครับ แม้ว่าจะค้าขายข้างถนนเราก็สามารถทำออนไลน์เสริมขึ้นได้ มีที่ผมเคยไปเห็นในซอยแถวสีลม แม่ค้าขายรถเข็นก็ยังทำออนไลน์เพิ่มเติมได้ครับ”
“นี่แหละครับ ผมจะช่วยเหลือประชาชนพี่น้องที่ยากลำบากในกทม.ทั้งหมดครับ โปรดเข้าใจนะครับ ผมทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที ผู้สมัครหมายเลข 15 เราหัวอกเดียวกันครับ เราต้องช่วยกันอย่างเต็มที่ครับ” พล.อ.ต.ทูตปรีชา กล่าว
ผู้สมัครหมายเลข 22 นายวรัญชัย โชคชนะ
“ผมมีความเห็นว่า เรื่องนี้มันมีมาหลายยุคหลายสมัย หลายผู้ว่าฯ แล้ว และก็แก้ไม่ตก ต่างคนต่างมีเหตุผล กทม.ก็มีเหตุผลว่าต้องมีความสะอาด เป็นระเบียบ ไม่ขัดขวางจราจรคนเดินฟุตบาต ฝ่ายพ่อค้าแม่ค้าก็อยากจะขายเพราะยากจน ไม่มีเงินไปเซ้งร้านใหญ่ๆ ไม่มีเงินทุน ก็เลยขอขายตรงนี้แหละมันสะดวกดี มันก็สร้างการกีดขวางการจราจร ทางเดินบ้าง และก็ขัดขวางด้านความสะอาด ด้านความสกปรก ความสวยงาม นี่แหละครับถึงได้มีสำนักงานเทศกิจขึ้นมา”
“เพราะฉะนั้นต่อจากนี้จึงต้องเชิญตัวแทนพ่อค้าแม่ค้ามาพูดจาคุยกันให้เป็นระเบียบ ไม่ใช่ไปรับเงินใต้โต๊ะ หรือบางทีก็ไปขวางทางเดินสัญจรทำให้เละเทะสกปรก ของอย่างนี้ผู้อำนวยการเขตต้องดูแลให้ชัดเจน หัวหน้าเทศกิจของเขตนั้นๆ ด้วย ว่าต้องขายยังไง ขายเวลาไหน และมีการทำความสะอาดอย่างไร เวลาไหนขายได้ เวลาไหนขายไม่ได้ อย่างนี้มันก็ไปรอดได้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะได้ทั้งสองฝ่าย กรุงเทพฯก็จะได้เรื่องความสะอาดความเป็นระเบียบ พ่อค้าแม่ค้าก็ได้ขายของ”
“ทุกวันนี้คุยกันไม่รู้เรื่อง ของอย่างนี้มันคุยกันได้ครับ มันอยู่ที่นโยบายของผู้ว่าฯ เรามีรองผู้ว่าฯ มีปลัด เรามีผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ มีผู้อำนวยการเขตฯ ทำไมมันจะทำไม่ได้ นี่แหละครับคือสิ่งที่ผมคิดว่าต่อไปนี้จะไม่เกิดปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น เราเพียงต้องรักษาให้ได้ สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่าต้องแก้ปัญหาให้ได้ ขายได้ และต้องมีระเบียบสะอาดครับ” นายวรัญชัย กล่าว
ผู้สมัครหมายเลข 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์
“เรื่องที่ผมมีความตั้งใจ คือ อยากจะเข้ามาจัดการเกี่ยวกับเรื่องพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ซึ่งมีปัญหามาอย่างยาวนาน เราก็จะมีการจัดสรรพื้นที่ทั้ง 50 เขตเลย ให้กับผู้ค้าได้ค้าทุกวัน ไม่มีวันหยุดเลย และก็ในการจัดสรรต่างๆ เราก็จะจัดสรรอย่างเป็นธรรม โดยการแบ่งล็อกให้เท่ากัน แล้วก็ไม่ไปกระทบสิทธิ์ของผู้เดินเท้า”
“ข้อสอง เราก็จะมีการจัดฝึกอบรมให้กับพ่อค้าแม่ค้าในการถนอมอาหาร ในการดูแลอาหารอย่างปลอดภัย ที่สำคัญที่สุดคืออาหารต้องอร่อย”
“ข้อที่สามนะครับเกี่ยวกับเรื่องเงินใต้โต๊ะ ค่าสินบนอะไรต่างๆ ถ้าผู้ค้ามีข้อมูลก็ส่งข้อมูลมาได้ที่กทม. ทางกทม.ก็จะตั้งคณะกรรมการสอบ ถ้าเป็นเรื่องจริง ทางกทม.ก็จะพิจารณาย้ายผู้อำนวยการเขตฯ นั้นๆ ทันที”
“รับรองว่าถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ จะไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด พ่อค้าแม่ค้าที่สนใจอยากเป็นพ่อค้าก็สามารถมาลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตแต่ละเขตที่ท่านอยู่ หากอยากจะเห็นหาบเร่แผงลอยเปลี่ยนไป ก็มาใช้สิทธิ์เลือก เฉลิมพล อุตรัตน์ เบอร์ 23 ครับ ขอบคุณครับ” นายเฉลิมพล กล่าว
ผู้สมัครหมายเลข 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ
“สำหรับเรื่องหาบเร่แผงลอยนี้ มันก็ตรงกับหนึ่งในนโยบาย มุ่งเป้า 9 ด้านทำกรุงเทพให้เป็นมากกว่าเมืองหลวง ของผมในข้อ 8 คือเรื่องของ Street Food City ซึ่งหมายรวมถึงหาบเร่แผงลอยทั้งหมดด้วย ความจริง Street Food ก็เป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ นะครับ ดังนั้นเราจึงต้องเข้าไปจัดระเบียบดังนี้ ดูว่าตรงจุดที่หาบเร่แผงลอยขายอยู่นั้นกีดขวางทางเดินสัญจรหรือไม่ หากขวาง เราก็เข้าไปจัดระเบียบให้สะอาด พร้อมทั้งอาจจะทำซุ้มให้เกิดความสวยงาม แต่จุดนั้นกีดขวางทางสัญจรจนคนต้องลงไปเดินข้างถนน เราก็ต้องจัดหาพื้นที่ใกล้แถวนั้น จัดโซนเพื่อให้ผู้ค้าไปขาย และก็สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ทำหลังคากันแดดกันฝน ติดโซลาร์เซลล์ ติดตั้งพัดลมพ่นละอองไอน้ำเพื่อระบายความร้อน ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อดูแลความปลอดภัย และก็จัดตั้งหน่วย BB หรือ หน่วย Bangkok Bike ช่วยดูแลบริการจัดส่งอาหารภายในละแวกนั้นๆ จัดให้มีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือให้ร้านค้าที่ขายไม่ดี ต้องการขอความช่วยเหลือ โดยเราจะมีนักโภชนาการ และนักการตลาด ให้คำปรึกษา และเข้าไปปรับเปลี่ยนรูปแบบของร้านให้ขายดีขึ้น ทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนรู้จักมาจับจ่ายใช้สอยพื้นที่ตรงนั้น และสร้างค่านิยมไม่ให้ไปซื้อกับร้านค้าที่ขายกีดขวางทางสัญจร เก็บค่าดูแลความสะอาดโดยจะให้เทศกิจเข้ามาดูแลตรงนี้ เงินที่เก็บได้นั้นส่วนหนึ่งก็จะแบ่งให้เป็นเบี้ยเลี้ยงแก่เทศกิจเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ จัดให้มีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ”
“ทั้งนี้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ต้องเสียสละให้ความร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อความเป็นระเบียบของทางเท้า สำหรับโซน Street Food ยามค่ำคืนเราก็จะอนุรักษ์ไว้ แต่ทางกทม.ต้องเข้าไปดูแลเรื่องความเป็นระเบียบ และความปลอดภัยแก้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายด้วย” นายประพัฒน์ กล่าว
ผู้สมัครหมายเลข 26 พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ
“หากผมได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพมหานครมาช้านาน ระหว่างผู้ค้า ผู้ใช้รถใช้ถนน แนวคิดในการที่จะแก้ไขก็จะใช้ ทฤษฎี win-win situation คือทุกคนจะต้องได้ประโยชน์”
“เป็นที่ประจักษ์ว่าหาบเร่แผงลอยเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพมหานคร และก็เป็นที่พึ่งของกรุงเทพมหานคร แต่ว่าทางเท้าเป็นของส่วนรวมของประชาชน ซึ่งจะต้องได้รับความสำคัญ เราจะลำดับความสำคัญในการที่จะใช้ทางเท้าเป็นอย่างแรก ส่วนการค้านั้นเป็นการเสริมขึ้นมา ถามว่าจะค้าที่ไหนอย่างไรน ผมจะทำในรูปของคณะกรรมการ คือจะเอาผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้ค้า ผู้ประกอบการที่อยู่ข้างทาง และผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงสาธารณะสุข เข้ามาช่วยในการจัดการ ในแต่ละเขตก็จะมีคณะกรรมการระดับเขต ในระดับกทม.ก็จะมีคณะกรรมการของกทม.”
“ณ ที่ของผู้ค้า จะต้องทำความสะอาด ต้องเสียค่าบำรุงหรือค่าธรรมเนียมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการ เรียกรับค่าคุ้มครอง และจะต้องหยุดวันหนึ่ง เพื่อให้ทำความสะอาดในภาพรวม และเป็นการตระหนักว่าจะไม่ใช่เจ้าของพื้นที่นั้นอีกต่อไป อันนี้คือแนวทางการแก้ไข ทุกคนมาช่วยกันและผมจะช่วยเสริมให้ผู้ค้าเนี่ย ได้มีโอกาสแล้วก็ให้มีการแข่งขัน โดยเฉพาะการแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อที่ที่จะมาค้าขายอาหารสำเร็จรูป อันนั้นก็คือแนวทางในการทำ ถ้าเกิดอยากให้กรุงเทพมหานครดีขึ้นแล้วก็สามารถแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจนเนี่ย ขอให้เลือกมณฑลนะครับ เบอร์26 เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” พล.ต.ท.มณฑล กล่าว
คำถามกลุ่ม 2 จากคุณหนุ่ย พงศ์สุข ถามว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ คนไทยจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนประกอบสำคัญของหน้ากากอนามัย คือ เม็ดพลาสติก พีพี เมลต์โบลน (PP Melt Blown) ที่ยากต่อการกำจัดทิ้งและนำไปสู่ "ภาวะขยะล้นเมือง" ตามมา จึงอยากทราบว่า หากท่านได้เป็นผู้ว่าฯกทม. ท่านจะมีแนวทางที่สามารถกำจัดขยะจำนวนมหาศาลประเภทนี้ได้อย่างไร?
ผู้สมัครหมายเลข 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนา
“สวัสดีครับ ผมวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนา ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หมายเลข 5 นะครับ ผู้สมัครอิสระคนรุ่นใหม่ไม่สังกัดพรรคไม่คอรัปชั่น วีรชัยเบอร์ 5 นะครับ ก็จะมาตอบคำของ คุณหนุ่ย ซึ่งคุณหนุ่ย ทิ้งคำถามไว้ดีมากเลยนะครับ คำถามที่เข้ากับยุคโควิดของเราก็คือการกำจัดแมสก์ ก็คือหน้ากากอนามัยนะครับ”
“คือเราต้องเข้าใจว่า หน้ากากอนามัยเนี่ยเป็นขยะประเภทติดเชื้อ ดังนั้น วิธีกำจัดขยะก็จะแตกต่างจากขยะประเภทอื่นแต่เบื้องต้นเนี่ย แมสก์ก็จะมีตัวสายกับตัวแมสก์ ซึ่งเราต้องจัดการให้ดีนะครับ เราจะต้องตัดสายของแมสก์ก่อน เพราะไม่นั้นเนี่ยสายมันก็จะไปเกี่ยวกับสิ่งของต่างๆ แล้วก็เกิดอันตรายได้”
“ดังนั้น เราต้องตัดสายแมสก์ก่อนนะครับ แล้วก็นำหน้ากากมาพับแล้วนำสายแมสก์มาผูก หลังจากนั้นเราก็ต้องนำมาใส่ในถุง คราวนี้ถุงเนี่ยผมอยากจะแยกให้ดีนะครับว่าเป็นถุงสีส้ม อาจจะเป็นหน้ากากติดเชื้อ และข้อสำคัญก็คือต้องทิ้งให้ลงไปในถังขยะติดเชื้อ เพียงเท่านี้ประชาชนก็จะสามารถควบคุมขยะติดเชื้อได้”
“ในส่วนของภาครัฐนะครับที่จะต้องมีการจัดการกำจัดต่อก็จะต้องมีเผาในอุณหภูมิสูงในระบบปิดเพื่อที่จะควบคุมเรื่องมลภาวะและป้องกันการติดเชื้อออกมา เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถกำจัดขยะติดเชื้อได้ รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำจัดขยะนะครับสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่
www.facebook.com/Bangkoknextgen ก็อยากให้ทุกคนช่วยกันนะครับเพื่อให้กรุงเทพฯ -ของเราเป็นเมืองที่ปลอดเชื้อนะครับ ขอบคุณมากครับสวัสดีครับ ขอบคุณที่รับฟังครับ” นายวีรชัย กล่าว
ผู้สมัครหมายเลข 16 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์
“หน้ากากอนามัย คือ ขยะติดเชื้อที่กำลังจะล้น กทม. แล้วก็ล้นโลก ในแต่ละวันกรุงเทพฯ ต้องบริหารจัดการขยะติดเชื้อมากถึงประมาณ 74 ตันต่อวัน การบริหารจัดการขยะติดเชื้อเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็นได้ 3 ระยะ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง”
“ต้นทางก็คือรณรงค์การแยกขยะ ซึ่งตอนนี้คนกรุงเทพฯ มีการแยกขยะดีอยู่แล้ว แต่ว่า ถ้าดิฉันเป็นผู้ว่าฯ กทม. ดิฉันจะแจกถุงขยะรีไซเคิลสีแดง ให้ทุกๆ บ้านในกทม. เพื่อเป็นการเริ่มจิตสำนึกในการแยกขยะติดเชื้อให้ถูกต้อง”
“มาถึงกลางทาง กลางทางเป็นเรื่องของรถเก็บขยะแล้วก็คนเก็บขยะ รถเก็บขยะหลังจากที่ประชาชนแยกขยะติดเชื้อมาแล้ว เราจะต้องเอามาใส่รถโดยแยกให้เป็นสัดส่วน ส่วนเรื่องคนเก็บขยะต้องมี 2 เรื่อง หนึ่งก็คือต้องมีอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค แล้วก็สอง ก็คือต้องมีมาตรการในการฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสม”
“ส่วนปลายทาง ก็เป็นเรื่องของการกำจัดขยะติดเชื้อที่ประชาชนแยกออกมาแล้วให้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเผาทิ้งหรือว่าอะไรที่รีไซเคิลได้ก็อาจจะนำกลับไปรีไซเคิลไป”
“ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องมาศึกษาในเชิงลึกว่างบฯ 5 ถึง 6 พันล้านบาท สำหรับ กทม. ที่ใช้อยู่นั้นมีประสิทธิภาพจริงหรือเปล่า หรืออาจจะเอาให้เอกชนทำบริหารจัดการได้ดีกว่าหรือเปล่า ต้องมาดูว่าใครบริหารงบประมาณได้ดีกว่ากัน”
“สำหรับเรื่องขยะติดเชื้อ กทม. ทำเองคนเดียวไม่ได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน แล้วก็ภาคประชาชน โดยเฉพาะภาคประชาชนมีส่วนสำคัญที่สุดในการแยกขยะตั้งแต่ต้น เพื่อไม่ให้ขยะติดเชื้อไปติดหรือว่าไปรวมกับขยะอย่างอื่น เพื่อที่ภาค กทม. จะสามารถบริหารจัดการเก็บแล้วก็นำไปกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ขอบคุณค่ะ” นางสาวศศิกานต์ กล่าว
ผู้สมัครหมายเลข 10 นายศุภชัย ตินติคมน์
“กรุงเทพธนาคม เรามีบริการกำจัดขยะติดเชื้อ โดยเตาเผาขยะซึ่งมีความสามารถถึง 70 ตัน/วัน ฉะนั้น ขยะแมสก์เหล่านี้เป็นพลาสติก ก็ขอให้ผู้ใช้พับแล้วก็เก็บใส่ในถุงให้มิดชิด แล้วก็เขียนไว้ว่าเป็นหน้ากากอนามัย และทิ้งไว้ในถุงขยะต่างหาก แล้วทางผู้เก็บขยะก็จะรวบรวมแล้วก็นำไปส่งให้ทางกรุงเทพธนาคมเพื่อจัดการเผาต่อไป อันนี้เป็นวิธีเดียว”
“ในส่วนของอาคารคอนโดมิเนียม ขอให้จัดที่ทิ้งสำหรับแมสก์โดยตรง เพราะว่าทางเขตจะได้เข้าไปเก็บตรงแล้วก็ไปทำการกำจัดขยะโดยการเผาต่อไป”
“จริงๆ แล้วขยะเนี่ยเรามีเยอะมาก วันหนึ่ง เรามีขยะประมาณ 10,000 ตันนะครับ ผมมีนโยบายที่จะลดขยะในที่ โดยตลาดของ กทม. และ ตลาดทุกแห่งจะเร่งให้เปลี่ยนแปลงขยะเป็นปุ๋ยและพลังงาน ส่วนขยะในน้ำเราก็จะมีเรือไฟฟ้าในการจัดเก็บไม่ให้ไปอุดตันประตูระบายน้ำ จะทำให้น้ำท่วม ส่วนขยะในถนน เกิดจากถังขยะล้ม ฉะนั้น ทางเจ้าหน้าที่เขตต้องคอยดูแลเวลาเกิดน้ำท่วมต้องคอยเก็บไม่ให้ไปอุดตันท่อระบายน้ำ”
“แล้วก็ผมมีนโยบายที่จะแปลงขยะเป็นพลังงาน ตอนนี้ เรามีการฝังกลบขยะประมาณ 6,000 ตันในนครปฐม แล้วก็สมุทรปราการ ผมจะลดตรงนี้โดยแปลงขยะเป็นพลังงาน เพื่อลดภาวะโลกร้อน ช่วยไม่ให้ต้องไปเดือดร้อนจังหวัดนครปฐมและสมุทรปราการ” นายศุภชัย กล่าว
ผู้สมัครหมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
“คือ การเก็บขยะเป็นภาพรวมของเราทั้งระบบที่อาจต้องไปดูว่าจะปรับอย่างไร ปัจจุบันขยะส่วนใหญ่เราใช้ฝังกลบ ขยะที่มีพิษอย่างหน้ากากอนามัย เก็บโดยกรุงเทพธนาคม ซึ่งหลายๆ ครั้งผมคิดว่า เราก็ไม่ได้แยกโดยตรง หลายคนก็ยังทิ้ง ATK ทิ้งอะไร ลงถังปกติ เพราะฉะนั้น ก็ต้องให้ความรู้และต้องมีระบบจัดเก็บที่ดี กรุงเทพธนาคมถ้ารับผิดชอบเรื่องนี้แล้วก็คงต้องทำเครือข่ายให้ครบ อาจจะต้องมีถังที่แบบรับขยะมีพิษโดยตรง”
“เพราะฉะนั้น ผมว่าปัญหาขยะ คือ ต้องออกแบบทั้งระบบ ทั้งการจัดเก็บ เพื่อให้สะท้อนกับพฤติกรรมของคน เราอยากให้มีการแยกขยะ ถูกไหม แต่ว่าพอบอกให้ชาวบ้านแยกขยะ เขาบอกว่าก็ กทม. เก็บรวม เก็บแล้วก็เอาไปรวมกัน เขาก็ไม่อยากแยกหรอก เพราะไปรวมกันที่รถอยู่ดี ถ้าเกิดเราอยากจะให้ประชาชนแยกขยะอันตราย แยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิลเนี่ย ระบบจัดเก็บมันต้องสอดคล้องกันทั้งระบบไง ผมว่านี่คือเป็นสิ่งที่ต้องทำ แล้วสู่ปลายทางแล้วเนี่ย อย่างที่ไปดู อย่างโรงขยะที่อ่อนนุช ก็ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน บางทีเอาไปทำแก๊สแล้วก็เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน หมู่บ้าน อะไรอย่างนี้ อันนี้ก็ต้องไม่ให้เกิดขึ้น มันก็ต้องดูแลทั้งกระบวนการ และดูแลผลกระทบที่มีกับประชาชนในมิติต่าง ๆ ด้วย”
“ผมว่าจริงๆ แล้วถ้าเกิดง่ายที่สุดคือ ให้แยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิลก่อน จริงๆ แล้วขยะมันคือทรัพยากรนะ เหมือนกับเป็นทอง แต่ถ้าเกิดขยะ แล้วสามารถแยกขยะเปียกไปทำปุ๋ย ปุ๋ยกลับมา มาทำปลูกพืชปลูกอะไรได้มันก็จะทำให้มันครบวงจรมากขึ้น ขยะรีไซเคิลก็ขายไป”
“เพราะฉะนั้น ผมว่าอาจจะต้องเริ่มชุมชนต้นแบบก่อนในบางเขต ถูกไหม ให้มันเกิดเป็นตัวอย่างที่ทำสำเร็จ แล้วก็เกิดแรงจูงใจ ถ้าเกิดชุมชนไหนแยกขยะเราอาจจะลดค่าเก็บขยะให้เขา ให้เกิดแรงจูงใจในการทำ เอาปุ๋ยหมักให้เขาทุกเดือน ให้เขาไปปลูกแปลงผักในชุมชน อะไรอย่างนี้ มันก็ต้องมีแรงจูงใจที่สามารถให้เขาเห็นประโยชน์ของการแยกขยะได้” นายชัชชาติ กล่าว
ผู้สมัครหมายเลข 2 พ.ท.หญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล
“นโยบายของเรามีพันธกิจ 3 ประการ จะมีประชาชนเป็นส่วนร่วมสำหรับเรื่องขยะ จะตกเป็นเรื่องของชุมชนคือเราจะให้ชุมชนละ 300,000 บาท และจะมีกฎหมายรองรับ คือสำหรับชุมชนไหนเนี่ยที่มีปัญหาขยะ เขาเห็นว่าเรื่องขยะสำคัญ เขาจะทราบดีที่สุด เพราะว่าประชาชนจะอยู่กับสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม, ขยะ, PM2.5 หรือว่า ฟุตบาททุกประการ”
“เหมือนกับเรื่องด้านการศึกษาเราก็จะใช้โรงเรียนนิติบุคคลให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับโรงเรียนให้งบประมาณเป็นรายหัวให้โรงเรียนจัดซื้อจัดจ้างและบริหารงบประมาณเอง หรือว่า สาธารณะสุขใช้ระบบ One stop service โดยการเอาโลกเป็นตัวตั้งและเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง หรือว่าอย่าง เมกะโปรเจคส์ เราก็จะพักโปรเจคส์ไปก่อน 12 เดือน เพื่อที่เราจะเอางบไปลงเรื่องการศึกษา”
“สำหรับเรื่องปากท้องก็จะมีเรื่องพักหนี้ แล้วก็มีให้ทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำแล้วก็จัด street food ใต้ทางด่วนยาวเป็น street food โลก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย ดังนั้น นโยบายของเราที่ใช้ประชาชนเป็นส่วนร่วมและโปร่งใส และให้งบประมาณจริงเราก็เคยทำสำเร็จมาแล้วในยุคปฎิรูปการศึกษาหรือการแก้ปัญหาจราจร”
“รถไฟฟ้าใต้ดินที่ใครว่าสร้างไม่ได้เพราะกรุงเทพมหานครดินอ่อน เราก็หาข้อมูลแล้วก็ทำจนระบบรถไฟฟ้าใต้ดินไทยเป็นระบบที่ถือว่าได้ระดับโลกนะคะ มีทั้งที่จอดรถด้วยอะไรด้วย แล้วในเรื่องราคาเนี่ย ดิฉันเชื่อว่าถ้าดิฉันได้รับเลือกตั้งเนี่ย ดิฉันสามารถประสานงานกับรถไฟฟ้าใต้ดิน 15 บาทก็ทำได้ เพราะเราลงทุนไม่ได้เอากำไร แต่เพื่อความสะดวกของประชาชน” พ.ท.หญิงฐิฏา กล่าว
คำถามกลุ่ม 3 จาก คุณไบรอัน ตัน ถามว่า สืบเนื่องมาจากโครงสร้างประเทศที่มีความเจริญกระจุกความจนกระจายส่งผลให้เกิดความแออัดของประชากรที่ไหลเข้ามาหาโอกาสในการทำงานและการศึกษาในกรุงเทพมหานคร จนในที่สุดส่งผลให้ผังเมืองมีความไม่เป็นระเบียบ ยากต่อการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ เช่น การจราจร การจัดการน้ำ การจัดการขยะ ในฐานะที่ท่านกำลังจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่ากทม. ท่านมีมาตรการใดหรือนโยบายใดที่สามารถเข้ามาบรรเทาหรือหาทางออกที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรมได้ให้กับปัญหาดังกล่าว?
ผู้สมัครหมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
“ตั้งแต่เป็นผู้ว่าฯ มา ได้ทำมาเกือบทั้งหมดแล้ว แต่อาจจะยังไม่สมบูรณ์ สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือขยายถนนหนทางซึ่งไม่เพียงพอ ตัดทางลอด ทางแยก อุโมงค์ เพื่อการจราจรจะได้ลื่นไหลมากขึ้น เราจะปรับปรุงจราจร ไฟสัญญาณจราจรแบบอัจฉริยะ นี่คือเรื่องของถนนหนทาง”
“ส่วนเรื่องน้ำ น้ำท่วมเมื่อก่อนมี 24 จุด เราแก้ไขไปได้แล้ว 15 จุด เหลืออีก 9 จุด กลับมาใหม่ก็จะไปเติมเต็มในส่วนที่ยังขาดหายไป โดยการเพิ่ม Water Bank เพิ่ม Pipe Jacking ลอกคูคลอง ทำความสะอาดคูคลองต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ขึ้น”
“ในส่วนของขยะ เราต้องจัดการขยะ เราจะแยกเป็น 3 ส่วน ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง โดยขยะต้นทางต้องแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเลย ที่กลางทางจะแยกรถ แยกสีว่าอันนี้ขยะแห้ง อันนี้ขยะเปียก แต่ที่สำคัญคือขยะตามตลาด 40% เป็นขยะเปียก ถ้าเราขนไปฝังกลบ หรือแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าก็จะยุ่งยาก เราจะทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ก่อน ไม่ว่าจะทำเป็นอาหารสัตว์ หรือปุยอินทรีย์ และในส่วนปลายทาง เราจะเพิ่มการฝังกลบ แต่ถ้ายุ่งยากมากเราก็อาจจะทำระบบเตาเผาขยะ เพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าให้พี่น้องประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ต้นทาง ปลายทาง และกลางทาง กลับมาใหม่จะต้องสมบูรณ์มากกว่าเดิม อัศวินกลับมาต่อต้องทำได้ดีกว่าเดิม ฝากช่อง 7HD ไปด้วยนะครับว่าอัศวินกลับมาต่อ และจะทำให้ได้ดีกว่าเดิม” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว
ผู้สมัครหมายเลข 14 นายธเนตร วงษา หมายเลข
“ถ้าผมเป็นผู้ว่า ปัญหานี้จะแก้ได้แน่นอน เพราะที่ผ่านมา ผู้ว่าไม่ได้เป็นต้นแบบในเรื่องรถติด ที่ผ่านมาผมอยู่กรุงเทพ 38 ปี ผมไม่มีปัญหารถติด ผมวางแผนอย่างไร ผมทำอย่างไร ซึ่งคนที่จะมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้จะต้องเป็นต้นแบบเรื่องนี้”
“ที่ผ่านมา 38 ปี ผมอยู่กรุงเทพฯ ผมไม่มีปัญหารถติด วิธีการของผมก็คือ ย้ายที่พักไปใกล้ที่ทำงานครับ ก็จะไม่มีปัญหารถติด เพราะว่าไม่ได้ใช้รถ ถามว่าวิธีนี้จะทำได้ทุกคนไหม ถ้าทำได้แค่ 10% รถวิ่งวันละ 1 ล้านคัน หายไป 1 แสนคันแล้ว ก็หายไปเยอะนะครับ ถ้า 20% ลดไปวันละ 2 แสนคัน รถก็โล่งไปเยอะนะครับ วิธีการแก้ปัญหารถติดไม่ได้มีวิธีการนี้วิธีการเดียว ถ้าผมได้เป็นผู้ว่า กทม. ผมจะทำ Challenge ให้คนนั่งรถไฟฟ้า 14 บาทตลอดสาย 100 วัน ให้คนติดอกติดใจ แล้วก็ไม่ต้องเอารถออกมาใช้คนละคันๆ”
“ทำไมถึงต้อง 14 บาท เพราะผมเบอร์ 14 ครับ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหารถติดมีอีกหลายวิธีนะครับ อีกวิธีหนึ่งที่คิดว่าได้ผลแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ คือ ให้นักเรียนทุกคนทั้ง 437 โรงเรียน เรียนใกล้บ้านหมด ถามว่าทำไมถึงต้องเรียนใกล้บ้าน เพราะว่าถ้าเพิ่ม 3 วิชานี้ไป เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน จบมาแล้วมีงานทำแน่นอน จบมาแล้วนอนหลับก็มีเงินเข้าบัญชี อยากรู้ว่ามีวิชาอะไรบ้าง เลือก ธเนตร เบอร์ 14 No Corruption หาเงินได้ ใช้เงินเป็น No Corruption เลือก ธเนตร เบอร์ 14 ครับ” ธเนตร กล่าว
ผู้สมัครหมายเลข 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์
“นโยบายของเบอร์ 13 คือ เมืองจะต้องมีระเบียบวินัย แต่ผังเมืองที่มามันไม่ชัดเจนเรื่องความติดขัดของรถยนต์ เบอร์ 13 ทำรถขนส่งชุมชนวิ่งตั้งแต่ตี 4 ครึ่งถึง 5 ทุ่ม เพื่อให้รับพี่น้องออกมาทำงาน และเพื่อให้พี่น้องไม่จำเป็นต้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ลดปริมาณลดลง”
“นโยบายข้อที่ 2 คือ เรื่องขยะ ซึ่งเรื่องขยะก็เป็นสาเหตุใหญ่ ต้องการให้พี่น้องทิ้งขยะด้วยตัวเองกับรถขนส่งชุมชน ซึ่งเมื่อกี้นี้กล่าวเวลาไว้เรียบร้อยแล้วว่าวิ่งทุก 5 นาทีนะครับ ถนนก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลอย่างดี ซึ่งตอนนี้ถนนมีการซ่อม มีการปรับแต่งพื้นผิวถนน แล้ววางเหล็กวางแผ่นไม่เรียบร้อย ทำให้เกิดอุบัติเหตุอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์”
“เรื่องฟุตบาทก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องการให้มีฟุตบาทที่เรียบ ให้พี่น้องเดินอย่างสะดวกสบาย หรือเดินไปทำงาน ซุ้มต้นไม่ไม่เอานะครับ ท่อระบายน้ำก็เป็นเหตุหนึ่งที่สังคมอยู่ด้วยกันแล้วต้องการให้เป็นสังคมที่มีความผาสุขมีสุขภาพอนามัยดี สรุปแล้วเบอร์ 13 มีนโยบายในการหาเสียงคือ วันละ 100 บาท เพื่อจะได้ประหยัดเงินของกรุงเทพมหานคร ดูแลเงินในขณะนี้ ซึ่งสถานการณ์วิกฤติ รัฐบาลก็ไม่มีเงิน ต้องใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ให้คุ้มค่า เลือกเบอร์ 13 รับรองมีประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทันทีครับ” นายพิศาล กล่าว
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ภายใต้การผลิตของบริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ได้ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และสามารถรับฟังผ่านทาง
hitz955.com