ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับในวาระ 2 และ 3 โดยมีประเด็นหลักที่มีข้อถกเถียง คือ มาตรา 10/1 ที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ได้บัญญัติเพิ่มเติม ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยให้พิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการ
ซึ่ง สนช.ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยในมุมฝ่ายที่เห็นด้วย เชื่อว่าการจัดตั้งบรรษัท จะเป็นกลไกดูแลผลประโยชน์ด้านพลังงาน ที่จะรองรับระบบแบ่งปันผลผลิตให้เกิดความคล่องตัว จากเดิมที่ใช้ระบบสัมปทานตามกฎหมายปัจจุบัน ขณะที่เหตุผลฝ่ายไม่เห็นด้วย ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน โดยเฉพาะโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ อีกทั้งมองว่าหน่วยงานรัฐไม่มีความพร้อม ดังนั้นหากเดินหน้าจะนำมาสู่ความเสียหายรุนแรงต่อเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ในระหว่างการพิจารณารายมาตรา ได้เพิ่มทางเลือกให้ นำระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ ระบบสัญญาจ้าง มาบริหารจัดการปิโตรเลียมทั้งหมด จากเดิมที่จะพิจารณาให้สัมปทานตามกฎหมายปัจจุบัน พร้อมตัดข้อความในมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และไปใส่ในข้องสังเกตแทน โดยกำหนดเงื่อนไขให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาภายใน 60 วัน และพิจารณาศึกษาภายใน 1 ปีถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมโดยเร็ว หรือ อย่างน้อยก่อนการประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ ก่อนที่ประชุมได้ลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 227 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 3 โดยใช้เวลาพิจารณานานกว่า 7 ชั่วโมง
+ อ่านเพิ่มเติม