ผ่านฉลุย สนช. เห็นชอบ พรบ.ไซเบอร์ ป้องกันการโจมตีระบบคอม
logo ข่าวอัพเดท

ผ่านฉลุย สนช. เห็นชอบ พรบ.ไซเบอร์ ป้องกันการโจมตีระบบคอม

ข่าวอัพเดท : การประชุม สนช. วันนี้ที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ด้วยมติเอกฉันท์ 13 พรบ.ไซเบอร์,สนช.,ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

5,141 ครั้ง
|
28 ก.พ. 2562
การประชุม สนช. วันนี้ที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว ด้วยมติเอกฉันท์ 133 เสียง งดออกเสียง 16 เสียง โดยมีทั้งสิ้น 80 มาตรา แก้ไขใหม่ 60 มาตรา เพิ่ม 6 มาตราและตัดออก 3 มาตรา 
 
นางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า ปัจจุบันมี ความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อันอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ดังนั้นร่างกฎหมายนี้ จะเข้ามาดูแลการดำเนินงานภารกิจให้มีประสิทธิภาพ การดูแลความปลอดภัย ถูกต้อง คล่อง และรวดเร็ว เป็นมาตรฐานสากล จึงปรับแก้หลายจุดให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้มีคณะกรรมการที่กะทัดรัด คล่องตัวในการดำเนินการ จึงปรับโครงสร้างกรรมการ ให้กระชับ ไม่ซ้ำซ้อน เพื่อสามารถดำเนินการป้องกันหรือรับมือภัยไซเบอร์ ปฏิบัติการได้อย่างทันท่วงที เพื่อรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ และมีแผนปฏิบัติการและมาตรการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างมีเอกภาพอันจะทำให้การป้องกันและรับมือภัยคุกคามดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
 
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฉบับนี้เป็นการกำหนดมาตรการ ป้องกัน และรับมือการคุกคามทางไซเบอร์ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ที่เป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางทหาร
 
โดยให้หน่วยงาน สำหนักงานคณะกรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กมช. ขึ้น มีกรรมการหนึ่งชุดที่ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ปลัดกระทรวงวการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผบ.ตร. และ เลขา สมช. 
 
โดยกรรมาธิการมีมติตัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกจากตำแหน่งรองประธานกรรมการ ตัดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และ เลขาธิการ กอ.รมน. ออกจากตำแหน่งกรรมการ โดยให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อีกไม่เกิน7คน ที่คณะรัฐมนตรีตั้งขึ้นจากผู้มีความรู้ความสามารถ
 
สำหรับ กรรมการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ นี้ มีหน้าที่ในการกำหนดแผนรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์
 
นอกจากนี้ยังให้มี คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ กกม. โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯเป็นประธาน ทำหน้าที่รับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง และมีหน้าที่กำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล พร้อมกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง และฟื้นฟูความเสียหายจากผลกระทบจากภัยคุกคาม
 
สำหรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ถูกแบ่ง ออกเป็น 3 ระดับคือ
1.ระดับไม่ร้ายแรง คือภัยคุกคามที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานมีประสิทธิภาพด้อยลง
2.ระดับร้ายแรง คือภัยที่เกิดจากการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ จนกระทบต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่นการเดินรถไฟฟ้า ระบบสัญญาณไฟจราจร หรือความปลอดภัยสารณะและ ระบบการบริหารของหน่วยงานรัฐต่างๆติดขัด
3.ระดับวิกฤต คือ เป็นโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานจนทำให้ข้อมูลถูกทำลาย การทำงานต่างๆล้มเหลว และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ
 
เมื่อเกิดภัยคุกคามทั้ง 3 ระดับ ให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ กกม. มีอำนาจสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข และตอบโต้การคุกคาม ตลอดจนแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคล สกัดคัดกรองข้อมูล ยึดและอายัดคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคาม
สำหรับโทษการคุกคามทางไซเบอร์ ดังนี้
- ห้ามเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ฝ่าฝืนจำคุก 3ปี ปรับ 60,000 บาท
- ฝ่าฝืนคำสั่ง กรรมการ กกม. ในการควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ จำคุก 3ปี ปรับ 60,000 บาท