เมื่อเช้าวันนี้ (17 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก บุตรสาวของ ศ.ดร.ระวี ภาวิไล ว่า เมื่อเวลา 00.45 น. ศ.ดร.ระวี ภาวิไล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2549 ซึ่งรักษาตัวใน รพ.สิรินธร ได้มีภาวะหัวใจหยุดเต้น แพทย์ได้ทำการปั้มหัวใจ และให้ยากระตุ้น แต่ก็ไม่ตอบสนอง และได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ โดยไม่มีการยื้อชีวิต หรือปั้มหัวใจ โดยยึดหลักตามพระพุทธศาสนา เมื่อเวลา 01.15 น. ที่ผ่านมา ซึ่งศ.ดร.ระวี ได้เดินทางมารับการรักษาที่รพ.สิรินธร เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยอาการ มีเลือดออกในช่องท้อง เสมหะมาก และสะอึก หายใจ ลำบาก ก่อนจะถึงแก่กรรมอย่างสงบ ทั้งนี้จะมีพิธีบำเพ็ญกุศล ที่วัดธาตุทอง วรวิหาร ในวันที่ 18 มีนาคม 2560 สิริรวมอายุ 92 ปี
สำหรับ ศ.ดร.ระวี ภาวิไล จบการศึกษามัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นสำเร็จการศึกษาจากวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโททางฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย และปริญญาเอกทางดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ตั้งแต่อายุ 19 ปี สอนหนังสืออยู่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2529
ผลงานทางดาราศาสตร์เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ เคยร่วมประชุมและรับเชิญทำงานวิจัยในต่างประเทศเกือบ 20 ครั้ง มีผลงานค้นคว้าวิจัยสำคัญ ดังเช่นเรื่องโครงสร้างละเอียดของโครโมสเฟียร์ ดวงอาทิตย์ เรื่องโครงสร้างอาณาจักรบริเวณกัมมันต์บนดวงอาทิตย์ เรื่องโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของบรรยากาศระดับโครโมสเฟรียร์ของดวงอาทิตย์ เรื่องบรรยากาศของดวงอาทิตย์ เป็นต้น มีความสนใจทางด้านศาสนาและปรัชญา เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม รวมทั้งงานแปลวรรณกรรมคลาสสิก และปรัชญาศาสนา
ในด้านพุทธศาสนาได้คิดค้นแบบจำลองจิต-เจตสิก ใช้ในการช่วยศึกษาและเข้าใจพระอภิธรรม เป็นแบบจำลองที่สามารถแสดงการประกอบของเจตสิกในจิตแต่ละดวงได้สมบูรณ์มากใช้ในการศึกษาเพื่อหาองค์ธรรมในพระสูตรได้ด้วยช่วยให้สามารถศึกษาพระอภิธรรมได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เคยเป็นกรรมการบริหารโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516
ปัจจุบันเป็นราชบัณฑิต, ศาสตราจารย์กิตติคุณ, ผู้อำนวยการธรรมสถานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการคัดเลือกเป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ในปี พ.ศ. 2549
+ อ่านเพิ่มเติม