จับร้านขายยาลักลอบจำหน่ายยาแก้ไอ-แก้ปวดให้เยาวชนผสมทำยาเสพติด
logo ข่าวอัพเดท

จับร้านขายยาลักลอบจำหน่ายยาแก้ไอ-แก้ปวดให้เยาวชนผสมทำยาเสพติด

ข่าวอัพเดท : กองบังคับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุมครองผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จับกุมผู้ลักลอบขายยาแก้ไอและยาแก ร้านขายยา,ลักลอบ,ยาแก้ปวด,ยาแก้ไอ,ยาเสพติด

140,926 ครั้ง
|
02 ก.พ. 2560
กองบังคับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุมครองผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จับกุมผู้ลักลอบขายยาแก้ไอและยาแก้แพ้ให้กับเยาวชน มูลค่ากว่า 1 ล้าน 5 แสนบาท
 
 
พลตำรวจตรีกรเอก เพชรไชยเวส รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วยเภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ร่วมกันแถลงพร้อมของกลาง ยาแก้ปวดทรามาดอล จำนวน 46,300 แคปซูล ยาแก้ไอและยาแก้แพ้ ชนิดน้ำ จำนวน 10,000 ขวด ยาแก้ไอ ชนิดเม็ด จำนวน 5,800 เม็ด และยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 7,600 เม็ด มูลค่ากว่า 1 ล้าน 5 แสนบาท เป็นของกลางที่ หลังนำหมายศาลมีนบุรีเข้าค้นได้จากร้านขายยา 2 แห่ง และอาคารพาณิชย์ที่เก็บยาดังกล่าวอีก 1 แห่ง ย่านหนองจอก และคลองสามวา ซึ่งเป็นขบวนการลักลอบจำหน่ายยาควบคุมพิเศษเหล่านี้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ไปใช้ในทางที่ผิด สามารถจับผู้ต้องหาได้ 3 ราย 
 
เภสัชกรประพนธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการร่วมมือกับกองบังคับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุมครองผู้บริโภค ในการตรวจสอบและจับกุมร้านขายยาที่กระทำความผิด เนื่องจากยาอันตรายเหล่านี้มีการควบคุมการจำหน่ายยาน้ำ ยาน้ำแก้ไอที่มีไดเฟนไฮดรามีน หรือ โปรเมทาซีน หรือเดกซ์โตร -เมเธอร์แฟน เป็นส่วนประกอบ ได้จำกัดปริมาณการจำหน่ายจากผู้ผลิตไปยังร้านขายยาไม่เกิน 300 ขวดต่อแห่งต่อเดือน และจำกัดการขาย ไม่ควรจ่ายยาเกินครั้งละ 3 ขวด เพื่อป้องกันการนำยาดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ ส่วนยาแก้ปวดทรามาดอล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีมาตรการเข้มงวดโดยร้านจะต้องจำหน่ายยาเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น และจำหน่ายได้ไม่เกิน 20 เม็ดหรือแคปซูลต่อรายต่อครั้ง และให้เภสัชกรประจำร้านเป็นผู้ส่งมอบยาให้แก่ผู้มารับบริการเท่านั้น ที่สำคัญห้ามจำหน่ายยา ให้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปีในทุกกรณี รวมทั้งให้ผู้รับอนุญาตและเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติร่วมกันจัดทำบัญชีซื้อยาบัญชีการขายให้เป็นจริงถูกต้อง แต่ก็ยอมรับว่ายังมีจุดอ่อนในการรั่วไหลของยา ซึ่งก็จะต้องตรวจสอบย้อนหลังว่าอาจจะเป็นยาปลอมที่มีบริษัทผลิตออกมาจำหน่ายให้กับร้านขายยาเหล่านี้ เบื้องต้นในเรื่องของกฎหมายนั้นได้มีการบังคับใช้หากพบร้านที่กระทำความผิดก็จะต้องถูกพักใบอนุญาตขายยาและปิดร้านจนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด เภสัชกรประพนธ์ กล่าวด้วยว่า การกระทำความผิดลักษณะนี้อาจะมีผลทำให้ยาเหล่านี้ถูกยกระดับเป็นยาที่อยู่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เป็นโรคปวดหัว ไอเรื้อรัง ที่จำเป็นต้องใช้ยาจะทำให้หาซื้อได้ยากขึ้น ด้านพันตำรวจเอกทรงโปรด สิริสุขะ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุมครองผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบสวนไปถึงขบวนการผลิตยาปลอม หรือโรงงานที่ผลิตยาเหล่านี้ออกมาเกินจำนวนที่ควบคุมไว้ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2557 - 2559 สามารถจับผู้กระทำผิดในการจำหน่ายยาควบคุมพิเศษได้จำนวน 272 ราย
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง