กรมควบคุมโรค เตือนเด็กเล็กระวังป่วยโรคหัด หลังพบผู้ป่วยเกินครึ่งอายุต่ำกว่า 6 ปี แนะผู้ปกครองนำบุตรหลานรับวัคซีนตามกำหนด
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัดเป็นไข้ออกผื่นที่พบได้ในทุกวัยแต่พบบ่อยในเด็กเล็กอายุ 1-6 ปี สามารถติดต่อกันได้ง่ายโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 23 พฤศจิกายน 2559 พบผู้ป่วยโรคหัด 1,548 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี 869 ราย
ซึ่งโรคหัดมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน หลังจากนั้นจะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ผื่นจะขึ้นประมาณวันที่ 4 นับตั้งแต่เริ่มมีไข้ ไข้จะลดลงเมื่อผื่นกระจายไปทั่วตัวและจางหายไปภายในเวลาประมาณ 14 วัน ผู้ป่วยโรคหัดอาจมีโรคแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง ช่องหูอักเสบ สมองอักเสบและภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะในเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหาร หรือขาดวิตามินเอ เมื่อเป็นหัดจะมีความรุนแรงมาก และถ้ามีปอดอักเสบร่วมด้วย อาจทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับการรักษาโรคหัด หากมีไข้สูงมากให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ร่วมกับการเช็ดตัว ให้ยาแก้ไอที่เป็นยาขับเสมหะได้เป็นครั้งคราว โดยไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ และให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อนที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนให้วิตามินเสริมโดยเฉพาะวิตามินเอ นอกจากนี้ การป้องกันโรคหัด ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้วัคซีนป้องกันโรคหัดในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน โดยกำหนดให้วัคซีนป้องกันโรคหัดแก่เด็กรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่สองอายุ 2 ปี 6 เดือน
+ อ่านเพิ่มเติม