นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่าสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือ ทำให้ในหลายพื้นที่อาจมีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ มีน้ำขังในภาชนะ วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ หรือมีการจัดการขยะที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยและขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพหลังน้ำลด ได้แก่ โรคไข้ฉี่หนู โรคเมลิออย และโรคไข้เลือดออก
โรคไข้ฉี่หนู โรคนี้มักปนเปื้อนมากับน้ำ หากประชาชนเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ โดยหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่ม มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด
โรคเมลิออย สามารถติดเชื้อผ่านทางเยื่อบุผิวหนังหรือบาดแผลจากการสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน การดื่มน้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด หรือการหายใจเอาละอองของเชื้อที่ปนเปื้อนในดินเข้าไป
โรคไข้เลือดออก ช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะหลังน้ำลด ซึ่งอาจมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ขอให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง สะอาด ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุง และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด
กรมควบคุมโรคให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามและประเมินสถานการณ์โรค และภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงหลังน้ำลดอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ รวมถึงเร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ เบื้องต้นการป้องกันโรค
1.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า
2.ล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ
3.รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ อาหารที่ค้างมื้อควรอุ่นให้เดือดก่อนนำมารับประทาน
4.ดูแลทำความสะอาดที่พักให้สะอาด สวมถุงมือยางและรองเท้าบู๊ทขณะเก็บกวาด
5.หากมีไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อที่น่อง หลังจากสัมผัสพื้นที่น้ำขัง ห้ามซื้อยามารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยงให้ทราบ
อ้างอิง : กรมควบคุมโรค