สำนักข่าว mirror นำเสนอบทความน่าสนใจ หลังผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการนอนหลับแห่งอเมริกา ออกมาเปิดเผยงานวิจัย แสดงถึงช่วงเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ที่ควรจะได้รับต่อคืน ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุของเด็ก ตั้งแต่ 16 ชั่วโมงสำหรับทารกและ 8 ชั่วโมงสำหรับวัยรุ่น
งานวิจัยยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบอันตรายที่เกิดจากการนอนหลับไม่เพียงพอ โดยจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ โดยการนอนหลับที่ถูกต้องควรจะเป็นดังนี้
ทารก 4-12 เดือน : 12 - 16 ชั่วโมงต่อวัน (นับรวมถึงการงีบหลับ)
เด็ก 1-2 ปี : 11 - 14 ชั่วโมงต่อวัน (นับรวมถึงการงีบหลับ)
เด็ก 3-5 ปี : 10 - 13 ชั่วโมงต่อวัน (นับรวมถึงการงีบหลับ)
เด็ก 6-12 ปี : 9 - 12 ชั่วโมงต่อวัน
วัยรุ่น 13-18 ปี : 8 - 10 ชั่วโมงต่อวัน
เด็กที่ได้นอนหลับอย่างเพียงพอจะส่งผลดีต่อด้านสุขภาพและอารมณ์ มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาการเรียนรู้ ความจำ และคุณภาพชีวิตโดยรวม ในทางกลับกันการไม่ได้นอนหลับอย่างเพียงพอจะส่งผลต่อการเจ็บป่วย โรคอ้วน โรคเบาหวาน และภาวะซึมเศร้าในเด็ก
ในส่วนของเด็กวัยรุ่นที่ไม่ค่อยได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่ม ก็พบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย ซึ่งผลการศึกษานี้ได้รับการรับรองจากสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา ยืนยันว่าการนอนหลับมีผลกระทบต่อสุขภาพและอารมณ์ของเด็กจริง
แต่คำแนะนำนี้ไม่ได้รวมไปถึงทารกที่มีอายุต่ำกว่า 4 เดือน เพราะเด็กในวัยนี้จะมีรูปแบบการนอนหลับที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ไม่มีหลักฐานที่จะเชื่อมโยงช่วงเวลาการนอนหลับที่ถูกต้องเหมาะสมได้
สำหรับปัจจัยสำคัญในปัจจุบันที่ทำให้เด็กเข้านอนล่าช้ากว่าปกติ เกิดจาการสัมผัสหน้าจอก่อนนอน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรให้เด็กพักจาการดูหน้าจออย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนจะเข้านอน เพราะแสงที่สะท้อนออกจากจอจะทำให้คนรู้สึกตื่นตัว ส่วนเคล็ดลับที่จะทำให้เด็กละความสนใจจากหน้าจอได้คือการหาสิ่งล่อใจมาเบี่ยงเบนความสนใจ และที่สำคัญไม่ควรมีโทรทัศน์หรือสมาร์ทโฟนอยู่ในห้องนอนอย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้หากเด็กนอนหลับมากเกินไปก็จะเกิดอันตรายได้เช่นเดียวกัน โดยผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าเด็กที่นอนหลับมากเกินไป จะมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน และปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องสอดส่องและเอาใจใส่ต่อช่วงเวลาการนอนหลับของบุตรหลานว่ามีความเหมาะสมแล้วหรือไม่
ภาพจาก www.mirror.co.uk