โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว
เป็นโรคที่มีอาการผิดปกติที่สำคัญทางอารมณ์ 2 แบบ คือ ภาวะแมเนีย (ช่วงรื่นเริง) และภาวะ ซึมเศร้า จึงเคยถูกเรียกว่า Manic- depressive disorder
ความเจ็บป่วยทางอารมณ์ทั้ง 2 แบบนั้นรุนแรง ไม่ใช่อารมณ์ปกติ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนรบกวนการทำงานของจิตใจและความสามารถด้านต่าง ๆ และมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของสมอง ภาวะโรคจะครอบงำบุคคลนั้น จนทำให้สูญเสียความเป็นคนเดิมไป
ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์จะมีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นบ่อยกว่าภาวะแมเนียเกือบ 3 เท่า อาการที่พบบ่อย ในภาวะอารมณ์ 2 แบบ มีดังนี้
ภาวะซึมเศร้า
1 ขาดความร่าเริงไม่สนุกสนานเหมือนเก่า
2 เบื่อหน่ายอยู่ตลอดเวลา
3 อารมณ์เศร้า หรือร้องไห้ง่ายโดยไม่มีเหตุผล
4 ความอยากอาหารและการนอนลดลง หมดเรี่ยวแรงในการทำงาน อ่อนเพลียตลอดเวลา
5 หงุดหงิด โกรธง่ายกว่าปกติ
6 มองโลกในแง่ร้ายไปหมด
7 ขาดสมาธิ ความจำลดลง
8 หมกหมุ่น คิดวนเวียนเรื่องเดิม ไม่สามารถตัดสินใจได้
9 ไม่อยากสังสรรค์ หรือออกสังคม
10 มีอาการปวดที่ไม่ทราบสาเหตุ
11 มองตนเองว่าไร้ค่า หรือเป็นภาระ ไม่รู้จะมีชีวิตต่อไปทำไม
12 มีความคิดทำร้ายตนเอง หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อยๆ
ภาวะแมเนีย (รื่นเริงผิดปกติ)
1 มีพลังมากขึ้น ครึกครื้นผิดปกติ
2 มีการแสดงออกและการคิดอ่านมากกว่าปกติ
3 มีความเข้มของอารมณ์มากขึ้น ทั้งอารมณ์แบบ สนุกสนาน ร่าเริง และก้าวร้าว โดยเฉพาะเมื่อถูกขัดใจ
4 ความเชื่อมั่นตนเองมากขึ้น เชื่อว่าตนเองเก่งสามารถควบคุมทุกสิ่ง ทุกอย่างได้ และชอบวิจารณ์ผู้อื่นมากขึ้น เอาแต่ใจ
5 มีอาการหลงผิดถึงความยิ่งใหญ่ หรือความเก่งของตนเอง
6 ความต้องการในการนอนลดลง แต่ไม่อ่อนเพลีย
7 ความคิดว่องไวเหมือนรถด่วน แสดงออกด้วยการพูดเร็วและมีเนื้อหามาก เสียงดัง
8 ขาดความจดจ่อต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ
9 ขยันทำกิจกรรมต่างๆ อย่างขาดความยั้งคิดหรือ มีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้นหรือแสดงออกแบบเกินตัว
10 มีความต้องการทางเพศสูงขึ้น
ภาวะซึมเศร้าในโรคไบโพลาร์และโรคอารมณ์เศร้า
ภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ทั้งใน โรคไบโพล่าร์ และโรคอารมณ์เศร้า (Major depressive disorder หรือ Unipolar depression) แต่ในโรคไบโพล่าร์จะรุนแรงกว่า มีการสูญเสียความสามารถในการทำงาน สังคม และครอบครัว
ภาวะซึมเศร้าในโรคไบโพลาร์ (Bipolar depression)
มักมีลักษณะอาการต่อไปนี้เด่น ทำให้แตกต่างจากที่เกิดในโรคอารมณ์เศร้า คือ
- มักเกิดอาการครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นหรือวัยเรียน และมีประวัติเป็นๆ หายๆ หลายครั้ง
- มีการเคลื่อนไหว และความคิดอ่านช้าลง
- นอนมาก และรับประทานอาหารมากขึ้น
- ขาดกำลังใจ มองว่าตนเองไร้ค่าหรือไม่มีประโยชน์
- มักมองโลกที่เคยสดใสกลายเป็นมืดมน ขาดความเพลิดเพลิน และไม่ร่าเริง
- มีอาการวิตกกังวลรุนแรงร่วมด้วย
- มีอาการหลงผิดเกิดขึ้นร่วมกับอาการทางอารมณ์
- มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น มองว่าบุคคลอื่นไม่สนใจหรือไม่เป็นมิตร
- มีประวัติการติดสารเสพติด หรือพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย
- มีประวัติโรคไบโพล่าร์หรือโรคอารมณ์เศร้าในครอบครัว
การรักษาควรประกอบด้วยการใช้ยา ควบคู่กับการดูแลด้านจิตใจ การปรับพฤติกรรม ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยและญาติได้เข้าใจ ยังไม่มียารักษาอาการซึมเศร้าตัวใดได้รับการรับรองในการรักษาจากภาวะซึมเศร้าในโรคไบโพล่าร์ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยารักษาอาการซึมเศร้า ควรลดขนาดยาลงเมื่อผู้ป่วยหายจากอาการแล้วและหยุดในที่สุด ควรระมัดระวังการเหวี่ยงกลับไปเป็นแมเนีย (รื่นเริงผิดปกติ) อย่างรวดเร็ว หรือเกิดrapid cycling
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลมนารมย์