อดีตผู้กู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรียกร้องให้ผู้ค้างชำระหนี้คืน เพื่อเป็นเงินทุนการศึกษาสำหรับรุ่นน้องในอนาคต ระบุ หากมีการจัดการบริหารเงินที่ดีในแต่ละเดือนจะสามารถชำระยอดเงินในแต่ละปีได้โดยไม่มีปัญหา
ภายหลังกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้กำหนดมาตรการจับมือกับหน่่วยงานของรัฐและเอกชนหักเงินพนักงานซึ่งเป็นผู้ค้างชำระหนี้ของ กยศ. ซึ่งแม้ว่าในปีนี้จะมีผู้ชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2557 ประมาณ 2.2 ล้านคน แต่ก็ยังมีผู้กู้ที่ค้างชำระอีกจำนวนมากที่ กยศ.ต้องพยายามหามาตรการรณรงค์มาโดยตลอด เพราะไม่อยากให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีผู้กู้จำนวนมากที่ไม่สนใจ และปล่อยปละละเลยไม่ชำระหนี้
นางสาวเรวดี พร้อมมูล เป็นอีกคนหนึ่งที่กู้ยืมเงินเรียนในช่วง 4 ปี ที่เรียนระดับมหาวิทยาลัย เป็นจำนวนเงินทั้งหมด 285,720 บาท และเมื่อจบการศึกษาในปี 2545 หลังจากนั้นอีก 2 ปี ทาง กยศ.ก็ได้มีจดหมายในการเรียกเก็บเงินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยคิดอัตราผ่อนชำระเป็นจำนวน 15 ปี และให้จ่ายทุกวันที่ 5 เดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งตั้งแต่มีจดหมายมาแจ้งการเรียกเก็บเงินก็ได้จ่ายทันที จนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลา 11 ปีแล้วที่ได้จ่ายเงินคืน กยศ.
นางสาวเรวดี กล่าวด้วยว่า หากไม่มีเงินของ กยศ.ก็ไม่สามารถทำให้เรียนจบมาได้ ดังนั้นจึงคิดไว้เสมอว่าเมื่อเรียนจบแล้วก็ต้องชำระทันที เพราะต้องการให้รุ่นน้องคนอื่นๆ ได้รับโอกาสนี้เช่นกัน
เช่นเดียวกับนางสาวปัทมา ทองไม้ ที่ในขณะนี้ชำระเงินคืน มาเป็นเวลา 9 ปี หลังจบการศึกษามา 2 ปีที่ กยศ.กำหนดไว้ โดยจำนวนเงินในแต่ละปีที่ต้องชำระคืนนั้นถือว่าเยอะอยู่เหมือนกัน แต่การที่กู้มาแล้วก็ต้องใช้ โดยในแต่ละเดือนนั้นจะเก็บเงินไวัส่วนหนึ่งเพื่อชำระคืนในแต่ละปี จึงไม่มีปัญหา
แต่ในส่วนทางด้านของผู้กู้เงิน กยศ. อีกราย ที่ยังไม่สามารถชำระเงินคืนได้ เนื่องจากหญิงสาวรายนี้ กู้เงินเรียนระดับปริญญาตรี ในปีที่ 1 และ 2 เท่านั้น จากนั้น 2 ปีต่อมา กยศ.ได้ส่งจดหมายเรียกเก็บเงินตามกำหนด แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 4 ซึ่งยังไม่มีงานทำทำให้ไม่สามารถชำระเงินคืนได้ จึงได้ทำการยื่นเรื่องขอผ่อนผันต่อศาลซึ่งกินเวลากว่า 5 ปี ศาลจึงมีคำสั่งให้ผ่อนชำระเดือนละ 1,100 บาท เป็นเวลา 7 ปี ซึ่งในขณะนี้ก็ได้ชำระมา 3 ปีแล้ว