เป็นเรื่องน่ายินดี ที่ จ.นครราชสีมา ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ คาดว่าเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก อายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมาที่จุดบริเวณขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ อายุประมาณ 1,500 - 2,500 ปี ซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์คูเมืองบูรพารวมพล ด้านตะวันออก ถ.อัษฎางค์ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา
ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 3 โครง ไม่ทราบเพศ รวมถึงพบเศษเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ เศษกระเบื้อง กระดูกสัตว์ รวมทั้งภาชนะแบบพิมายดำ ตามข้อมูลวิชาการโบราณคดีกำหนดเป็นตัวแทนของกิจกรรมหรือวัฒนธรรมโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก
นายกิตติพงษ์ สนเล็ก ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดีและนักโบราณคดีปฏิบัติการ เปิดเผยว่า โครงกระดูกทั้ง 3 ร่าง สันนิษฐานว่าอายุประมาณ 1,500 - 2,500 ปี เป็นมนุษย์ที่อาศัยอยู่ก่อนการก่อตั้งเมืองนครราชสีมา ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวน่าจะเป็นพื้นที่ฝังศพขนาดใหญ่ และเมืองนครราชสีมา มีภูมิประเทศเป็นแอ่งน้ำ และมีชุมชนตั้งอาศัยอยู่รอบบึงจำนวนมาก ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
ด้าน สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เปิดเผยต่ออีกว่า การค้นพบหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก หรือราว 2500 -1 500 ปีมาเเล้ว นับเป็นประจักษ์พยานสำคัญของการมีอยู่ของผู้คนในบริเวณเมืองนครราชสีมามาเป็นระยะเวลานานแล้วกว่าพันปี มิใช่เป็นเมืองใหม่ที่ไร้ผู้คนก่อนการสร้างเมืองในสมัยอยุธยาตอนปลายอย่างที่หลายคนเข้าใจ และคำกล่าวเหล่านี้จะมิได้ถูกกล่าวขึ้นอย่างเลื่อนลอยอีกต่อไป เพราะมีหลักฐานทางโบราณคดีช่วยเป็นพยานให้ชัดเจน
การค้นพบในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญของการศึกษาร่องรอยมนุษย์โบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา เพราะที่ผ่านมา หากเราต้องกล่าวถึงร่องรอยยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลาย ในพื้นที่เมืองนครราชสีมานั้น เราจะต้องอ้างอิง "รายงานผลการขุดค้นกำแพงเมือง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ" ที่คุณสมเดช ลีลามโนธรรม นักโบราณคดีในขณะนั้นเขียนขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2542 หรือเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบพิมาย เพียง 2 ชิ้น เท่านั้น ซึ่งหลักฐานที่ปรากฏในวันนี้ช่วยเสริมข้อสันนิษฐานเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
โดยขั้นตอนต่อไปเมื่อขุดเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการนำชิ้นส่วนตัวอย่างของโครงกระดูกไปวิเคราะห์ พร้อมนำดินในบริเวณดังกล่าวไปตรวจสอบในห้องแล็บ เพื่อตรวจว่าดินในพื้นที่ดังกล่าวได้สัมผัสแสงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อใด ทำให้สามารถย้อนเวลาได้ว่า โครงกระดูกที่พบถูกฝังตั้งแต่ช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์