ผีจริงหรือคิดไปเอง? เจาะลึกอาการ “ผีอำ” อาการทางการแพทย์ที่น่ากลัวกว่าผีหลอก
logo ข่าวอัพเดท

ผีจริงหรือคิดไปเอง? เจาะลึกอาการ “ผีอำ” อาการทางการแพทย์ที่น่ากลัวกว่าผีหลอก

ข่าวอัพเดท : เคยเป็นไหม นอนอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกอึดอัด จะขยับตัวหรือพูดก็ไม่ได้ คล้ายว่ามีคนมานั่งทับอยู่ทั้งตัว บางคนอาจได้ยินเสียงหรือภาพที่ดูคล้าย ผีอำ,Sleep Paralysis

51,662 ครั้ง
|
07 มิ.ย. 2567

เคยเป็นไหม นอนอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกอึดอัด จะขยับตัวหรือพูดก็ไม่ได้ คล้ายว่ามีคนมานั่งทับอยู่ทั้งตัว บางคนอาจได้ยินเสียงหรือภาพที่ดูคล้ายกับวิญญาณร่วมด้วย มักจะมีอาการประมาณ 5-10 นาที ก็จะสะดุ้งตื่น ตามมาด้วยอาการหวาดกลัวและความไม่เข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ต้องถามให้มากความก็รู้ได้เลยว่านี่แหละคืออาการ “ผีอำ” อาการที่หลาย ๆ คนเล่าถึงความน่ากลัวกันมาปากต่อปาก แต่ใครจะรู้ว่านี่ถือเป็นสัญญาณเตือนเล็ก ๆ ของร่างกายที่อ่อนแอลง ซึ่งบางทีอาจน่ากังวลหรือน่ากลัวกว่าผีเสียอีก

อาการผีอำเป็นอาการที่สามารถอธิบายได้ตามหลักทางการแพทย์ โดยมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Sleep Paralysis สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย มักจะมีอาการขณะกึ่งหลับกึ่งตื่น เป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกตัวแต่ขยับตัวหรือพูดไม่ได้ชั่วขณะ ซึ่งโดยทั่วไปสามารถเกิดได้ 2 ช่วง คือ

1. ช่วงใกล้หลับ (Predormital Sleep Paralysis) มักเป็นช่วงที่ร่างกายผ่อนคลาย ผู้ที่มีอาการช่วงใกล้หลับมักไม่รู้ตัว รู้แค่ว่าตัวเองขยับตัวหรือพูดไม่ได้เท่านั้น

2. ช่วงใกล้ตื่น (Postdormital Sleep Paralysis) 75% ของอาการผีอำมักเกิดในช่วงนี้ โดยมีอาการแน่นหน้าอก อึดอัด ขยับตัวไม่ได้ ซึ่งมักจบด้วยการสะดุ้งตืี่นในขณะที่ช่วงหลับฝันยังไม่สิ้นสุดลง

สาเหตุหลักของอาการผีอำมักเกิดจากปัญหาการนอนที่ผิดปกติ เช่น การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ อาการนอนไม่หลับ การนอนไม่เป็นเวลา หรืออาจมาจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียดสะสม รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือสารเสพติดบางชนิด นอกจากนี้ปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการนอน เช่น การเปลี่ยนสถานที่นอน ก็ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้เช่นกัน คนส่วนใหญ่จึงมักประสบกับอาการผีอำเมื่อต้องนอนในโรงแรมหรือในสถานที่ใหม่ ๆ นั่นเอง

แม้ว่าอาการผีอำจะไม่ได้อันตรายต่อร่างกายโดยตรง แต่ก็เป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่าร่างกายของคุณกำลังต้องการการดูแล ซึ่งปกติแล้วอาการผีอำจะค่อย ๆ หายไปเอง เพียงปรับวิธีการนอน หันมานอนตรงเวลาและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ อากาศถ่ายเทสะดวก ปราศจากแสงและเสียงรบกวน หากมีอาการติดต่อกันและไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ตรงจุดต่อไป

ที่มา : ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา , โรงพยาบาลเพชรเวช

ข่าวที่เกี่ยวข้อง