โรคเบาหวานในเด็ก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ เบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes) เป็นชนิดที่พบได้ที่สุดในเด็ก มีสาเหตุเกิดมาจากเซลล์ตับอ่อนที่เรียกว่า “บีต้าเซลล์” ถูกทำลาย ซึ่งเป็นผลมาจากทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม สามารถรักษาได้โดยการฉีดอินซูลีนเท่านั้น มักพบได้ในเด็กที่มีอายุน้อย
ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes) ในปัจจุบันสามารถตรวจพบได้ทั้งในเด็กและวัยรุ่น มักตรวจพบร่วมกับโรคอ้วน หรือภาวะโภชนาการเกิน มีวิธีการรักษาด้วยการรับประทานยา ในบางรายอาจต้องใช้การฉีดร่วมกับการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเพื่อลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ยังมีเบาหวานชนิดอื่นอีกด้วย เช่น โรคเบาหวานที่เกิดจากการรับประทายารักษาโรคต่าง ๆ ส่งผลให้มีน้ำตาลในเลือดสูง เช่น ยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างโรคเบาหวานในเด็กและผู้ใหญ่
โรคเบาหวานในเด็กมีความคล้ายคลึงกับโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ แต่ก็มีข้อแตกต่างกัน ดังนี้
1.ชนิดของโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่โรคเบาหวานที่พบได้ในเด็กจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 แต่ในผู้ใหญ่จะมีโอกาสพบชนิดที่ 2 ได้มากกว่า แต่ในปัจจุบันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ก็สามารถตรวจพบได้ในเด็กเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีอัตราการพบเพิ่มมากขึ้น หากสังเกตจากพฤติกรรมของเด็กในปัจจุบันอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนเช่นเดียวกัน
2.การดูแลรักษา เนื่องจากเด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่ยังมีการเติบโต และช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน ทั้งอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และฮอร์โมนต่าง ๆ รวมทั้งยังอยู่ในช่วงวัยเรียน มีคนรอบข้างที่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ครู และเพื่อน รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ด้านต่าง ๆ ฉะนั้น การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กจึงมีความละเอียดซับซ้อนมาก
3.ระยะเวลาในการเป็นโรคเบาหวาน หากเริ่มเป็นเบาหวานมาตั้งแต่เด็ก เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะพบภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ในอนาคตโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
อาการของโรคเบาหวานในเด็กที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้
- ปวดปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน
- มีการดื่มน้ำมากกว่าปกติ หรือเกิดอาการกระหายน้ำบ่อยครั้ง
- มีความอยากกินอาหารอยู่บ่อยๆ
- การมองเห็นผิดปกติอาจเกิดอาการตาพร่ามัว มองไม่ชัดเจนหรืออาจเกิดภาพซ้อน
- ลมหายใจมีกลิ่นประหลาดคล้ายผลไม้ที่มีรสหวาน
- รู้สึกเหนื่อยล้าและหงุดหงิดง่าย
- น้ำหนักลดลงแต่พฤติกรรมการกินเหมือนเดิม
- เกิดการติดเชื้อตามผิวหนัง หากเป็นแผลจะเกิดการอักเสบได้ง่ายแต่หายยาก โรคเบาหวานในเด็กหญิงบางรายอาจมีการติดเชื้อในช่องคลอดร่วมด้วย
วิธีการรักษาสำหรับโรคเบาวานที่เกิดขึ้นในเด็ก
หลักกการรักษาผู้ป่วยขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเบาหวาน ซึ่งวิธีการรักษาแบ่งได้ดังนี้
1.การใช้ยาในการรักษา คือ การฉีดอินซูลินสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งผู้ป่วยเด็กจำเป็นต้องฉีดอินซูลินอย่างน้อย 3 - 4 ครั้งต่อวัน และต้องมีการฉีดอินซูลินทุกวัน ไปจนตลอดชีวิต และต้องมีการตรวจระดับน้ำตาลที่ปลายนิ้วร่วมด้วย สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยากินยา แต่ในบางรายอาจจะต้องได้รับการฉีดอินซูลินร่วมด้วย
2.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดำรงชีวิต หัวใจสำคัญในการรักษาโรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิด คือการควบคุมพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิด มีวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนี้
ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ควรรับประทานอาหารตามปริมาณปกติที่ร่างกายสมควรได้รับ แต่ควรมีการจัดสัดส่วนพลังงานจากสารอาหารให้เหมาะสม โดยรับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 50 พลังงานจากไขมันร้อยละ 30 และพลังงานจากโปรตีนร้อยละ 20 ของพลังงานทั้งหมดที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน ซึ่งการเลือกรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตชนิดต้องเป็นชนิดที่ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเร็ว เช่น อาหารชนิดที่มีใยอาหารสูงข้าวหรือธัญพืชที่ไม่ขัดสี ถั่ว ฝรั่ง แอปเปิ้ล เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด หรือไขมันสูง ควรมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 สามารเล่นกีฬาได้ตามปกติ แต่ต้องปรับขนาดของอินซูลินให้ลดลงหรือเพิ่มมื้ออาหารว่างก่อนและขณะออกกำลังกายรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ต่ำกว่าเกณฑ์
สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ต้องใช้วิธีการพฤติกรรมการกินโดยใช้วิธีการควบคุมอาหารโดยมีเป้าหมายคือน้ำหนักของร่างการต้องลดลงสำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ ส่วนผู้ป่วยที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ เหมาะสมกับเพศและวัย ควรเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงรวมไปถึงเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ด และควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ วันละ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งแช่หรือนั่งนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน
ในปัจจุบันโรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ ได้ง่ายโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมหรือรักษาระดับน้ำตาลได้ อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดโรคย่อมดีกว่าการมานั่งรักษาในภายหลัง โดยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้มีวินัยด้านสุขภาพมากขึ้น เช่น หากมีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ควรลดน้ำหนักเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค การเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ ควรเลือกรับประทานอาหารอาหารตามหลักโภชนาการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัดและมีไขมันสูง มีวิธีการจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองสังเกตเห็นถึงพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในเด็ก ควรพาบุตรหลานเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน