หลังจากโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่กลับมีโรคระบาดที่ยังคงต้องระวังกันอยู่นั้นก็คือ "โรคฝีดาษลิง" ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตในช่วงนี้ จากข่าวในปัจจุบันคนไทยเป็นโรคนี้กันแล้วจำนวนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และถึงแม้ว่าจะยังระบาดอยู่ในกลุ่มของผู้ใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วเด็กเองก็สามารถติดโรคนี้ได้เช่นกัน และมีความเสี่ยงสูงมากด้วย !
“ฝีดาษลิง” คืออะไร ?
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษ ส่วนใหญ่พบในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ไม่ร้ายแรงและมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ แต่มักพบในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกตและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
“ฝีดาษลิง” อันตรายต่อเด็กอย่างไร ?
การที่เด็กเล็กเป็น “โรคฝีดาษลิง” โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ปอดอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 10%
การรับเชื้อ “ฝีดาษลิง” เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
1. การสัมผัสโดยตรงกับตุ่มแผล หรือ สารคัดหลั่งที่มีไวรัสอยู่
2. การรับเชื้อจากละอองฝอย จากการคุยกันกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย หรือ จากกิจกรรมที่อยู่ใกล้ชิดกันมากๆ เช่น การกอดกัน จูบกัน หรือ ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
3. ผ่านการสัมผัสสิ่งของ หรือ วัตถุ ที่มีการเจือปนของไวรัสที่ผู้ป่วยไปสัมผัสมา เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หรือ โทรศัพท์มือถือ
4. รับเชื้อผ่านจากแม่สู่ลูกในครรภ์ผ่านทางรก
5. รับจากสัตว์ที่ติดเชื้อ
อาการของ “ฝีดาษลิง” มีอะไรบ้าง ?
โรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 5 – 20 วันหากสัมผัสเชื้อมากจะแสดงอาการได้เร็ว แต่หากสัมผัสเชื้อไม่มากอาการแสดงจะอยู่ที่ประมาณ 3 สัปดาห์
โดยอาการเริ่มแรกที่สังเกตได้ชัดเจนคือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหลัง ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อ่อนเพลีย
หลังจากนั้นประมาณ 4 – 5 วันจะมีผื่นจำนวนมากขึ้นบริเวณแขน ขา ลำตัว ใบหน้า โดยลักษณะผื่นช่วงแรกจะเป็นผื่นแดงหรือปื้นนูนแดง จากนั้นจะเป็นตุ่มน้ำใสขนาดใหญ่ ตุ่มหนองที่มีสะเก็ดคลุมแล้วแตกได้ ซึ่งความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
วิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้นจาก “ฝีดาษลิง”
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
ที่มา
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=25415&deptcode=
https://www.bangkokhospital.com/content/questions-about-monkeypox
https://www.facebook.com/anan.jongkaewwattana?_rdc=1&_rdr
https://www.rakluke.com/family-lifestyle-all/news-update/item/monkeypox-virus.html