การตั้งครรภ์นับเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า แม่ เมื่อคุณแม่มีการตั้งครรภ์ล้วนแต่มีความประสงค์ที่ต้องการให้ระหว่างการตั้งครรภ์ตลอดไปจนถึงการคลอดจบลงอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ให้ปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกพร้อมทั้งสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ แต่บางครั้งแล้วอาจไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้เสมอ เพราะ
มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่เมื่อมีการตั้งครรภ์กลับมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นสารพัดโรค บางโรคก็รุนแรงไม่มาก ในขณะที่บางโรคก็รุนแรงมากจนอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ วันนี้ลองมาดูข้อมูลเกี่ยวกับโรคแทรกซ้อนที่พบในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้องได้ และข้อปฏิบัติที่จะช่วยดูแลแม่และทารก
โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มอาการ คือ กลุ่มที่เป็นความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์ และอีกกลุ่มหนึ่งคือตอนที่ไม่ตั้งครรภ์ความดันอยู่นเกณฑ์ปกติ แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วความดันกลับสูงขึ้นโดยกลุ่มที่สองนี้เราจะเรียกว่า ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้บ่อยมาก โดยคุณแม่จะมีอาการบวม ตรวจปัสสาวะเจอภาวะไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรงและรักษาได้ไม่ดี อาจจะเกิดการชัก รุนแรงถึงขั้นมีเส้นเลือดในสมองแตกและเสียชีวิตได้ สมัยก่อนเรียกโรคนี้ว่าครรภ์เป็นพิษ
ส่วนลูกในครรภ์ ถ้าแม่มีอาการรุนแรงมาก เช่น ชัก เด็กมีโอกาสเสียชีวิตระหว่างอยู่ในท้องได้ หรือถ้าแม่มีอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ จะมีผลกับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ ส่งผลให้เด็กอาจตัวเล็ก แต่ถ้าควบคุมอาการได้ดี ส่วนมากเด็กจะเจริญเติบโตได้ปกติ ไม่มีความพิการใด ๆ
สาเหตุนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบได้ในแม่บางกลุ่ม เช่น แม่ท้องที่อายุน้อยเกินไป หรืออายุมากเกินไป และมักเจอในท้องแรก ท้องหลังไม่ค่อยเจอ เจอได้บ่อยในครรภ์แฝด คนเป็นเบาหวาน หรือมีประวัติคนในครอบครัวที่แม่เคยโรคนี้ขณะตั้งครรภ์ จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์ หรือเกี่ยวกับอาหารการกิน หรืออาจจะเกี่ยวกับฮอร์โมนที่สร้างจากรก หรือจากตัวเด็กที่ทำให้ความดันขึ้น เพราะสังเกตว่าเมื่อมีการคลอดเสร็จแล้วส่วนใหญ่แม่ก็จะหายเป็นปกติ
การรักษา ในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องยุติการตั้งครรภ์ แต่เจอได้น้อย ส่วนมากจะรักษาได้ หมอจะมียาป้องกันการชัก ยาลดความดัน สามารถประคับประคองให้เด็กเจริญเติบโตพอ แล้วก็ผ่าตัดคลอด หรือให้ยาเร่งคลอดได้ และสาเหตุที่ควบคุมไม่ได้ส่วนมากมักเกิดจากมาหาหมอตอนที่อาการเป็นมากแล้ว เช่น คนไข้ที่ไม่เคยรู้ตัวว่าเป็น ไม่มาฝากครรภ์เลย มาฝากครรภ์ช้า หรือบางกรณีมาถึงมือหมอก็ชักมาเสียแล้ว
การป้องกัน ควรจะตั้งครรภ์ในอายุที่เหมาะสม ฝากครรภ์ทันทีและปรึกษาแพทย์เมื่อรู้ว่ามีการตั้งครรภ์ เพื่อการรักษาให้ทันท่วงที
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
เมื่อตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายตัวไปดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสาวะได้ไม่ดีเหมือนปกติ มีการคั่งค้างนาน ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
ปัจจุบันมีการรักษาโดยการนำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ เพื่อหาชนิดของเชื้อโรคและจ่ายยาฆ่าเชื้อ แต่จะต้องเป็นยาฆ่าเชื้อที่ไม่มีผลต่อลูกในครรภ์
สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่กลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้มีการขับปัสาวะได้ดี ไม่มีการคั่งค้าง เป็นการชำระล้างทำความสะอาดระบบทางเดินปัสสาวะ
ไทรอยด์เป็นพิษ
ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่สร้างสารไทรอกซิน ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายทำงานอย่างปกติ ทำให้ร่างกายอบอุ่น ทำให้กระฉับกระเฉง แต่ในบางคนต่อมนี้ผลิตสารออกมามากกว่าปกติ ทำให้มีอาการมือสั่นใจสั่น ร่างกายสูญเสียพลังงานมาก เหงื่อออกมาก หงุดหงิดง่าย ก่อนท้องอาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ แต่ว่าการตั้งครรภ์ไม่ได้กระตุ้นให้เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ แม่ที่เป็นโรคนี้แล้วรักษาไม่ดีจะทำให้ลูกเกิดปัญหาตัวเล็ก ไม่เข็งแรงได้ คนที่เป็นรุนแรงอาจทำให้แท้ง หรือบางคนแม่อาจจะช็อกเป็นอันตรายได้
การรักษา หมอจะให้ยาที่ไปกดการทำงานของไทรอกซิน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปกติ การตั้งครรภ์ก็จะเป็นดำเนินไปตามปกติ โดยต้องเป็นยาที่ไม่มีผลกับเด็กในครรภ์
เพื่อหลีกเลี่ยงจากภารวะร้ายดังกล่าว คุณแม่ควรพบแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพและรับคำแนะนำเกี่ยวกับโรคประจำตัว พฤติกรรมสุขภาพ การฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ เช่น MMR เพื่อป้องกันหัดเยอรมัน
หยุดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า และหยุดใช้ยาที่มีผลกระทบต่อทารก เช่น ยาในกลุ่มอนุพันธุ์ของกรดวิตามินเอ
หลีกเลี่ยงสารพิษและสิ่งปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น ยาฆ่าแมลง สารตะกั่ว มูลสัตว์หรือสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ
การดูแลครรภ์อย่างเหมาะสมจะช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการและสุขภาพที่แข็งแรง ช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดอัตราการแท้งและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง https://www.krungthaihospital.com/pregnancy-preparing/