สธ.ไทยย้ำชัด ! ยังไม่ยก "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่ออันตราย เหตุยังไม่เข้านิยาม แค่เฝ้าระวัง
จากการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการประกาศให้โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkey pox) เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และต่อมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประเทศไทยได้มีการยกระดับศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโรคฝีดาษลิง หรืออีโอซี (EOC) จากระดับกรมควบคุมโรคเป็นระดับกระทรวง
ล่าสุด เวลา 17.30 น. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ว่าโดยสรุปคณะกรรมการเห็นด้วยกับการดำเนินงานของ สธ.ที่มีการยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรือ EOC จากระดับกรมเป็นระดับกระทรวง และมีคำแนะนำในเรื่องของการเฝ้าระวัง และให้มีการคัดกรองให้ครอบคลุมทุกกลุ่มครบถ้วน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ทั้งนี้ ระบบสุขภาพด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยถือว่าสามารถรองรับได้สำหรับโรคฝีดาษลิงภายใต้ศักยภาพที่มีอยู่
“ส่วนกรณีโรคฝีดาษลิงที่ประกาศให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังอยู่และจะเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่นั้น เนื่องจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 นิยามกำหนดไว้ว่า โรคติดต่ออันตรายต้องมีอาการรุนแรง และแพร่ได้ง่าย รวดเร็ว ซึ่งโรคฝีดาษาวานรยังไม่เข้านิยามนี้ คณะกรรมการวิชาการจึงเห็นชอบให้คงการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังต่อไปก่อน ส่วนด้านการรักษา ได้มีการมอบหมายให้กรมการแพทย์ดำเนินการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อต่อไป โดยให้จัดทำแนวทางการรักษาให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับหากกรณีที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น” นพ.จักรรัฐกล่าว