พบเพิ่ม ฝีดาษลิงรายที่ 7 ของไทย พบประวัติเที่ยวสถานบันเทิง มีเซ็กซ์ชายต่างชาติผิวสี พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง3ราย
กรมควบคุมโรคแถลงยืนยัน ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 7 เป็นหญิงไทยอายุ 37 ปี สอบประวัติพบมีสัมพันธ์ใกล้ชิดชายต่างชาติผิวสีก่อนป่วย ตรวจสอบมีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 3 ราย ให้กักตัวสังเกตอาการ21 วัน พร้อมสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งค้นหาติดตามกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม ป้องกันการแพร่ระบาด
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่า ได้รับรายงานจากสถาบันบำราศนราดูรระบุ พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง รายที่ 7 เป็นเพศหญิง อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงมอบหมายให้ทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค กองระบาดวิทยา ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยา สถาบันบำราศนราดูรเร่งสอบสวนโรคตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคมเพื่อยืนยันการระบาดและสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค พร้อมค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมและฆ่าเชื้อป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงแนะมาตรการสำหรับการป้องกันควบคุมโรคที่เหมาะสมให้กับผู้เสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ
ทั้งนี้ จากการสอบประวัติผู้ป่วย เป็นเพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 37 ปี มีโรคประจำตัว อาศัยอยู่บ้านคนเดียวที่กรุงเทพฯ ไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะ และไม่ได้ไปประเทศที่มีการระบาด พบประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติผิวสี ก่อนมีอาการป่วย จากการสอบสวนโรคและเวชระเบียนของสถาบันบำราศนราดูรพบว่า ในระยะ 3 สัปดาห์ก่อนป่วย หญิงคนดังกล่าวไปเที่ยวย่านบันเทิงที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ วันที่ 20 สิงหาคม ผู้ป่วยเริ่มมีไข้ต่ำๆ วันที่ 21 สิงหาคม เริ่มมีตุ่มเหมือนหนองขนาดเล็กบริเวณทวารหนัก หลังจากนั้นวันที่ 22 สิงหาคม เริ่มมีตุ่มหนองลักษณะเดียวกันผุดมากขึ้นเริ่มจากนิ้วมือ แขน หลัง และลามไปที่ใบหน้ารวมถึงอวัยวะเพศ อาการเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจึงเข้ารับการรักษาในสถาบันบำราศนราดูร
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม แพทย์เก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจากเลือด ตุ่มหนอง และลำคอ ด้วยวิธีการ Real-time polymerase chain reaction (Real-time PCR) ส่งตรวจไปยังกลุ่มงานเอชไอวีขั้นสูงและเชื้ออุบัติใหม่ สถาบันบำราศ นราดูร และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลพบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสฝีดาษวานรในทุกสิ่งส่งตรวจ นอกจากนี้ ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีประวัติไปเยี่ยมญาติสูงอายุ ทำให้มีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 3 ราย จึงกำชับให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ติดตามเฝ้าระวังอาการผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงทั้ง 3 รายอย่างใกล้ชิด ซึ่งวันที่สัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้ายคือวันที่ 21 สิงหาคม และจะครบกำหนดระยะเฝ้าระวังวันที่ 11 กันยายน
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก ข้อมูลถึงวันที่ 27 สิงหาคม มีผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 48,331 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 83 ประเทศ ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 17,432 ราย สเปน 6,458 ราย บราซิล 4,472 ราย ฝรั่งเศส 3,421 ราย เยอรมนี 3,405 ราย และมีผู้เสียชีวิต 15 ราย
นพ.โอภาสกล่าวย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง ขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีไข้ ผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย และสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก หากผู้ที่มีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด หลังมีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
นพ.โอภาสยังแถลงความคืบหน้าการระบาดโรคไข้หวัดมะเขือเทศว่า หลังจากพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) ที่อินเดีย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข มอบหมายให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งจากการติดตามพบว่า ผู้ป่วยในประเทศอินเดียเป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ติดเชื้อเกือบ 100 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ แพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัส เช่น สัมผัสพื้นผิวไม่สะอาด หรือนำสิ่งของเข้าปาก จึงทำให้กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสี่ยงติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ง่ายเป็นพิเศษ ซึ่งอาการเริ่มต้นจะคล้ายไข้หวัดคือ มีไข้ ปวดเมื่อยตัว ต่อมามีผื่นขึ้น ลักษณะแดง เป็นตุ่มน้ำคล้ายมะเขือเทศ ยืนยันโรคนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการรับประทานมะเขือเทศแต่อย่างใด จากการสันนิษฐานลักษณะทางระบาดวิทยา และอาการเด็กที่ป่วยจะคล้ายโรคมือ เท้า ปาก ที่พบบ่อยได้ในเด็ก ไม่ใช่โรคติดเชื้อชนิดใหม่
“จากข้อมูลเบื้องต้นที่มี กล่าวได้ว่าสถานการณ์โรคไข้หวัดมะเขือเทศยังไม่น่ากังวล ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในประเทศไทย และโรคดังกล่าวแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด ซึ่งกระบวนการคัดกรองและรักษาในประเทศสามารถทำได้เช่นเดียวกับการรักษาโรคมือ เท้า ปากในเด็ก และปัจจุบันมีทั้งชุดตรวจคัดกรอง ยารักษาในสถานพยาบาลในประเทศทุกระดับ อย่างไรก็ตาม ช่วงฤดูฝนนี้ อากาศเย็นและชื้น เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองระมัดระวังดูแลบุตรหลานใกล้ชิด หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก และบริเวณพื้นที่ที่เด็กอยู่เป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม”นพ.โอภาสกล่าว และว่า หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงการโรคไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu)ว่า การตั้งชื่อไข้หวัดมะเขือเทศ เพราะเด็กที่ป่วยจะมีลักษณะ ผื่นแดง เป็นตุ่มน้ำ คล้ายมะเขือเทศ ลักษณะอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัดคือ มีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ต่อมามีผื่นขึ้น ผื่นที่ขึ้นจะมีลักษณะแดง เป็นตุ่มน้ำ โรคไม่รุนแรงและหายได้เอง ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต ทั้งนี้ จากการสันนิษฐานลักษณะอาการคล้าย ไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) ไข้เลือดออก มือเท้าปาก ซึ่งการตรวจวินิจฉัยสาเหตุไวรัสปัจจุบัน ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดียน่าจะรู้แล้วว่าเกิดจากไวรัสตัวไหน แต่ยังไม่มีประกาศออกมาเป็นทางการ
ศ.นพ.ยงกล่าวต่อว่า จากที่ได้ติดตาม และดูลักษณะผื่นที่จากรูปถ่าย ที่หนังสือพิมพ์ของอินเดียรายงานข่าว แทบจะบอกได้เลยว่า ลักษณะนี้คือ ผื่นที่ขึ้นเหมือนกับโรคมือเท้าปากที่พบในบ้านเรา โดยเชื้อหลักของลักษณะผื่นแบบนี้คือ Coxsackie A6 ลักษณะผื่นๆที่ขึ้นที่มือ ที่เท้า ที่ข้อศอก ข้อเข่า รอบก้น และถ้าเป็นมาก จะดูค่อนข้างรุนแรง เป็นลักษณะจำเพาะของเชื้อไวรัส CA6 ที่เราได้ติดตามมาตั้งแต่ปี 2012 เคยระบาดในไทย และปีนี้ ในไทยก็ระบาดด้วยสายพันธุ์ CA6 มีลักษณะผื่นค่อนข้างรุนแรง ดังแสดงในรูป เป็นโรคมือเท้าปากที่พิสูจน์แล้วว่าเป็น จากเชื้อไวรัส CA6 ส่วนมากเป็นในเด็ก แต่ก็เคยพบในผู้ใหญ่ เราคงต้องติดตามว่าไวรัสที่เกิดในอินเดีย เกิดจากตัวไหน จากการคาดการณ์ของตนเชื่อว่า เกิดจากเชื้อไวรัส Coxsackie ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก และไม่รุนแรง ไม่เหมือนเชื้อ enterovirus A 71 ที่อาจทำให้เกิดสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า ไทยยพบผู้ป่วยรายใหม่ 1,769 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อในประเทศ 1,769 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,769 ราย ไม่มีผู้ติดเชื้อในเรือนจำ และไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 4,646,412 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,305 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 17,554 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 764 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 383 ราย
ส่วนผู้เสียชีวิตมีเพิ่มขึ้น 27 ราย อยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 8 ราย ปริมณฑล 5 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ราย ภาคใต้ 1 ราย ภาคกลางและภาคตะวันตก 11 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่ม 608 คิดเป็น 95% และยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 20 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 32,222 ราย
สำหรับสถานการณ์กระจายวัคซีนในประเทศ ศบค.รายงานว่า พบผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม 6,539 ราย ผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 13,021 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 3 จำนวน 37,183 ราย รวมฉีดวัคซีนสะสม 142,668,189 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 57,246,953 ราย คิดเป็น 82.3% ผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 53,704,129 ราย คิดเป็น 77.2% และผู้ได้รับเข็มที่ 3 จำนวน 31,717,107 ราย คิดเป็น 45.6%
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกประจำวัน พบผู้ป่วยเพิ่ม 527,580 ราย รวม 605,429,512 ราย อาการหนัก 43,583 ราย หายป่วย 580,571,233 ราย เสียชีวิต 6,487,034 ราย ไทยอยู่อันดับที่ 29 ของโลก