ทำความรู้จักรถยนต์ไฟฟ้า ว่ามีอยู่กี่ประเภท แล้วแต่ละประเภททำงานต่างกันอย่างไร เคลียร์กันให้ชัด!
ประเทศไทยนิยามรถยนต์ไฟฟ้าออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ยังมีการปล่อยไอเสียอยู่ เรียกว่ารถไฮบริด ได้แก่ รถยนต์ไฮบริด (HEV) และรถปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ไม่มีการปล่อยไอเสียอีกต่อไปหรือยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emissions Vehicle: ZEV) ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV)
1. กลุ่มที่ยังมีการปล่อยไอเสียอยู่ (รถไฮบริด)
รถยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เป็นรถยนต์ไฟฟ้าประเภท แรก ๆ ที่ประเทศไทยนำมาใช้ แต่ก่อน ตั;รถจะใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนหลักและอาศัยมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยในการเสริมกำลัง ตอบสนอง เร่งเครื่องได้ไวขึ้น แต่ปัจจุบัน มีแบบมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนและอาศัยเครื่องยนต์มาช่วยส่งกำลังและปั่นไฟแทน โดยอาศัยการเบรกแบบผันกลับ (Regenerative Braking) ในการเก็บสำรองพลังงานไฟฟ้า ทำให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ที่สำคัญลดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลง หรือพูดง่าย ๆ ว่า ประหยัดน้ำมันขึ้น
รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) จะทำงานคล้ายกับรถไฮบริด แต่มีข้อดีมากกว่าคือสามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ มีโหมดไฟฟ้าเพียว ๆ ให้ขับเคลื่อนและยังเติมน้ำมันได้ เหมาะสำหรับคนสายกลาง ที่อยากลองเทคโนโลยีไฟฟ้า แต่ยังไม่กล้าข้ามไปเต็มตัว กลัว ๆ กล้า ๆ ก็ใช้ ปลั๊กอินไฮบริดไป ได้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า
2. กลุ่มที่ไม่มีการปล่อยไอเสียอีกต่อไป (ยานยนต์ไร้มลพิษ)
รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% อาศัยการชาร์จไฟจากสถานีชาร์จหรือตู้ชาร์จตามจุดต่างๆ ไปจนถึงชาร์จจาก Home Charger ที่บ้านจึงจะมีพลังงานขับเคลื่อนรถได้ ข้อดีคือไม่มีการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม แต่มีข้อเสียคือ บางพื้นที่อาจยังไม่มีสถานีชาร์จเพียงพอ เติมน้ำมันก็ไม่ได้ ทำให้ต้องวางแผนการเดินทางล่วงหน้า หากต้องเดินทางระยะไกล ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังกังวลอยู่ ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะไม่สามารถวิ่งไกล ๆ เป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรได้
ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน แต่อาศัยพลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงของไฮโดรเจน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยัง ไม่มีการใช้งานรถยนต์ประเภทนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ในอนาคต
ทั้งนี้ รถยนต์แต่ละประเภทมีคุณสมบัติและการทำงานแตกต่างกันไป แต่ล้วนมุ่งหวังการประหยัดพลังงาน ลดการเผาผลาญน้ำมัน อันเป็นต้นเหตุของการปล่อยไอเสียสู่ชั้นบรรยากาศ สาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น ซึ่งค่ายรถยนต์หลายค่ายให้สำคัญ และมุ่งหวังว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดให้ได้ภายในปี 2030 สรุปง่าย ๆ ก็คือ การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
ติดตาม รายการ “แบไต๋ 7HD ไอทีและยานยนต์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20-12.40 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม