ต้นทุนอาหารทะเลปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ผลจากการขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ร้านค้าเผยยอดขายปลีกลดลง ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ เร่งให้รัฐแก้ไขปัญหา
ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 เป็นต้นมา ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพิ่มราคาน้ำมันดีเซลเป็นลิตรละ 32 บาท และจะมีการปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันไดจนถึงลิตรละ 35 บาท ก็ส่งผลกระทบกับหลายสาขาอาชีพ เพราะน้ำมันถือเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต ไม่ต่างจากร้านขายอาหารทะเลสดในตลาดสดเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ก็ได้รับผลกระทบเพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น
เนื่องจากอาหารทะเลบางชนิดต้องขับรถยนต์ไปรับเอง ถึง จ.สมุทรปราการ จากเดิมที่เคยเติมน้ำมันไปกลับประมาณ 2,000 บาท แต่หลังจากน้ำมันปรับขึ้นราคาต้องเติมเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 กว่าบาท อีกทั้งผลพวงของราคาน้ำมันที่ลอยตัว ก็ทำให้ราคาส่งอาหารทะเลบางชนิดเริ่มปรับขึ้นแล้วเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10 บาท ทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่รับมาขายต่อมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ยอดขายปลีกกลับลดน้อยลงจากเดิมกว่าเท่าตัว เนื่องจากประชาชนไม่มีกำลังซื้อ และต้องเซฟค่าใช้จ่ายในช่วงที่ข้าวของราคาแพงด้วย
นายเฉียบ ชุมตรีนอก พ่อค้าร้านขายอาหารทะเลสดรายหนึ่ง บอกว่า หลังจากน้ำมันปรับขึ้นราคาก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะต้องแบะรับภาระค่าน้ำมันที่ขับรถไปรับอาหารทะเลมาขายเพิ่มขึ้น อีกทั้งขณะนี้ราคาส่งอาหารทะเลบางอย่างก็เริ่มขยับราคาขึ้นแล้ว โดยเฉพาะปลาหมึกสดได้ปรับขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10 บาทแล้ว แต่ราคาขายปลีกยังเท่าเดิม
แต่หากอาหารทะเลชนิดอื่นทยอยปรับขึ้นอีก ก็จำเป็นต้องปรับราคาขายปลีกตามกลไกตลาดเช่นกันหลังจากที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้นแต่ยอดขายกลับลดลงกว่าเท่าตัวนั้น ก็จำเป็นต้องลดจำนวนการรับอาหารทะเลมาขายลงตามสถานการณ์
จากผลกระทบดังกล่าว ก็อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาราคาน้ำมันให้ถูกลงกว่านี้ เพราะน้ำหากราคาน้ำมันแพงของทุกอย่างก็จะแพงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ประชาชนทุกอาชีพเดือดร้อน